“สงกรานต์” เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า เคลื่อนย้าย ในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ คือ พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศีใดราศีหนึ่ง ก็เรียกว่าสงกรานต์
จักรราศี คือ รูปวงกลมในท้องฟ้า ซึ่งสมมติว่าเป็นทางที่พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวพระเคราะห์โคจรเวียนผ่านไป “โคจร” แปลว่า การเที่ยวไป หรือทางที่เที่ยวไปของพระอาทิตย์
จักรราศีนั้น แบ่งตามขวางออกเป็น ๑๒ ส่วนเท่ากัน เรียกว่า ๑๒ ราศี แต่ละราศีมีกลุ่มดาวอยู่ในนั้นเป็นเฉพาะแต่ละราศี (“ราศี” แปลว่า กอง หรือหมู่ ในที่นี้หมายถึง หมู่ดาว หรือกลุ่มดาว)
กลุ่มดาวในราศีหนึ่งๆ มีหลายดวง เรียงรายกัน คนมองเห็นเป็นรูปต่างๆ และสมมติเรียกชื่อกลุ่มดาวนั้นๆ ไปตามรูปที่มองเห็น เช่น เป็นกลุ่มดาวแพะ (ราศีเมษ) กลุ่มดาววัว (ราศีพฤษภ) เป็นต้น
เราเห็นว่าพระอาทิตย์โคจรเข้าไปในราศีใด จนกว่าจะผ่านพ้นราศีนั้นไปสู่ราศีอื่น ก็เป็นเวลาเดือนหนึ่ง เมื่อผ่านไปครบ ๑๒ ราศี ก็นับโดยประมาณว่าเป็นปีหนึ่ง
ราศีนั้น แบ่งตามมาตราวัดเป็นราศีละ ๓๐ องศา รวมทุกจักรราศีเป็น ๓๖๐ องศา แต่ดาวต่างๆในกลุ่มของราศีทั้งหลาย มีคาบเกี่ยวหรือเหลื่อมล้ำกันบ้าง การแบ่งเดือนจึงมีวันและเวลาไม่เท่ากัน
ชื่อเดือนต่างๆ เราก็ตั้งไปตามชื่อสมมติของกลุ่มดาวแต่ละราศี โดยเอาคำว่า “อายน” หรือ “อาคม” ต่อท้ายเข้าไป อายนและอาคม แปลว่า “มาถึง” เหมือนกันทั้งสองคำ แต่เราแยกใช้ให้ต่างกัน เพื่อแยกเป็นเดือนที่มี ๓๐ วัน (ต่อด้วยอายน) และเดือนที่มี ๓๑ วัน (ต่อด้วยอาคม) เป็นที่สังเกตได้ง่าย
ราศี หรือกลุ่มดาว ๑๒ นั้น คือ
เมษ = กลุ่มดาวแพะ
พฤษภ = กลุ่มดาววัว
มิถุน = กลุ่มดาวรูปคนคู่
กรกฎ = กลุ่มดาวปู
สิงห = กลุ่มดาวสิงห์
กันย = กลุ่มดาวรูปหญิงสาว
ตุล = กลุ่มดาวคันชั่ง
พฤศจิก = กลุ่มดาวแมงป่อง
ธนู = กลุ่มดาวธนู
มกร = กลุ่มดาวมังกร
กุมภ = กลุ่มดาวหม้อ
มีน = กลุ่มดาวปลา
เอา อายน หรือ อาคม ต่อเข้าไป เป็น เมษายน (พระอาทิตย์มาถึงราศีดาวแพะ) มกราคม (พระอาทิตย์มาถึงราศีดาวมังกร) ดังนี้เป็นต้น
วันและเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีหนึ่ง และยกไปสู่อีกราศีหนึ่ง ท่านเรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่ในวันและเวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ คือในเดือนเมษายน เขาเรียกเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์” เพราะเป็นวันย้ายปี คือ ย้ายจากปีเก่า ยกขึ้นสู่ปีใหม่ด้วย แต่บัดนี้ เมื่อพูดถึงสงกรานต์ ก็หมายถึงมหาสงกรานต์นั่นเอง สงกรานต์เดือน ไม่มีพูดถึงกัน
การที่ถือเอาวันมหาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ คือตั้งต้นปีในวันที่ ๑๓ เมษายนนั้น เป็นเรื่องมาจากอินเดียภาคเหนือ ซึ่งอยู่เหนือเลยเขตร้อนขึ้นไป มีฤดูกาลไม่เหมือนกับของเรา ที่นั่น ต่อจากฤดูหนาว เขามีฤดูวสันต์ แปลว่าฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ธรรมชาติและผู้คนสดชื่น แจ่มใส ร่าเริง เบิกบาน ด้วยได้ผ่านพ้นฤดูหนาวที่แสนจะยากเข็ญทรมาน และเงียบหงอยเหี่ยวแห้ง มาสู่ฤดูกาลที่อุ่นสบาย ต้นไม้ประดังกันผลิดอกสวยงาม แตกใบใหม่เขียวชอุ่ม ธรรมชาติก็สดชื่น ผู้คนก็ร่าเริงยินดีเหมือนได้ฟื้นคืนชีวิตใหม่ จึงถือเอาต้นฤดูวสันต์เป็นวันขึ้นปีใหม่
