xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : ผลจากมะม่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูก : มะม่วงบ้านเราน่ะหวานอร่อย ทำไมแม่ไม่เก็บไว้ขายล่ะครับ? กองนี้ขายได้หลายตังค์แน่ๆ

แม่ : เงินน่ะได้มาเดี๋ยวก็ไปแล้ว แต่น้ำใจที่เราเอื้อเฟื้อกันอยู่นานกว่าจ้ะ

ลูก : แม่อย่าใจดีแจกหมดนะครับ

แม่ : ไม่หมดหรอกลูก เหลือจากแบ่งให้เพื่อนบ้านแล้ว ยังมีมะม่วงกินอีกหลายวัน อ้ะ แม่แบ่งเสร็จแล้ว ลูกเอาไปให้บ้านคุณลุงอ้วน บ้านน้าติ๋ม แล้วก็บ้านแม่เอ๋กับอ๋องด้วย เดี๋ยวแม่จะจะเอาไปฝากบ้านฝั่งนู้น

( ดนตรีแทรกประมาณ 5 วินาที)

ลูก : แม่ ลุงอ้วนฝากขอบคุณแม่เรื่องมะม่วง แล้วก็ฝากกุนเชียงมาให้ครับ อุ๊ย! ขนมเค้ก น่ากินจัง

แม่ : ยังมีนี่อีกนะ แกงเขียวหวาน ทอดมัน แกงจืดตำลึง แล้วก็หมูแดง

ลูก : กับข้าวเยอะแยะเลย มาจากไหนหรือครับ?

แม่ : ก็จากมะม่วงที่เราแบ่งให้เขายังไงล่ะลูก พวกลุงๆป้าๆน้าอาในซอยเขามีน้ำใจเอื้อเฟื้อกลับให้เราไง

ลูก : ดีจังนะแม่

แม่ : อ้อ พรุ่งนี้พ่อกับแม่ต้องไปทำธุระด่วนที่ต่างจังหวัด ลูกไปเล่นที่บ้านอ๋องนะ แม่ฝากไว้แล้ว ทำตัวดีๆไม่ดื้อไม่ซนนะลูก อย่าให้น้าอรเขาหนักใจนะ

ลูก : ครับ พรุ่งนี้ผมจะเอาขนมไปแบ่งอ๋องด้วย

หมอเหมียวชวนคุย

ทักษะการให้เป็นเรื่องต้องฝึกฝน ให้บ่อยๆก็จะให้ได้ง่ายขึ้น พ่อแม่จึงเป็นแบบอย่างสำคัญในการสอนลูกให้เห็นคุณค่าของการให้ คือ ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ที่ได้ทั้งความสุขใจและสัมพันธภาพที่ดีงามระหว่างกันในชุมชน ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลและเลี้ยงดูบุตรหลานร่วมกัน

ปลูกการให้ในใจลูก

ในสังคมที่ทุกอย่างซื้อหาได้ด้วยเงิน เด็กๆเติบโตมาบนความเชื่อที่ว่า อยากได้ความสุขก็ใช้เงินไปซื้อเอา จะกิน จะเที่ยว อยากได้เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น ก็ใช้เงินไปซื้อหาเอามา พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้โตแต่ตัว ก็จะเลี้ยงลูกอย่างตามใจ ปรนเปรอด้วยของเล่น ป้อนด้วยข้าวของเครื่องใช้ แต่ลืมสอนใจลูก สุดท้ายก็จะได้ลูกที่มีมีนิสัยบ้าวัตถุ รู้จักความสุขเฉพาะประเภท “รับเข้า” ที่เอาทุกอย่างเข้าหาตัวเพียงอย่างเดียว เห็นแก่ตัว ไม่เอาใคร ใช้เงินเก่ง จะโทษเด็กก็ไม่ได้ พ่อแม่ต้องรับไปเต็มๆด้วยว่าเลี้ยงลูกไม่เป็น เพราะมัวแต่ใช้เงินเลี้ยง

การเลี้ยงลูกให้พึ่งตนเองได้ และมีนิสัยแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น พ่อแม่อาจไม่ต้องทุ่มทุนทางเงิน แต่ต้องเป็นแบบอย่างทางใจให้ลูกเห็นอย่างสม่ำเสมอ เช่น เมื่อแม่ยืนยันไม่ขายยอมขายมะม่วงตามคำเสนอแนะของลูก แต่ขอแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้กินดีกว่าคำพูดของแม่ที่ว่า “ เงินน่ะได้มาเดี๋ยวก็ไปแล้ว แต่น้ำใจที่เราเอื้อเฟื้อกันอยู่นานกว่า” เมื่อมะม่วงที่แม่เอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านไปได้กลายมาเป็นกับข้าวและขนมอีกมากมายที่เพื่อนบ้านแสดงน้ำใจตอบแทนกลับคืน เด็กจะเรียนรู้แบบอย่างความมีน้ำใจของแม่ได้โดยตรง คำสอนของแม่จะซึมซับฝังเข้าไปในใจจากการที่เขาได้เห็นและได้ฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง

จริงๆแล้ว เด็กทุกคนมีเมล็ดพันธุ์ความดีที่พร้อมจะทำดีเพื่อผู้อื่นเสมอ ขอให้พ่อแม่ได้ฝึกหัดสั่งสอนและเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เพาะบ่มเมล็ดพันธุ์ของการเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ให้หยั่งรากฝากใบเติบโตออกดอกออกผล เป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นที่พ่อแม่ชื่นใจและใครๆก็ชื่นชม

ควรทำ

• การแบ่งปันเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน มิได้เกิดขึ้นเอง ควรฝึกไปพร้อมกับความคิดที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนกลับมา ชี้นำให้เด็กสังเกตตนเองว่า ขณะแบ่งปันสิ่งต่างๆให้คนอื่นนั้นรู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกดี นั่นคือรางวัลที่ได้จากการทำดีแล้ว

• ของที่แบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุ ของเล่น ข้าวของ เงินทอง เสมอไป แต่สามารถแบ่งปันความคิด การช่วยออกแรง ช่วยทำงาน ช่วยยกของ ช่วยให้ความสะดวกสบาย ช่วยให้แก้ปัญหาได้ เป็นต้น

• การแบ่งปัน เป็นจุดเริ่มต้นของความเสียสละ เด็กต้องใช้ความอดทน อดกลั้น ตัดใจ และทำใจ ทำบ่อยๆก็จะทำได้ง่ายขึ้น เป็นการลดความเห็นแก่ตัวภายในใจ

• พ่อแม่ต้องชื่นชมสิ่งที่เด็กทำ ถึงแม้ว่าการแบ่งปันระยะแรกอาจทำได้ไม่มาก หรือทำได้ไม่นานก็ตาม เช่น การแบ่งของเล่นให้น้องเล่น แบ่งขนมให้เพื่อน เพื่อให้เด็กมีกำลังใจในการทำดีอย่างต่อเนื่อง

* หัวใจการเลี้ยงดู

พ่อแม่เป็นต้นแบบในการเอื้อเฟื้อ เสียสละ และแบ่งปัน

จัดทำข้อมูลโดย : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น