xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : แม่ทำเองดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูก : แม่ ให้หนูปอกมะละกอนะคะ

แม่ : ไม่ได้หรอก เดี๋ยวเละคามือ ต้องใช้มีดด้วย ไม่เอาละ แม่กลัวโดนมีดบาด

ลูก : แต่หนูอยากช่วยนี่

แม่ : งั้นเอามันฝรั่งไปปอกละกัน ต้องปอกเปลือกออกบางๆแบบนี้ ไหนทำให้แม่ดูซิ

ลูก : อย่างนี้ใช่ไหมคะ?

แม่ : ไม่ใช่อย่างนั้น กดแรงอีกหน่อย

ลูก : แรงอย่างนี้ใช่มั้ยคะแม่?

แม่ : นั่นแรงไป เห็นมั้ย กินเนื้อมันเข้าไปซะลึกเลย มาแม่ทำเองดีกว่า

ลูก : แต่หนูอยากทำนี่คะ

แม่ : งั้นหนูคอยล้างมันที่แม่ปอกดีกว่า ไปรองน้ำใส่กะละมังเตรียมล้างก็แล้วกัน

ลูก : ค่ะแม่ (เสียงเปิดน้ำดังซู่ใหญ่)

แม่ : โอ๊ย! เปิดเบาๆสิ! (โมโห) เห็นมั้ย! น้ำกระเด็นเปียกหมดเลย ไม่ต้องช่วยแล้ว เดี๋ยวแม่ล้างเอง (เสียงปิดน้ำ)

ลูก : แต่หนูอยากช่วยล้างนี่คะ

แม่ : ไม่ต้องแล้ว ไปเปลี่ยนเสื้อแล้วไปนั่งดูการ์ตูน เฮ้อ! (บ่นพึมพำ) พื้นเปียกหมด ถ้ารู้ว่าจะเละเทะขนาดนี้ทำเองดีกว่า นี่ยิ่งช้าเข้าไปใหญ่เลย

หมอเหมียวชวนคุย

เมื่อลูกเสนอตัวช่วยเหลืองานบ้าน พ่อแม่ควรถือเป็นโอกาสที่ดีในการฝึกฝนลูกเพราะเด็กมีใจพร้อมอยากจะทำ เริ่มต้นจากงานง่ายๆที่ลูกทำได้โดยไม่คาดหวังผลสำเร็จที่สูงเกินไป มองความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้และเป็นช่องทางสำคัญในการฝึกลูกให้เก่งขึ้น หากมัวจ้องชี้ผิดเมื่อลูกทำพลาดหรือแย่งงานลูกมาทำเพราะไม่ได้ดั่งใจ ลูกจะรู้สึกว่า ตัวเองไร้ความสามารถ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ และไม่เชื่อมั่นในตัวเอง

มะละกอเสียแล้วเสียไป....ขอฝึกให้ลูกมั่นใจดีกว่า

วัยเด็กมักมีความอยากรู้อยากเห็น มีความกระตือรือร้นสนใจสิ่งรอบตัว อยากทำอยากทดลองนู่นนี่นั่นเต็มไปหมด พ่อแม่ควรเห็นเป็นเรื่องดีที่ลูกสนใจใฝ่รู้ อย่าเพิ่งตัดโอกาสลูก เพราะคิดว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นจะเกิดอันตราย ยังทำได้ไม่ดี ทำให้ตัวเองยุ่งยาก หรือเสียเวลา

