• จีนเตรียมสร้างหอเอกสารทังก้า
จีน : รัฐบาลจีนเตรียมสร้างหอเอกสารทังก้า เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของพุทธศาสนาแบบทิเบต โดยใช้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับทังก้า 16 ชุด
เฟง จิไค ประธานสมาคมศิลปินจีนพื้นบ้านและที่ปรึกษาสภาแห่งชาติจีน เผยว่า ที่ผ่านมาการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะทังก้านั้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมีผู้สืบทอดไม่เพียงพอ ชิ้นงานด้อยคุณภาพ และมักซื้อขายกันเองเป็นการส่วนตัว ดังนั้น ในปี 2013 รัฐบาลจีนจึงได้อนุมัติและให้เงินสนับสนุนโครงการสร้างหอเอกสารทังก้าแห่งชาติขึ้น
อนึ่ง ทังก้าเป็นศิลปะการวาดรูปในพุทธศาสนาแบบทิเบต ที่สืบทอดตามประเพณีและแพร่หลายในทิเบต และพื้นที่ที่มีชาวทิเบตอาศัยอยู่ ทังก้าได้กลายเป็นส่วนสำคัญในพุทธศาสนาแบบทิเบตและการดำเนินชีวิตของคนทิเบตเป็นอย่างยิ่ง
(จาก CCTV.com)
• พระญี่ปุ่นจัดตั้งกลุ่ม “ภิกษุไร้พรมแดน” ร่วมทำงานช่วยเหลือสังคม
ญี่ปุ่น : เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มพระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นได้เปิดตัวกลุ่ม “ภิกษุไร้พรมแดน” ขึ้น ที่เมืองเกียวโต อันเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่น
“ปกติบรรดาภิกษุไม่ค่อยมีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างศาสนา แต่อาตมาคิดว่า เราสามารถร่วมมือกันทำได้ในนามของพระพุทธศาสนา ที่จะให้ความช่วยเหลือคนอื่นๆทางด้านจิตใจและร่างกาย” พระฮิโรอากิ นาคาจิมะ เจ้าอาวาสวัดโจโกจิ แห่งเมืองเกียวโต กล่าว และเสริมว่า
“พวกพระสงฆ์มักไม่เก่งด้านการประชาสัมพันธ์ แม้ว่าจะได้ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นประจำอยู่แล้ว อาทิ ไปเยี่ยมคนเจ็บตามโรงพยาบาล และช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ เราหวังที่จะสร้างความสัมพันธ์กับสาธารณชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการมีเฟซบุ๊คเป็นของตัวเอง”
กลุ่ม “ภิกษุไร้พรมแดน” จะทำงานเพื่อช่วยลดความยากจน ลดการแบ่งแยก และช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ด้วยแนวคิดช่วยเหลือสังคมเช่นเดียวกับ “หมอไร้พรมแดน” และ “นักข่าวไร้พรมแดน”
(จาก Tokyotimes)
• วัดญี่ปุ่นเปิดให้บริการบรรจุอัฐิทางไปรษณีย์
ญี่ปุ่น : ปัจจุบัน วัดพุทธจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น หันมาให้บริการบรรจุอัฐิที่ส่งมาทางไปรษณีย์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ที่ไม่สามารถนำอัฐิมาบรรจุด้วยตนเอง
วัดนูบุตสึจิ เมืองอิโยะ จังหวัดเอะฮิเมะ ได้เปิดให้บริการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2011 แม้จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลเมืองก็ตาม โดยจะรับอัฐิที่ส่งมาทางไปรษณีย์ พร้อมใบยินยอมให้บรรจุอัฐิ แล้วนำมาบรรจุภายในห้องเก็บอัฐิของวัดเป็นเวลา 50 ปี เมื่อครบกำหนด อัฐิจะถูกฝังในหลุมศพรวม โดยคิดค่าบริการครั้งเดียวเพียง 55,000 เยน (ราว 16,000 บาท)
พระโคโชะ ยามาดะ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส บอกว่า ทางวัดได้ลงโฆษณาบริการพิเศษนี้บนอินเตอร์เน็ต และมีผู้ใช้บริการแล้ว 500 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ต้องจัดการกับอัฐิของอดีตสามีที่หย่าร้างกันไปแล้ว
