xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : แม่ว่าอันนี้ดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม่ : เอ้า! ตกลงจะเอาดินสอแท่งไหน แม่ยืนคอยจนเมื่อยแล้วนะ

ลูก : ผมเอาแท่งนี้แม่

แม่ : อ้าว! เลือกแท่งนี้เหรอ แม่ว่าเอาแท่งสีเขียวดีกว่า ดูดีกว่าแท่งสีส้มของลูกตั้งเยอะ

ลูก : ผมชอบลายการ์ตูนแท่งนี้นี่แม่

แม่ : แม่ว่าการ์ตูนมันก็ดูงั้นๆนะ เชื่อแม่เถอะ! เอาสีเขียวดีกว่า

ลูก : แต่ผมไม่ชอบแท่งสีเขียวนี่แม่

แม่ : งั้นเลือกแท่งอื่นก็ได้ แต่ถ้าจะเอาแท่งนี้แม่ว่ามันแพง ไม่สมราคาเลย

ลูก : มันแพงกว่ากันแค่ห้าบาทเอง ก็ได้ๆ งั้นผมเอาแท่งสีฟ้าละกัน

แม่ : ตายละ! ทำไมลูกเลือกแท่งนี้ล่ะคะ แม่ว่ามันดูแย่กว่าแท่งสีส้มเมื่อกี๊อีกนะ

ลูก : แย่ยังไงล่ะแม่ แบบก็เหมือนแท่งสีเขียว ราคาก็เท่ากันนี่ครับ

แม่ : ก็แย่ที่มันเป็นสีฟ้าสีจืดๆ แม่ไม่ชอบ ตกลงเอาสีเขียวนะลูกนะ เร็วเถอะลูก ไปจ่ายเงินกันได้แล้ว

หมอเหมียวชวนคุย

การเปิดโอกาสให้เด็กหัดตัดสินใจด้วยตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กได้ฝึกคิด ฝึกวางแผน ฝึกยอมรับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจ ซึ่งพ่อแม่ควรช่วยกระตุ้นโดยการตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน พ่อแม่ที่ยึดความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกไม่กล้าคิด กลัวที่จะตัดสินใจ และขาดความมั่นใจในตัวเองค่ะ

ตัดสินใจพลาดดีกว่าไม่เคยตัดสินใจเลย

ผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กยังเล็ก จึงไม่ค่อยถามความคิดเห็นเด็ก และไม่ค่อยให้เด็กได้หัดตัดสินใจ จริงอยู่ที่เด็กยังเล็ก การตัดสินใจในหลายๆเรื่องย่อมสู้ผู้ใหญ่ไม่ได้ ละเอียดน้อยกว่า รอบคอบน้อยกว่า ผิดพลาดเสียหายได้มากกว่า แต่ถึงอย่างไรผู้ใหญ่ก็ควรให้สิทธิ์เด็กในการตัดสินใจบ้าง ที่น่าเสียใจคือมีผู้ใหญ่หลายๆคนบอกให้เด็กตัดสินใจ แล้วไม่เคารพในการตัดสินใจของเด็ก นี่เป็นการทำร้ายจิตใจ ทำลายความเชื่อมั่นของเด็กในการตัดสินใจ และทำลายความเชื่อถือที่เด็กควรมีต่อผู้ใหญ่ลงอีกด้วย

การตัดสินใจผิดพลาด ยังดีกว่าการไม่เคยได้ตัดสินใจเลย เพราะอย่างน้อยเด็กก็ได้ลิ้มรสความผิดพลาดและเรียนรู้ว่า ถ้าจะไม่ผิดพลาดอีกต้องคิดอย่างไร ทำอย่างไร แม้การตัดสินใจครั้งต่อมายังมีผิดพลาดอีก แต่เชื่อได้ว่าจะผิดพลาดน้อยลงๆ และถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งหากมีพ่อแม่เปิดโอกาสให้ตัดสินใจ และคอยชี้แนะให้คิด เด็กก็จะยิ่งมีความคิดหลากหลายเป็นทุนที่ช่วยให้การตัดสินใจถูกต้องแม่นยำ

