xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ จัดวิสาขบูชายิ่งใหญ่
ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ จัดวิสาขบูชายิ่งใหญ่

ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก วันที่ 11-17 พฤษภาคม 2557 ระหว่างเวลา 09.00 - 22.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหลักพุทธธรรม ซึ่งเน้นที่หลักไตรสิกขา คือ การรักษาศีล การปฏิบัติสมาธิ และการพัฒนาปัญญา มาใช้เป็นแนวทางการสร้างสันติสุขให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมกว่า 45 กิจกรรม อาทิ ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ และเจริญพระพุทธมนต์ สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ 108 รูป กิจกรรมสวดลักขี 8 ล้านจบ นำโดยพระธรรมมงคลญาณ(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร) การอภิปรายทางวิชาการพระพุทธศาสนา เดิน-วิ่ง วิสาขบูชาโลก ประกวดเรียงความและภาพวาดในหัวข้อ “ศีล” ฟังธรรมเทศนาจากพระวิปัสสนาจารย์ การทำสมาธิสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เวทีสะท้อนธรรม ธรรมบันเทิง พิธีเจริญพระพุทธมนต์เจริญจิตภาวนาถวายพระราชกุศล การไหว้พระเก้าวัด ลอยประทีปสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 9 ประเทศอาเซียน การเวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ ฯลฯ

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จทรงเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ในวันที่ 11 พฤษภาคม

กรมศิลป์โชว์ต้นแบบถ้ำบรรจุ พระอัฐิ “สมเด็จพระสังฆราช”

นายนิยม กลิ่นบุบผา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรม (ช่างสิบหมู่) สำนักช่างสิบหมู่ กล่าวว่า สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดทำต้นแบบถ้ำบรรจุพระอัฐิ สมเด็จพระสังฆราช เสร็จเรียบร้อยแล้ว มีความสูง 10 นิ้ว ซึ่งจะมีการจัดทำรวมทั้งสิ้น 5 องค์ ประกอบด้วย ถ้ำงาช้าง 1 องค์ และถ้ำไม้ 4 องค์ ซึ่งลักษณะสำคัญของถ้ำงาช้าง จะเป็นทรงโกศ ยอดฝาแกะสลักเป็นรูปดอกบัว ทั้งนี้ ถ้ำงาช้างองค์ดังกล่าว จะเป็นองค์สำคัญที่จะบรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์ทรงระฆัง ประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร

สำหรับการจัดทำถ้ำบรรจุพระอัฐิ ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่จะต้องมีการจัดทำขึ้น เพื่อบรรจุพระอัฐิบุคคลชั้นสูง โดยเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ หรือสมเด็จพระสังฆราช ในการถวายพระเกียรติยศสูงสุด

สธ. เปิดตัวกล่องยาแผนไทยประจำบ้าน รักษาทุกโรคพื้นฐาน

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวโครงการจัดทำชุดกล่องยาสมุนไพรเพื่อการดูแลสุขภาพในครัวเรือน ว่า สมุนไพรไทยถือเป็นอีกทางเลือกที่จะดูแลประชาชนยามเจ็บป่วยได้ ปัจจุบันก็มีการพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงมีการพัฒนาศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านความปลอดภัย

ดังนั้น เพื่อเป็นช่องทางการเข้าถึงยาสมุนไพร รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯจึงได้มีการจัดทำยาแผนไทยประจำบ้าน ประกอบด้วย 10 ตัวยาที่สามารถรักษาได้ครอบคลุมทุกโรคพื้นฐาน ได้แก่ 1. ยาหอม แก้ลมวิงเวียน 2. ขมิ้นชันแคปซูล แก้แผลในกระเพาะอาหาร จุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ 3. ฟ้าทะลายโจรแคปซูล บรรเทาอาการหวัด ท้องเสีย 4. ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย 5. ยาจันทลีลา แก้ไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู 6. ยาธรณีสันฑฆาต แก้ท้องผูก ยาถ่าย 7. น้ำมันเหลือง แก้ปวดเมื่อย 8. คาลาไมน์พญายอ แก้ผื่นแพ้แมลงกัดต่อย 9. โลชั่นกันยุงตะไคร้หอม ทากันยุง 10. ยาเปลือกมังคุด ฆ่าเชื้อแผลสด แผลเปื่อย

นพ.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้จัดทำชุดยาแผนไทยประจำบ้านทั้งหมด 1 หมื่นชุด เพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน เพื่อใช้เป็นแบบอย่างในการเผยแพร่และให้ความรู้ประชาชนได้ซื้อเก็บไว้เป็นทางเลือก โดยหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปในราคาประมาณ 200 บาท

สวธ. มีแนวคิดจัดสงกรานต์อาเซียน ปี 58

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ทำการประเมินและติดตามการจัดงานสงกรานต์เมษาผ้าขาวม้ารวมไทย อีสานโฮแซว ปี 2557 ที่สยามสแควร์ พบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประชาชนโดยเฉพาะวัยรุ่นมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ไม่มีการแต่งกายไม่สุภาพที่ทำลายประเพณีที่ดี ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ สามารถรณรงค์ให้เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ร่วมงานชาวต่างชาติได้เห็นคุณค่าของผ้าขาวม้า ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ของคนไทย

