xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : เสียสละ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้น : ไม่ยุติธรรมเลย! ถ้าตูนอยากไปค่ายดูดาว ตูนก็ไปคนเดียวสิ ผมจะไปค่ายไดโนเสาร์!!

ตูน : พ่อ หนูอยากไปค่ายดูดาว

ต้น : เงียบไปเลยนะ! (ตวาด)

พ่อ : พ่ออยากให้ไปช่วยดูแลน้อง น้องยังเล็ก ครั้งหน้าพ่อจะให้ต้นเลือก พ่อสัญญา

ต้น : ทุกทีเลย อะไรพ่อก็คิดถึงน้องก่อน ให้น้องก่อน ทำไมผมต้องทำทุกอย่างเพื่อน้องโดยที่ผมไม่เคยได้ทำอะไรที่ผมชอบเลย

พ่อ : ต้นเป็นพี่ เสียสละให้น้องบ้างไม่ได้เหรอ

ย่า : เป็นน้องก็เสียสละให้พี่ได้จ้ะ ตูน มาหาย่าซิ

ตูน : แต่หนูอยากไปค่ายดูดาวนี่คะคุณย่า

ย่า : คนเก่งของย่า พี่ต้นเขาเสียสละให้ตูนบ่อยๆใช่ไหมลูก คราวนี้ย่าอยากให้ตูนเสียสละให้พี่เขาบ้าง ลองไปค่ายดูดาวคนเดียว แล้วให้พี่เขาได้ไปค่ายไดโนเสาร์ที่เขาอยากไป ทั้งสองคนก็ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ สนุกและมีความสุขกับมันไงลูก

ตูน : แต่พ่อบอกว่าตูนยังเล็กอยู่

ย่า : ตูนอยู่ ป.2 แล้ว โตพอที่จะดูแลตัวเองแล้วก็ช่วยดูแลคนอื่นได้แล้วลูก เชื่อย่าสิ

ตูน : งั้นพี่ตั้มไปค่ายไดโนเสาร์เถอะ คราวนี้ตูนจะไปค่ายดูดาวคนเดียว

ตั้ม : แล้วกลับมาเล่าให้พี่ฟังนะว่าสนุกแค่ไหน

ตูน : พี่ตั้มก็ต้องเล่าเรื่องค่ายไดโนเสาร์ให้ตูนฟังด้วยนะ

หมอเหมียวชวนคุย

ถ้าต้องให้พี่เสียสละให้น้องตลอดเวลา พี่จะรู้สึกไม่ยุติธรรม ควรฝึกให้น้องเสียสละให้พี่ด้วยค่ะ จะช่วยป้องกันการอิจฉากันระหว่างพี่น้อง การฝึกให้พี่น้องเสียสละแบ่งปัน จะช่วยให้ลูกๆรักกันและติดเป็นนิสัยช่วยเหลือกันไปจนโต เกื้อกูลกันไปจนแก่เฒ่าค่ะ

ดับไฟอิจฉาด้วยการแบ่งปัน

ความอิจฉากันระหว่างพี่น้องพบได้เมื่อครอบครัวมี“ น้องคนใหม่” คนพี่จะรู้สึกไม่มั่นคง กลัวว่าจะถูกแย่งความรัก จึงเรียกร้องโดยการแสดงพฤติกรรมถดถอย เช่น ขโมย ก้าวร้าว ดื้อดึง ต่อต้าน ทำลาย ปัสสาวะรดที่นอน อ้อนให้อุ้มหรือป้อนอาหาร ดูดนิ้ว โขกศีรษะ เป็นต้น เมื่อน้องเริ่มโตขึ้นพี่อาจมีพฤติกรรมแกล้งน้อง เล่นแรงๆ แย่งของ ชวนทะเลาะ

