xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! ผลสำรวจเผย “คนพม่า” ใจบุญสุนทานที่สุดในโลก “จีน-บุรุนดี” รั้งอันดับบ๊วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวพุทธในพม่าเข้าไปสวดมนต์และปิดทองสักการะพระมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2015 (ภาพ - รอยเตอร์)
รอยเตอร์ - พม่าเป็นชาติที่ผู้คนใจบุญสุนทานมากที่สุดในโลก โดยมีประชากรวัยผู้ใหญ่ถึง 9 ใน 10 คนที่บริจาคเงินเพื่อการกุศล และเกือบครึ่งหนึ่งยอมเสียสละเวลาเพื่อช่วยเหลือสังคม ขณะที่บุรุนดีติดอันดับ “บ๊วย” ของตาราง รองลงมาคือจีน เยเมน และลิทัวเนีย นักวิจัยเผยวันนี้ (10 พ.ย.)

ผลการศึกษาโดยมูลนิธิ Charitable Aid Foundation (CAF) ซึ่งมีฐานที่กรุงลอนดอน พบว่า ผู้บริจาคเงินให้มูลนิธิต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยในปี 2014 มียอดผู้บริจาคสูงถึง 1,400 ล้านคน หรือเทียบเท่าประชากรโลกวัยผู้ใหญ่ร้อยละ 31.5 เพิ่มขึ้นจากสถิติร้อยละ 28.3 ในปี 2013

“แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก แต่คนก็ยังมีน้ำใจบริจาคเงินช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี” จอห์น โลว์ ประธานบริหารมูลนิธิ CAF ระบุในคำแถลง

สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีผู้บริจาคสูงสุดรองจากพม่า ตามดัชนี World Giving Index ของมูลนิธิ CAF ซึ่งมุ่งวัดพฤติกรรมที่สะท้อนความใจบุญสุนทานของพลเมืองในแต่ละประเทศ โดยจะสอบถามข้อมูลว่า พวกเขาบริจาคเงินแก่มูลนิธิ เป็นอาสาสมัคร และให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้าบ่อยแค่ไหน

ผลสำรวจในพม่าพบว่า มีชาวพม่าถึงร้อยละ 92 ที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลในช่วง 1 เดือนก่อนทำแบบสอบถาม ส่วน “ไทย” ซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงก็มีสัดส่วนผู้บริจาคเงินช่วยการกุศลถึงร้อยละ 87

CAF ชี้ว่า ความใจบุญของชาวพม่าและไทยมีที่มาจากคำสอนในพุทธศาสนานิกายเถรวาท และประเพณีการทำ “สังฆทาน” ซึ่งหมายถึงการให้ทานแก่พระสงฆ์

พม่ายังมีสัดส่วนการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมมากที่สุด คือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ รองลงมาคือ ศรีลังกา ไลบีเรีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมพบว่า อาสาสมัครทั่วโลกลดลงจากร้อยละ 21.3 ในปี 2013 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 21.0 ในปี 2014

ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่วันนี้ (10) ยังชี้ให้เห็นภาพย้อนแย้งระหว่างความใจบุญสุนทานของชาวพม่า กับ “ปัญหามุสลิมกลุ่มน้อยโรฮีนจา ซึ่งถูกกวาดล้างและตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิ”

ประชากรโลกวัยผู้ใหญ่เกือบร้อยละ 50 ระบุว่า พวกเขาเคยให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ไม่รู้จักกันในปี 2014 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า โดย “อิรัก” ครองแชมป์ในด้านนี้ รองลงมาคือ สหรัฐฯ ไลบีเรีย นามิเบีย และจาเมกา

ผู้บริจาคเงินช่วยการกุศลในยูเครนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในปีที่แล้ว ส่วนในกลุ่มประเทศบอลข่านซึ่งเผชิญอุทกภัยร้ายแรงในปี 2014 ก็มีสัดส่วนผู้บริจาคสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

“สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงก็คือ ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดของโลก แต่ผู้คนจะระดมน้ำใจช่วยเหลือกันในยามที่เกิดวิกฤต” โลว์กล่าว

ข้อมูลดิบที่ CAF ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ได้จากสถาบันสำรวจความคิดเห็น แกลลัป ซึ่งสัมภาษณ์ประชากร 150,000 คนทั่วโลกในปี 2014 เกี่ยวกับพฤติกรรมการช่วยเหลือสังคม และอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น