xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : เรื่องที่ไม่ควรอดทน ปัดเป่ามันไปให้พ้นๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ชีวิตจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแล้ว หนำซ้ำบางทียังต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่น่าอึดอัดรำคาญใจ ขณะที่บางอย่างเลี่ยงได้ แต่บางอย่างก็ยากเหลือเกินที่จะเดินหลีกหนี นั่นเพราะว่า ‘ภาระหน้าที่’ หรือ ‘พันธะ’ นั่นเองที่มันค้ำคอ แล้วก็กระซิบบอกว่าให้เรา ‘อดทน’

ความอดทน ภาษาพระเรียกว่า “ขันติ” เป็นหนึ่งในบารมีสิบทัศที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ แต่กระนั้นก็ต้องรู้จักใช้ให้ถูกที่ถูกคน ไม่ใช่ว่าเรื่องอะไรก็ก้มหน้าก้มตาแบกรับเรื่อยไป โดยเฉพาะสิ่งชั่วร้าย สิ่งที่ไม่เป็นมงคล อย่างนี้ไม่ควรอดทน แต่ควรหลีกหนีออกมาให้ห่าง ภาวะแบบนี้หากใครหลงติดอยู่ในวังวน อย่างนี้ไม่เรียกว่า “ความอดทน” แต่เรียกว่า “ความหลง” หมกหมุ่น จมจ่อม หรือยึดติด เช่น

หมกหมุ่นอยู่กับเรื่องไร้สาระ ติดอยู่กับเพื่อนเสเพล จมอยู่กับความเกลียด โกรธ ระทมอยู่กับอดีตที่เคยทุกข์ใจซึ่งมันก็ผ่านไปแล้ว ความรู้สึกเหล่านี้แหละที่ไม่ควรอดทนเสียเวลากับมัน ที่จริงนั้นมันคือ ‘กับดักชีวิต’ เป็นหลุมพรางที่คอยดักไว้บั่นทอนแรงใจ ตัดกำลังไม่ให้เราเข้าถึงเป้าหมาย ประเด็นก็คือ เราเพียงต้องการ ‘อุบายวิธี’ หรือคำแนะนำดีๆจากใครสักคน ซึ่งใช้ได้ผลจริงกับชีวิตเรา

และเพื่อความชัดเจน ลองนึกภาพขณะที่เรากำลังรื่นรมย์ชมวิวอยู่นอกบ้านยามเย็นที่ดวงอาทิตย์ใกล้ลับทิวไม้ นกกาเริ่มโผบินกลับรัง และทันทีที่แสงสีส้มลับขอบฟ้าไป เจ้ายุงตัวร้ายมันก็บินเข้ามาไต่ตอมกัดกินเลือดเรา แรกๆก็คิดในใจว่า “ช่างมันเถอะ แค่ตัวเดียว เรื่องกระจ้อย เคยบริจาคเลือดมามากกว่านี้” แล้วเราก็ชมวิวต่อไปอย่างไม่แยแส

จากนั้นมันก็มาอีกตัว และอีกตัว ต่อมาก็เป็นฝูง คราวนี้เราคงต้องหยุดดื่มด่ำกับวิวทิวทัศน์ ยอมจำนนยกธงขาวเข้าบ้านไป เพราะเราไม่จำเป็นต้องนั่งอดทนแบกสังขารบริจาคเลือดให้ยุง

เฉกเช่นเดียวกับผู้คนสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ที่รังแต่จะนำเรื่องน่ารำคาญ พาลหงุดหงิดกวนใจมาให้เสมอ หากเป็นกรณีของยุง ถ้ารำคาญมากทนไม่ไหว เราก็หนีเข้าบ้านปิดประตูมุ้งลวดกันยุงได้ก็จบ แต่ทว่าเรื่องน่ารำคาญทั้งหลายในชีวิตคน มันไม่ง่ายอย่างนั้น ไม่มียากันยุง หรือสเปรย์ฉีดยุง ทำให้เราต้องทนอยู่กับเรื่องน่ารำคาญต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาบั่นทอนกำลังใจวันแล้ววันเล่า