ทั้งนี้ได้มีแนวคิดจัดงานสงกรานต์ในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงให้หน่วยงานในสังกัดรวบรวมข้อมูลการจัดงานสงกรานต์ตามแบบฉบับของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว เพื่อนำมาใช้จัดงานสงกรานต์ในรูปแบบสงกรานต์อาเซียน โดยมีจุดศูนย์กลางที่ประเทศไทย

ขณะเดียวกันจะเชิญคณะทูตานุทูต และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ มาร่วมหารือจัดงานสงกรานต์ร่วมกัน เพื่อแสดงให้เห็นประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลายในการเปิดประเทศอาเซียนด้วย

ศูนย์คุณธรรมห่วงคนรุ่นใหม่ไม่ขยัน ไม่อดทน เร่งจัดกิจกรรมสร้างคุณธรรม

นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ศูนย์คุณธรรมได้จัดกิจกรรมสร้างคุณธรรม ภายใต้แนวคิด “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจไม่ว้าวุ่น” รับการปรับเวลาการปิดภาคเรียนของนักเรียนระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งถือเป็นการปิดภาคเรียนครั้งแรกที่ยาวนานกว่า 5 เดือนของนักเรียนที่เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นปีแรก จากปกติที่จะต้องเปิดภาคเรียนเดือนมิถุนายน เลื่อนเป็นเดือนสิงหาคม เพื่อให้การเปิดภาคเรียนของประเทศไทยพร้อมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ศูนย์คุณธรรมได้จัดกิจกรรมนำร่องให้นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วม แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม กิจกรรมสร้างรายได้อย่างสุจริต และกิจกรรมการใฝ่หาความรู้ เตรียมพร้อมก่อนการเปิดประชาคมอาเซียน

ทั้งนี้ จากการประเมินภาพรวมด้านคุณธรรมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไทยในยุคปัจจุบันของศูนย์คุณธรรม พบว่า ต้นแบบคุณธรรมที่ต้องเร่งปลูกฝังให้กับคนรุ่นใหม่มี 6 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีสติสัมปชัญญะ ขยันหมั่นเพียร มีวินัย และอดทน โดยเฉพาะเรื่องของความอดทน และขยัน กลุ่มนักเรียนได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 70 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 อยู่ในอันดับท้ายสุด เมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ได้คะแนน 80 คะแนนขึ้นไป ซึ่งเป็นผลจากสภาพสังคม และวัฒนธรรมในปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีมากเกินความจำเป็น อาจส่งผลให้วัยรุ่นละเลยการทำหน้าที่ของตนเองได้

กรมการแพทย์นำร่องเปิด “หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต” ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิด “หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต” ที่โรงพยาบาลสงฆ์ ว่า กรมการแพทย์ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหารูปแบบการให้บริการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และมีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลนำร่อง 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี เพื่อหารูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เหมาะสมกับบริบทของการดูแลของโรงพยาบาลตติยภูมิหรือสูงกว่า

พร้อมทั้งรวบรวมทบทวนองค์ความรู้และสังเคราะห์รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ติดตามประเมินผลความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ เพื่อนำไปปรับปรุงและจัดทำเป็นคู่มือขยายผลไปยังโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดของกรมการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีมาตรฐานเดียวกันอย่างครอบคลุม

นายแพทย์สมนึก อร่ามเธียรธำรง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า พระภิกษุอาพาธ ร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรัง รวมทั้งเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิตจะช่วยให้การดูแลรักษาพระภิกษุที่อาพาธมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กิจกรรมการดูแลรักษาทางร่างกาย เช่น การบรรเทาปวดโดยการใช้ยา เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทรมาน การดูแลการพักผ่อน นอกจากนี้ ยังมีบริการนวดเพื่อผ่อนคลาย การแช่มือและเท้าด้วยสมุนไพร การดูแลรักษาทางจิตใจ เช่น การเปิดเทปธรรมะ มุมอ่านหนังสือธรรม การทำวัตรเช้า-เย็น การสวดมนต์ทุกวันพระร่วมกันทั้งผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ การจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น

ส่วนดูแลรักษาทางด้านจิตวิญญาณ จะมีพยาบาลผู้จัดการผู้ป่วยแต่ละรายเป็นผู้ประเมินด้านความเชื่อ ค้นหาสิ่งค้างคาใจที่ผู้ป่วยต้องการทำในวาระสุดท้าย เช่น อยากพบบุคคลใดเพื่อขออโหสิกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ และกิจกรรมทางด้านสังคม โดยให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมกับญาติและครอบครัว เพื่อให้กำลังใจระหว่างกัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ดูแลอย่างเป็นขั้นตอน เสริมสร้างคุณภาพทางร่างกายให้แข็งแรง และมีความสุขในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย กองบรรณาธิการ)
กรมศิลป์โชว์ต้นแบบถ้ำบรรจุ พระอัฐิ “สมเด็จพระสังฆราช”
สธ. เปิดตัวกล่องยาแผนไทยประจำบ้าน รักษาทุกโรคพื้นฐาน
สธ. เปิดตัวกล่องยาแผนไทยประจำบ้าน รักษาทุกโรคพื้นฐาน
สวธ. มีแนวคิดจัดสงกรานต์อาเซียน ปี 58
กรมการแพทย์นำร่องเปิด “หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต” ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น