ปัจจุบัน วัดนูบุตสึจิอยู่ระหว่างการฟ้องร้องเทศบาลเมืองอิโยะ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างสถานที่เก็บอัฐิบนพื้นดิน ด้วยเหตุที่บริการดังกล่าวขัดกับความรู้สึกของสาธารณชน ซึ่งทางวัดโต้แย้งว่า เป็นบริการที่ช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีทางเลือก ศาลได้พิพากษาว่า การให้บริการดังกล่าวของทางวัดเป็นไปในลักษณะการค้า ดังนั้น ทางวัดจึงได้เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อไป
(จาก Japan Daily Press)
• ภาพวาดพุทธศิลป์โบราณ คืนสู่เหย้าเกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนือ : ภาพพุทธศิลป์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งวาดขึ้นในศตวรรษที่ 18 และถูกนำกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลี เวลาผ่านไปเกือบ 100 ปี พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งครอบครองภาพดังกล่าวในเวลาต่อมา จึงได้บริจาคคืนสู่เกาหลีเหนือเมื่อเดือนธันวาคม 2013 เป็นที่เรียบร้อย
(จากYonhap)
• ผลสำรวจชี้ “คนพม่า” ใจบุญอันดับ 2 ของโลก
พม่า : เมื่อเดือนธันวาคม 2013 มูลนิธิสงเคราะห์การกุศล (CAF) ในอังกฤษ ได้ทำการสำรวจเรื่องการมีจิตกุศลมากที่สุดในโลก ของคนใน 160 ประเทศ พบว่า ประเทศพม่าได้รับการจัดอันดับที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีคะแนนเสมอกับแคนาดาและนิวซีแลนด์
โดยดัชนีชี้วัด ดูจากนิสัยการทำบุญ และความถี่ของการทำบุญใน 3 หัวข้อ ได้แก่ จำนวนเปอร์เซ็นต์ของคนที่บริจาคเงินให้การกุศล เป็นอาสาสมัคร และช่วยเหลือคนแปลกหน้า ในเดือนที่ใช้เป็นตัวอย่าง
ในรายงานระบุว่า พม่ามีความโดดเด่นเป็นพิเศษในเรื่องการบริจาคเงิน โดยคนพม่า 85 คนใน 100 คน บริจาคเงินให้แก่องค์กรทางสังคมหรือศาสนาเป็นประจำทุกเดือน
“การบริจาคเงินทำบุญให้กับศาสนา เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในหมู่คนพม่า ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ด้วยความหวังให้ชีวิตดีขึ้นในภพหน้า พวกเขามักไม่บริจาคเพื่อการศึกษาหรือสาธารณสุข แต่จะบริจาคเงินจำนวนมาก เพื่อสร้างเจดีย์หรือวัด ซึ่งถือเป็นบุญกุศลที่ปลูกฝังในใจของคนพม่า” นาอิง อู นักเขียนชาวพม่ากล่าว และเสริมว่า
“เราอาจเห็นวัดที่สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ในขณะที่โรงเรียนต่างๆอยู่ในสภาพทรุดโทรม คนพม่าเข้าใจว่า บุญกุศลเชื่อมโยงกับศาสนา จึงเป็นเหตุให้พวกเขาไม่ค่อยบริจาคเงินให้โรงเรียนหรือห้องสมุด ซึ่งตรงข้ามกับการทำบุญในประเทศตะวันตก”
นอกจากนี้ พม่ายังได้รับการจัดอันดับเรื่องการเป็นอาสาสมัคร ในลำดับที่ 4 เสมอกับฟิลิปปินส์ ซึ่งวัฒนธรรมจิตอาสานี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งมหันตภัยพายุไซโคลนนาร์กีสพัดเข้าถล่มพม่าในปี 2008 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 140,000 คน
ไฮไลท์สำคัญของผลสำรวจครั้งนี้ คือ พม่าเป็นประเทศที่ประชาชนบริจาคเงินทำบุญมากถึง 85% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเป็นผู้ให้ไม่จำเป็นต้องมีฐานะร่ำรวยเท่านั้น เนื่องจากพม่าเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในทวีปเอเชีย
(จาก The Irrawaddy)
• ไต้หวันเตรียมสร้างสถูป “พุทธนาถ” จำลอง