ในประเทศของเรา ถึงจะไม่มีฤดูวสันต์ก็ตาม แต่เทศกาลนี้ก็เหมาะเข้ากับความเป็นอยู่ของเราด้วย เพราะเป็นระยะเสร็จสิ้นฤดูทำงาน เป็นเวลาเหมาะสำหรับพักผ่อนสนุกสนานร่าเริง
• สงกรานต์ - ก้าวผ่านร้าย ย้ายสู่ดี
ในทางดาราศาสตร์โบราณและโหราศาสตร์ สงกรานต์ หมายถึง การที่ดวงอาทิตย์โคจรย้ายราศี คือ ออกจากกลุ่มดาวหนึ่ง เข้าสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่ง
การเคลื่อนย้ายก้าวไปอย่างนี้ หมายถึงการผ่านไปของกาลเวลา สงกรานต์มาถึงครั้งหนึ่ง ก็หมายถึงเวลาผ่านไปปีหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านล่วงไป ก็หมายถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งทั้งหลายด้วย เริ่มแต่ชีวิตและวัยของมนุษย์ ส่วนที่ผ่านไปแล้วเพิ่มขึ้น และส่วนที่เหลือน้อยลง
ภาวะเช่นนี้ มองจากทางธรรม ย่อมเป็นเครื่องเตือนสติให้ได้นึกได้คิด ทบทวนความเป็นไปข้างหลัง และคิดตระเตรียมสิ่งที่หวังข้างหน้า สิ่งใดผิดพลาด ก็เป็นโอกาสที่จะละเลิกเสีย สิ่งใดดีงาม เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้า ก็ควรจะไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำให้จริงจังต่อไป
สงกรานต์ แปลว่า ก้าวไปดี หรือก้าวไปอย่างดี ก็ได้ ถ้าแปลอย่างนี้ ก็เป็นเครื่องสนับสนุนความหมายในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยให้คติว่า สิ่งใดเป็นความผิดพลาดเสียหาย นอกจากละเลิกแล้ว ก็ให้ลืมเสียได้ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็ให้เป็นอันผ่านพ้นไป ต่อไปนี้มาก้าวไปสู่ที่ใหม่ ที่สดใสดีงาม
ถ้าแปลอีกอย่างหนึ่ง สงกรานต์ก็หมายถึงการก้าวไปด้วยกัน หรือพร้อมกันก้าวไป ตามความหมายอย่างนี้ เล็งถึงความสามัคคี หรือการกระทำของหมู่ชน สงกรานต์เป็นเวลาสำหรับทุกคนจะร่วมใจกันแสดงความพร้อมเพรียงสามัคคีและน้ำใจไมตรี ช่วยกันทำกิจเพื่อส่วนรวม นำสังคมหรือชุมชน ให้ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
สงกรานต์ ยังแปลได้อีกว่า การก้าวไปรวมกัน เมื่อแปลอย่างนี้ ย่อมให้ความหมายว่า คนทั้งหลาย แม้อยู่ต่างแห่งกัน ถึงเวลานี้ ต่างก้าวเข้าไปหากัน ไปรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ผนึกกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว
เมื่อถือคตินี้จากสงกรานต์ ผู้ที่มีเรื่องผิดพ้องหมองใจกัน แตกแยกกระจัดกระจายกัน หรือผิดพลาดพลั้งเผลอต่อกัน ถึงเวลานี้ลืมเรื่องผิดพ้องกันเสีย ให้อภัย หันมาปรองดองสามัคคีกัน ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคง เป็นฐานที่จะให้หมู่คณะมีกำลังแข็งแรงยิ่งขึ้น
แปลความหมายคำว่า “สงกรานต์” มาแล้วหลายอย่าง ควรยุติเสียที แต่ก่อนที่จะจบ นึกขึ้นมาถึงตำนานเกี่ยวกับกำเนิดสงกรานต์ เห็นควรนำมากล่าวไว้ด้วย พอให้เรื่องสงกรานต์ใกล้ความสมบูรณ์มากขึ้น และบางทีจะได้คติสอนใจเพิ่มขึ้น