เด็กหัดทำอะไรแรกๆ ย่อมไม่สมบูรณ์ เช่น ถ้าลูกขอลองปอกมะละกอ แน่นอนว่าย่อมมีช้ำมีเละเพราะแรงมือของลูก แต่ถ้าพ่อแม่มองเป็นโอกาสดีในการฝึกฝนและสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เข้าใจว่าเราอยู่ในขั้นสอนลูกให้ “ทำได้”แต่ยังไม่จำเป็นต้อง” ทำสวย” ก็แบ่งมะละกอออกมาส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของเขา (เราก็ไม่ต้องเสียมะละกอไปทั้งลูก) และหามีดพลาสติก หรือมีดปาดเนยให้ใช้แทนมีดคมๆ สอนลูกให้ทำตามทีละขั้นตอน ให้กำลังใจและชื่นชมความตั้งใจของลูก แม้มะละกอจะช้ำไปบ้างแต่เด็กจะรู้สึกว่า มะละกอที่เขาปอกเองคราวนี้อร่อยเป็นพิเศษ อะไรที่เด็กได้ลงมือทำเอง จะเกิดความภูมิใจและไม่เกี่ยงงอนที่จะกิน ยกเว้นว่ากินไม่ได้จริงๆเพราะเละคามือ!!!!

ถ้าการฝึกครั้งแรกผ่านพ้นได้ด้วยดี เด็กจะอยากทำอีกในครั้งต่อๆไป การสอนไปตำหนิไป หรือแย่งเอามาทำเสียเองย่อมทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจและคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ยิ่งถ้าเป็นเด็กอ่อนไหวง่ายจะทำให้หมดความเชื่อมั่น ไม่อยากจับมีดปอกมะละกออีก เพราะเสียงตำหนิของแม่คอยมากระทบใจ พ่อแม่ลองคิดดูว่าเราจะเสียดายมะละกอตอนนี้ดี หรือมารู้สึกเสียใจอีกทีตอนลูกโตว่า ทำไมลูกเราช่างไม่มั่นใจตัวเองเลย!!

ควรทำ

• การสอนจะได้ผลมากที่สุด คือ สอนในช่วงที่เด็กมีความกระตือรือร้น อยากรู้ อยากเห็น ด้วยความใจเย็น ให้เวลาลูก ฝึกทำจนคล่องจากง่ายไปยาก จากงานไม่ซับซ้อนไปสู่งานซับซ้อน

• ในช่วงเริ่มต้นการฝึกทำสิ่งใหม่ๆ เด็กต้องการกำลังใจ อย่าหวังว่าสอนหรือทำให้ดูแล้ว เด็กจะทำตามได้ดีตั้งแต่แรก ดังนั้น คำชี้แนะ ท่าทีที่เข้าใจของพ่อแม่ จะช่วยให้ลูกทำงานสำเร็จมากกว่าการดุว่าหรือเปรียบเทียบ

• ไม่คาดหวังผลงานที่ดีเลิศหรือต้องถูกต้องในการฝึกฝนระยะแรก เพราะผลงานที่เคยทำได้ดีนั้นก็ยังอาจขึ้นๆลงๆไปตามอารมณ์ของเด็กระยะหนึ่ง เมื่อฝึกจนเกิดความเชี่ยวชาญแล้วก็จะเป็นความสามารถติดตัวต่อไป

• การสอนที่ดีที่สุด คือ การสอนโดยไม่ต้องพูดและปล่อยให้เด็กหัดทำจนทำได้ แล้วค่อยมาสรุปว่าตัวเด็กเองได้เรียนรู้อะไร

ไม่ควรทำ

พ่อแม่ที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กทำสิ่งต่างๆ เพราะกลัวว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ ดีใจที่ได้ทำอะไรให้ลูก ไม่อยากให้ลูกเหนื่อยหรือลำบากจึงยอมทำงานแทน ฯลฯ คืออุปสรรคขัดขวางความสามารถลูก

* หัวใจการเลี้ยงดู

ในการฝึกฝนลูกในระยะเริ่มต้น พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังผลดีเลิศหรือความถูกต้องจากการทำงานของลูก แต่ควรชื่นชมในความพยายามเพื่อให้ลูกได้มีกำลังฝึกฝนต่อไป

จัดทำข้อมูลโดย : นพ. ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย

สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น