เนปาล : ประเทศไต้หวันซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เตรียมสร้างสถูปพุทธนาถจำลอง ขนาดเท่าของจริง ไว้ในเมืองไตหนาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ด้วยงบประมาณราว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ ผู้นำชาวพุทธจำนวนมากในเนปาลเชื่อว่า การก่อสร้างสถูปจำลองดังกล่าว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สร้างในต่างประเทศ จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ด้านศาสนาระหว่างเนปาลและไต้หวันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยเผยแพร่ข้อเท็จจริงที่ว่า พระพุทธเจ้าประสูติในเนปาล
คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ศรีพุทธนาถ (SBADC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเนปาล มีหน้าที่ดูแลสถูปพุทธนาถ เผยว่า นายชิง จิวฮวา ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ซิห์ วู ซิง จำกัด เจ้าของโครงการซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของไต้หวัน ระบุว่า จะก่อสร้างสถูปจำลองด้วยวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ในองค์จริง ด้วยช่างฝีมือชาวเนปาล เพื่อให้เหมือนจริงที่สุด และโดยรอบสถูปจะก่อสร้างเป็นคอมเพล็กซ์การค้าสไตล์สถูปเนปาล ที่มีทั้งภัตตาคาร โรงแรม พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้นักแสวงบุญ โดยจะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้ SBADC เพื่อใช้อนุรักษ์และส่งเสริมสถูปพุทธนาถในเนปาล
ลามะ สัมปูรณะ กุมาร ประธาน SBADC กล่าวว่า “สถูปจำลองนี้จะถือเป็นสถูปพี่น้องกับสถูปพุทธนาถ เพื่อช่วยส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ”
ใจความตอนหนึ่งในคัมภีร์พุทธ ระบุว่า รินโปเช ปัทมสมภพ ซึ่งเป็นผู้สร้างสถูปพุทธนาถในกรุงกาฐมาณฑุ ได้ทำนายไว้ว่า จะมีการสร้างจำลองสถูปพุทธนาถ 5 องค์ ไว้ตามที่ต่างๆทั่วโลก ขณะที่หลายปีก่อน “ลี ฟูเตน” ผู้นำพระทิเบตที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน ฝันว่า จะมีการสร้างจำลองสถูปพุทธนาถในไต้หวัน
อนึ่ง สถูปพุทธนาถ คาดว่าสร้างในศตวรรษที่ 5 เป็นสถูปที่ใหญ่ที่สุดของเนปาล และเป็นหนึ่งในพุทธสถานสำคัญในกรุงกาฐมาณฑุ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก แต่ละปีจะมีชาวพุทธทิเบตจำนวนมากจากประเทศต่างๆเดินทางมาสักการะ
(จาก Myrepublica.com)
• เปิดเว็บบนมือถือ Buddhist eLibrary
ออสเตรเลีย : เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2013 Buddhanet ซึ่งเป็นเว็บไซต์แหล่งข้อมูลทางพุทธศาสนาที่รู้จักกันดี ได้เปิดให้บริการเว็บไซต์สำหรับมือถือชื่อ Buddhist eLibrary (ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ชาวพุทธ) ใน 5 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน ไทย โปรตุเกส และสเปน โดยวางแผนจะเพิ่มภาษาและเนื้อหาให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
เว็บบนมือถือดังกล่าว เกิดจากความพยายามร่วมกันระหว่างสมาคมพุทธธรรมศึกษา(BDEA) ที่ตั้งอยู่ภายในวัดป่าโพธิ เมืองลิสมอร์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(MCU) และวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ(IBC) ประเทศไทย รวมทั้งวัดกวงมิง ซัน ภูเจียว ชันซื่อ ประเทศสิงคโปร์
นโยบายของ Buddhist eLibrary คือ ส่งเสริมให้มีการศึกษาและการพัฒนาหลักธรรมะในยุคโลกาภิวัตน์ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือของชาวพุทธจากสถาบันต่างๆทั่วโลก และยึดหลักปฏิบัติ “ธรรมะมีหนึ่งเดียว” แต่สามารถเผยแผ่ไปสู่มหาชน ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาและวัฒนธรรม ที่หลากหลายของชาวพุทธในท้องถิ่นนั้นๆ
(จาก Patheos)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย เภตรา)