ใจความของตำนานนั้นมีว่า กาลนานมาแล้ว มีมาณพหนึ่งชื่อธรรมบาลกุมาร เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งนัก ได้เรียนรู้แตกฉาน เจนจบศิลปศาสตร์
ครั้งนั้น ท้าวกบิลพรหมทราบกิติศัพท์ จึงมาหยั่งดูสติปัญญาของธรรมบาล โดยตั้งคำถาม ๓ ข้อว่า เวลาเช้า เวลากลางวัน และเวลาค่ำ สิริอยู่ที่ใด
การแพ้ชนะในการตอบคำถามนี้ เอาศีรษะเป็นเดิมพัน ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้ จะต้องยอมให้ตัดศีรษะถวายแด่ท้าวกบิลพรหม แต่ถ้าธรรมบาลตอบได้ ท้าวกบิลพรหมจะยอมสละพระเศียรตอบแทน
เบื้องแรก ธรรมบาลกุมารหาคำตอบไม่ได้ จนปัญญา แม้กบิลพรหมจะให้เวลาถึง ๗ วัน แต่เวลา ๖ วันแรกก็จวนจะผ่านไปเปล่า จนธรรมบาลกุมารท้อแท้ใจทอดอาลัยชีวิต บังเอิญไปนอนใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีนกอินทรีผัวเมียจับอยู่ ได้ยินคำตอบปัญหาจากนกอินทรีนั้น ซึ่งสนทนากันด้วยความหวังว่า จะได้กินเหยื่อ คือศพของธรรมบาลกุมาร
คำตอบนั้นว่า เวลาเช้า สิริ หรือราศีอยู่ที่หน้า คนจึงล้างหน้า เวลากลางวัน อยู่ที่อก คนจึงประพรมอก เวลาค่ำ อยู่ที่เท้า คนจึงล้างเท้าก่อนเข้านอน
เมื่อได้คำตอบเช่นนี้ ผู้ที่เสียศีรษะจึงกลายเป็นฝ่ายท้าวกบิลพรหม และท้าวกบิลพรหมนั้นก็รักษาปฏิญญามั่นคง ปฏิบัติตามสัญญาโดยเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ท้าวกบิลพรหมทรงมหิทธานุภาพ หากตัดเศียรแล้ว ภัยอาจเกิดแก่โลกได้ เพราะหากเศียรตกถึงแผ่นดิน ไฟจะไหม้โลก หากปล่อยไปในอากาศ ฝนก็จะแล้ง หากทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง
ด้วยความกรุณาต่อชาวโลก ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสสั่งธิดาทั้ง ๗ ให้เอาพานมารองรับเศียร นำไปประดิษฐานไว้ที่เขาไกรลาส
เมื่อครบกำหนด ๓๖๕ วัน ตามสมมติว่าเป็นปีหนึ่ง ในวันสงกรานต์ ธิดาทั้ง ๗ ก็ผลัดเวรกันมาอัญเชิญเศียรนั้น แห่รอบเขาพระสุเมรุคราวหนึ่ง แล้วประดิษฐานไว้ที่เดิม ทำอย่างนี้หมุนเวียนกันไปคนละปี จนครบรอบธิดาทั้ง ๗ องค์
ตามตำนานนี้ ให้เห็นคติอย่างหนึ่งว่า อันมนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมา ดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิต แล้วก็สิ้นสุดด้วยตายไปในโลกนี้ ต่างถูกครอบงำด้วยอวิชชา ไม่รู้ความจริงของธรรมชาติที่แวดล้อมตน ที่สุดแม้แต่ชีวิตของตน ก็ไม่เข้าใจสภาวะที่แท้จริง
ผู้ที่ไม่รู้แจ้งความจริงของธรรมชาติ ไม่รู้เท่าทันชีวิต ก็ย่อมต้องเสียศีรษะ ปล่อยชีวิตถูกกลืนหายหมดไปเปล่า
แต่มนุษย์บางคน เพราะถูกธรรมชาติบีบคั้น ด้วยความหวาดกลัวนั่นแหละ เป็นเหตุให้ศึกษาค้นคว้าแสวงสัจธรรม ใฝ่หาคำตอบแก่ชีวิตของตน
ผู้ที่ค้นคว้าหาคำตอบได้ เป็นผู้รู้เท่าทันชีวิต ย่อมกลับเป็นผู้มีชัยต่อธรรมชาติ เป็นผู้ที่ธรรมชาติยอมมอบชีวิตให้ เป็นผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างแท้จริง คุ้มกับการที่เกิดมา เมื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างแท้จริงแล้ว ก็ไม่ต้องหวั่นต่อการเกิดการตาย