ลองนับดูซิว่า ยุงตัวร้ายที่เข้ามายุ่มย่ามในชีวิตของเรา มีกี่ตัว เรากำลังถูกมันกัดไหม ขณะที่คนส่วนใหญ่ถูกสอนให้อดทน แต่ความอดทนของคนก็มีขีดจำกัด หากหมดความอดทน เผลอเอามือตบมันเละตายคามือไป โทษฐานที่ซ่านักอยากแส่มากัดเรา ก็จะกลายเป็นบาปติดตัวไปอีก หรือจะให้โง่ทนต่อไปอย่างนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะทำให้เรามีความสุขได้นัก

ฉะนั้น ทางเดียวก็คือ ‘ปัดเป่ามันออกไป’

การปัดเป่าออกไปอย่างนี้ หากเป็นทางพุทธศาสนา นั่นหมายถึง ให้เรารู้จักสละ สลัดความรู้สึกเหล่านี้ออกไปจากใจ แต่ส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นกับคำว่า “ปลง” หรือ “ปล่อยวาง” คนฉลาดในอารมณ์ต้องรู้จัก ‘สละ...สลัด’ ความเกลียดโกรธออกไปจากใจ อย่าแบก อย่ายึดติด หรือปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับอารมณ์เหล่านี้

หัดรู้จักแผ่เมตตา ให้อภัย รู้จัก ‘วางให้ลง ปลงให้เป็น’ เพราะมันจะมีประโยชน์อะไร หากเราจะเก็บงำความหงุดหงิด ขึงเครียด เกลียด โกรธ รำคาญใจ เอาไว้ลำพัง เหมือนกับนิทานเรื่องนี้...

เช้าของวันที่อากาศแจ่มใส ภายในห้องเรียนประถมแห่งหนึ่ง คุณครูต้องการทดสอบทฤษฎีอะไรบางอย่าง จึงออกอุบายให้นักเรียนเล่นเกม กติกามีอยู่ว่า เด็กทุกคนต้องนำถุงใส่มะเขือเทศมาโรงเรียน พร้อมกับเขียนชื่อคนที่ตัวเองเกลียดลงไปในถุง โดยจำนวนมะเขือเทศต้องเท่ากับจำนวนคนที่เกลียด

วันรุ่งขึ้นเด็กๆมาถึงโรงเรียนพร้อมด้วยถุงใส่มะเขือเทศที่เขียนชื่อเพื่อน คนข้างบ้านที่เกลียดสุดๆใส่ลงไป บางคนมีสองผล บางคนมีมากกว่าห้าผล ขณะที่บางคนใส่มาซะเต็มถุงเลย คุณครูบอกให้นักเรียนทุกคนถือถุงมะเขือเทศไปด้วยทุกที่ ไม่ว่าพวกเธอจะไปไหน แม้แต่ในห้องน้ำก็ห้ามว่างเว้น ทำอย่างนี้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

สามวันผ่านไปเด็กๆเริ่มเอามือป้องจมูก เพราะทนกลิ่นเหม็นที่โชยออกจากถุงมะเขือเทศไม่ไหว โดยเฉพาะเด็กที่มีมะเขือเทศเต็มถุงบ่นอุบเลยทีเดียว เพราะเหม็นเน่ามากกว่าเพื่อน

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป เด็กๆค่อยรู้สึกโล่งอกผ่อนคลายหายใจได้สะดวก เมื่อครูบอกว่าเกมมันจบแล้ว คุณครูถามว่า “นักเรียนรู้สึกอย่างไร ขณะที่ถือถุงมะเขือเทศเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์?”