การแสดงออกของพ่อแม่ว่ารักคนใดคนหนึ่งมากกว่าก็ทำให้เด็กรู้สึกอิจฉา เช่น รักและปกป้องน้องมากกว่า น้องเป็นคนโปรด เปรียบเทียบความสามารถกับน้อง ทำให้เด็กรู้สึกโกรธเคืองและรู้สึกไม่ดีต่อน้อง รู้สึกว่าตนเองขาดและด้อยกว่า ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม พี่น้องก็จะขัดแย้งกันไปจนโต ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่รู้จบ เป็นสัมพันธภาพที่ร้าวฉานในพี่น้อง เพื่อป้องกันการอิจฉาที่จะเกิดขึ้น พ่อแม่ควรปฏิบัติต่อลูกให้เหมาะสมดังนี้

• เตรียมตัวเตรียมใจให้พี่ ได้รับรู้ว่าจะมีน้องคนใหม่ แสดงให้รู้ว่าพ่อแม่ก็ยังรักและดูแลเขาอย่างสม่ำเสมอเหมือนเดิม ไม่ขู่ว่าจะรักน้องมากกว่าถ้าพี่ไม่ทำตัวดีๆ

• สร้างให้พี่เกิดความมั่นใจภูมิใจ ว่าตัวเองมีความสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องเป็นภาระให้แม่ และยังสามารถเป็นผู้ช่วยในการเลี้ยงน้องได้

• ฝึกแบ่งปันระหว่างพี่น้อง ไม่ลำเอียงและคาดหวังให้พี่เสียสละให้น้องฝ่ายเดียว ฝึกให้ระหว่างพี่น้องบ่อยๆ พ่อแม่อย่าลืมชมเชยการกระทำที่ดีของลูก จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องแน่นแฟ้น และเสียสละให้กันได้ง่ายขึ้น

• ไม่เปรียบเทียบลูก ซึ่งบั่นทอนจิตใจและทำให้พี่น้องเกลียดกัน แต่ควรชมเชยจุดเด่นที่มีแตกต่างกัน เช่นน้องเก่งที่หัวไว คิดอะไรแคล่วคล่อง แต่พี่ก็ดีที่มีสมาธิดี และมีความอดทนทำงานจนเสร็จ

• ฝึกให้ช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ไปช่วยเหลือคนพิการ การบริจาคของเล่นให้กับเด็กยากจน ได้เรียนรู้การแบ่งปันและเสียสละเพื่อให้คนอื่นมีความสุข จะช่วยฝึกให้ลูกเสียสละเพื่อผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

ควรทำ

- ควรฝึกให้ทั้งพี่และน้องต้องเสียสละ ถ้าให้น้องเป็นคนได้เปรียบตลอดเวลาจะทำให้ติดเป็นนิสัยจนไม่สามารถเสียสละให้พี่ได้เพราะไม่เคยทำมาก่อน

- เมื่อต้องเสียสละ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้สูงกว่าการเป็นผู้รับ เมื่อต้องฝืนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ อาจรู้สึกทรมาน แต่ในมุมกลับกัน เด็กจะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เพิ่มขึ้น เด็กได้ฝึกจิตใจให้เข็มแข็ง อดกลั้น ข่มใจ

- เส้นทางคนดี คือ ฝึกเด็กตั้งแต่เล็กๆให้เสียสละแบ่งปันอย่างสม่ำเสมอ ในหลายเหตุการณ์ หลายวาระ จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน เกิดเป็นนิสัยดีติดตัว

ไม่ควรทำ

การบีบบังคับให้พี่ต้องเล่นบทผู้เสียสละแก่น้องตลอดเวลา จะทำให้พี่รู้สึกคับแค้น คิดว่าพ่อแม่ไม่ยุติธรรม เมื่อทำอะไรกับผู้ใหญ่ไม่ได้ก็เอาความโกรธไปลงที่น้อง

* หัวใจการเลี้ยงดู

ฝึกให้เสียสละแบ่งปันเพื่อป้องกันการอิจฉาระหว่างพี่น้อง

จัดทำข้อมูลโดย : นพ. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น