อย่างไรก็ตาม ความมีชัยต่อธรรมชาติในที่นี้ มิได้หมายเพียงการเอาชนะธรรมชาติภายนอกอย่างเดียว แต่หมายถึงการเอาชนะธรรมชาติภายในตนด้วย คือธรรมชาติซึ่งอยู่ที่ชีวิตจิตใจของตนนี่แหละ ชัยชนะที่เกิดจากความรู้เท่าทันสภาวะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย และรู้จักวางจิตใจอย่างถูกต้องต่อโลกและชีวิต
เมื่อมองดูไป สงกรานต์ก็มีความหมายให้มองได้หลายอย่าง ทั้งที่มองอย่างชาวบ้านและชาววัด ทั้งที่ลึกซึ้งและที่เป็นพื้นๆ
แม้จะมองอย่างง่ายๆ ก็ยังได้ความหมายว่า เพราะสงกรานต์เป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี ในฤดูกาลที่ร้อนจัดเช่นนี้ คนจึงสนุกสนานรื่นเริงและแสดงความปรารถนาดีต่อกัน ด้วยการรดน้ำสาดน้ำ ช่วยดับความเร่าร้อนให้เกิดความชุ่มชื่นเยือกเย็น เป็นความสุขอย่างหนึ่ง
จะมองความหมายอย่างไหน และจะคิดไปกี่อย่างก็ตาม เมื่อวันสงกรานต์มาถึงแล้ว ก็ควรให้ได้ความหมายสักอย่าง จะได้เป็นสงกรานต์ที่ไม่ผ่านไปเสียเปล่า
ขอเพียงว่า ความหมายที่ได้นั้น ควรจะเป็นความหมายที่ดีงาม ช่วยเชิดชูชีวิตจิตใจให้เบิกบานและประณีตผ่องใสมากขึ้น หากได้หลายอย่าง หรือครบทุกอย่าง ก็ยิ่งดี
ถ้านึกอะไรไม่ได้ ก็เอาแค่หัวเรื่องว่า “สงกรานต์ - ก้าวผ่านร้าย ย้ายสู่ดี” วันสงกรานต์นี้ ก็คงจะไม่เป็นหมันเสียทีเดียว
(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ วันสำคัญของชาวพุทธไทย)
• คำทำนายสงกรานต์ ปี 2557
วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันจันทร์ที่ 14 เมษายน เวลา 8 นาฬิกา 11 นาที 24 วินาที จันทรคติ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า(5) ปีมะเมีย
นางสงกรานต์นามว่า โคราคเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาทรงขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จยืน มาเหนือหลังพยัคฆ์(เสือ) เป็นพาหนะ
เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ เสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า
เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ เตโช(ธาตุไฟ) น้ำน้อย อากาศยังร้อน
เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะเมีย นาคราชให้น้ำ 5 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีงาม กลางปีงาม และปลายปีก็งามแล
เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแล
วันเถลิงศก ตรงกับวันพุธที่ 16 เมษายน เวลา 12 นาฬิกา 9 นาที 0 วินาที จันทรคติ ตรงกับ วันพุธ แรม 2 ค่ำ เดือนห้า(5) ปีมะเมีย
คำทำนายสงกรานต์ 2557 วันจันทร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ : ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย, วันอังคาร เป็นวันเนา : หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง, วันพุธ เป็นวันเถลิงศก : ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมากแลฯ, นางสงกรานต์ยืน : จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)