เด็กๆต่างบ่นกันระงม พลางระบายถึงความอัดอั้นที่พวกเขาต้องหิ้วถุงมะเขือเทศเน่า ซึ่งทั้งเกะกะ หนัก และเหม็นติดตัวอยู่ตลอดเวลา ครูได้ฟังดังนั้นก็กระหยิ่มอยู่ในใจ แล้วจึงไขปริศนาที่ซ่อนอยู่ในเกมว่า

“เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกเกลียดใคร เราจะรู้สึกเหมือนใจเปื้อนเปรอะไปด้วยสิ่งสกปรกติดตัวเราไปทุกที่ นี่ขนาดเวลาแค่หนึ่งสัปดาห์ ยังทนต่อกลิ่นมะเขือเทศเน่านี้ไม่ได้ ลองคิดถึงความเกลียดที่ติดอยู่ในใจเราตลอดชีวิตดูซิ มันจะเน่าเหม็นติดอยู่ในใจเราขนาดไหน”

ครูได้สรุปข้อคิดเป็นคติเตือนใจให้กับเด็กๆ ตอนท้ายว่า “ทิ้งความเกลียดออกไปจากใจ เพื่อเราจะได้ไม่มีความโกรธ หรือมีอคติติดตัวไปตลอดชีวิต การยกโทษให้อภัยคนอื่น คือวิธีที่ดีที่สุดในการรักคนอื่น แม้ว่าเขาจะไม่ชอบเราก็ตาม”

“ผมไม่เข้าใจครับครู”
นักเรียนคนหนึ่งดูท่าจะฉลาดกว่าเพื่อนยกมือเอ่ย “ก็ในเมื่อธรรมชาติสร้างให้มนุษย์มีอิสระในการเลือกเป็นนักสะสมได้ทั้งของดีและไม่ดี แต่ทำไมมนุษย์มักจะสะสมแต่ของไม่ดีเสียมากกว่า รู้ทั้งรู้ว่าเหม็น แต่แทนที่จะสะสมความสุข กลับสะสมเอาแต่ความทุกข์ทับถมเป็นขยะกองใหญ่สุมไว้ในใจตัวเอง เหมือนหิ้วถุงมะเขือเทศเน่า คือความเกลียดโกรธติดตัวไปตลอดนั่นแหละครับ”

ลองโยงคำพูดของเด็กคนนี้มาพิจารณากับชีวิตเราดู ขณะที่เป้าหมายชีวิตแท้จริงของมนุษย์ทุกคน ล้วนต้องการความสุข แต่คนส่วนมากกลับไปสะสมเอาแต่สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความสุข เหมือนเด็กนักเรียนหิ้วถุงมะเขือเทศเน่าไม่มีผิด

ในอดีตครั้งพุทธกาล มีเทวดาองค์หนึ่งเกิดความสงสัย จึงเข้ามาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “บุคคลฆ่าอะไรเสียได้จึงอยู่เป็นสุข?”

พระพุทธองค์ทรงตอบว่า “บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้ ย่อมอยู่เป็นสุข”

อนึ่ง ใครฆ่าความโกรธได้ ผู้นั้นย่อมไม่ธรรมดา ในทางพระยกให้เป็น ‘อริยะ’ แต่ในระดับปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ไม่ต้องถึงกับฆ่าหรอก เอาแค่ ‘ปล่อยให้ลง ปลงให้เป็น’ ก็เย็นใจแล้ว สำหรับความสุขที่ควรดื่มด่ำในชาติปัจจุบัน จำไว้ว่า

อย่าปล่อยให้ยุงกัดเราอยู่ฝ่ายเดียว
และก็ทิ้งถุงมะเขือเทศเน่าออกไปซะ!!
เราสามารถปัดเป่าความทุกข์โศก เรื่องร้ายในอดีตที่กัดกร่อนหัวใจ ด้วยการให้อภัย จากจิตใจที่ปล่อยวาง


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย ทาสโพธิญาณ)

กำลังโหลดความคิดเห็น