ระหว่างทางที่เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ มีเรื่องที่เด็กต้องเผชิญกับการตัดสินใจ เลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ เลือกวิธีการที่จะรับมือกับปัญหา ตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง พ่อแม่คงไม่สามารถที่จะตามไปช่วยตัดสินใจได้ในทุกเรื่อง เปิดโอกาสสร้างเงื่อนไขให้ลูกได้ตัดสินใจด้วยตัวเองดูบ้าง ฝึกลูกตั้งแต่เล็กๆ เด็กจะได้มีทักษะการคิดตัดสินใจติดไม้ติดมือไว้ใช้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ

ควรทำ

• กระตุ้นให้เด็กหัดคิดด้วยการตั้งคำถาม หัดแลกเปลี่ยนความคิดโดยไม่ยึดติด จะทำให้ลูกคิดได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้หัดผสมผสานความคิดของหลายคน จะทำให้เกิดความคิดหรือทางออกที่ดีที่สุด

• การตัดสินใจ เป็นเรื่องสำคัญต่อการใช้ชีวิตเมื่อเติบใหญ่ เพราะการคิดและตัดสินใจในช่วงแรกๆอาจทำได้ไม่เหมาะ ไม่ถูก ไม่รอบคอบ แต่เมื่อได้เรียนรู้และฝึกทำบ่อยๆ สุดท้ายก็จะตัดสินใจเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น เหมาะสมขึ้น

• ใช้วิถีชีวิตประจำวันเป็นแบบฝึกหัดที่ใช้ในการฝึกให้ตัดสินใจ เช่น การเลือกเสื้อผ้า การเลือกสั่งอาหาร การเลือกซื้อของ การแก้ปัญหาสบู่ในห้องน้ำหมด ไฟดับ หลอดไฟขาด แก๊สหมด การมอบงานให้รับผิดชอบ การให้เงินค่าขนม เป็นต้น

• แค่ปล่อยวาง และเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือก คิด และตัดสินใจภายใต้กติกาที่เหมาะสม เพียงเท่านี้ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องใช้ทั้งปัญญา ความอดทนข่มใจ อดกลั้นและวางอุเบกขา เช่น ให้เลือกซื้อดินสอภายในวงเงิน 10 บาท ขณะเดียวกันเด็กก็ได้เรียนรู้ที่จะคิดและหัดตัดสินใจ ภายใต้กติกาที่เหมาะสม

ไม่ควรทำ

• ถ้าพ่อแม่ยึดความคิดของตนเป็นใหญ่และไม่สนใจความคิดของเด็ก จะทำให้เด็กไม่มั่นใจในตนเองเมื่อต้อง แสดงความ คิดเห็นกับพ่อแม่ ในที่สุดเด็กมักจะเงียบลง รอให้พ่อแม่บอกว่าจะให้ทำอย่างไร

• ถ้าการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ตกอยู่ที่คนๆเดียว เช่น แม่ สุดท้ายทุกคนในบ้านจะตัดสินใจน้อยลง และเลือกที่จะรอรับฟังผลการตัดสินใจของแม่

การตามใจเด็กโดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกคิด และตัดสินใจซื้อของราคาไม่จำกัด นอกจากจะส่งเสริมให้เด็กใช้จ่ายเกินตัวแล้ว ยังไม่ฝึกให้ยั้งคิด หรือตัดสินใจให้รอบคอบ เด็กจะไม่ภูมิใจในความสามารถในการคิด และตัดสินใจ และไม่รักข้าวของที่มี เนื่องจากได้มาง่ายดาย

* หัวใจการเลี้ยงดู

หมั่นฝึกให้ลูกมีทักษะในการคิดตัดสินใจ โดยยึดหลักว่า ตัดสินใจพลาดดีกว่าไม่เคยตัดสินใจเลย

จัดทำข้อมูลโดย : นพ. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น