xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : ปิดบัญชีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงเริ่มต้นปีใหม่เช่นนี้ หลายๆท่านคงตั้งจิตตั้งใจอยากจะใช้โอกาสนี้ในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆให้กับชีวิต ทำในสิ่งดีๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจทำความดี จะเข้าวัดเข้าวา ไปปฏิบัติธรรม ถือศีล ๕ หรือว่าถือได้ ๑ ข้อคืองดเหล้า งดอบายมุข ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความตั้งใจดีด้วยกันทั้งสิ้นครับ

อันที่จริงแล้ว ปีใหม่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีนะครับ ทว่าหากมองตามกฎของกาลเวลาที่เข็มนาฬิกาเดินทางตลอดนั้น เวลาได้เปลี่ยนผ่านเลื่อนไหลไปโดยตลอด

เวลาคือโอกาสในการให้เราได้กระทำสิ่งต่างๆมากมาย ในขณะที่สังขารพึงอำนวย ในขณะเดียวกันช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติแก่ชีวิต เช่น เจ็บป่วย หรือแก่เฒ่าชรา ถึงแม้ว่าความเป็นจริงเราจะยังมีเวลาอยู่บนโลกนี้ ทว่าเรากลับไม่มีโอกาสได้ทำอะไรหลายๆ อย่างดั่งใจหวังได้ ซึ่งนี่คือ "ความจริงของกาลเวลา" ครับ

ส่วนเรื่องของวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติเรียก สมมติสร้างมันขึ้นมา แต่นั่นไม่ใช่ความจริงของกาลเวลาครับ ดังนั้น สิ่งที่พึงกระทำได้ในทันทีคือหากตั้งใจแล้วจงลงมือทำ โดยที่ไม่ต้อง "รอเวลา"

อย่างไรก็ตามในเมื่อเราต้องอยู่ร่วมกันกับชาวโลกเขา บนสมมติที่ว่า นี่คือช่วงขึ้นปีใหม่ เริ่มต้นพ.ศ.ใหม่ พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ แห่ง “ร่มอารามธรรมสถาน” ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ปีใหม่ทั้งทีน่าจะถือโอกาสนี้ “ปิดบัญชีชีวิต” ของเรา เพื่อทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา

"เทียบได้จากบริษัทห้างร้านต่างๆ ในทางโลก ยังต้องมีการปิดบัญชีเพื่อคิดหากำไร-ขาดทุน ดังนั้น ในทางธรรมแล้ว ถ้าหากเราได้มีโอกาสทำอะไรที่เป็นคุณ ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น จึงควรจะทำเช่นนี้ให้มากขึ้นๆ แต่สิ่งใดที่ทำแล้วเป็นโทษ เป็นข้อผิดพลาดต่างๆ ก็จงเอามาเป็นเครื่องเตือนจิตเตือนใจ ว่าเราจะไม่ทำเช่นนั้นอีก ขอให้มันเป็นครั้งสุดท้าย อะไรก็ตามที่มันเป็นคุณเป็นสาระก็ทำในสิ่งนั้น อะไรที่มันเป็นโทษ ไม่เป็นสาระก็อย่าไปทำ"

แต่กระนั้น หลายๆคนก็ยังมีวิธีการปิดบัญชีที่ต่างออกไปจากที่พระอาจารย์ท่านได้เมตตาแนะนำครับ โดยการทึกทักนับเอาเองว่า ตลอดทั้งปี เราทำสิ่งดีๆมาทั้งหมดกี่ครั้ง และทำไม่ดีกี่ครั้ง จากนั้นก็นำมาหักลบกลบหนี้กัน ซึ่งประเด็นนี้พระอาจารย์ได่้อธิบายไว้ว่า

"ความดีก็อยู่ในกลุ่มของความดี ความไม่ดีก็อยู่ในกลุ่มของความไม่ดี จะเอามาหักลบกันแบบกำไรขาดทุนนั้นเห็นจะไม่ได้ ความดีก็ต้องไปเอาอานิสงส์ของความดีมาตอบสนอง ความไม่ดีก็ต้องไปรับวิบากกรรมของความไม่ดี ดังนั้น จะเอามาหักลบกันเช่นนี้ไม่ได้"

คุณผู้อ่านเคยคิดหรือเคยเห็นเหมือนกันไหมครับว่า การที่เราทำบุญ ๒๐ บาท เพื่อหวังหรือบนบานขอให้ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ หรือถวายยาเป็นเครื่องสังฆทานก็เพื่อจะขอให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วยนั้น ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไรนักนะครับ และต้องหันกลับมากระทุ้งเตือนกัน พระอาจารย์ชาญชัยได้อธิบายถึงเหตุแห่งวิธีคิดเช่นนี้เอาไว้ว่า

"เนื่องจากคนไม่เข้าใจในเหตุและผลว่า ทำเหตุอย่างนี้จะได้ผลอย่างไร เพราะเหตุของมันที่เป็นสิ่งนี้ ผลมันจึงเป็นแบบนี้ สิ่งที่ทำแต่ละอย่างให้ผลต่างกันในแต่ละประเภทของการกระทำ

ถวายสังฆทานก็จะได้ในอานิสงส์ของทาน เพื่อให้เรารู้จักการให้ทานไม่แร้นแค้นขัดสน ซึ่งการรักษาสุขภาพนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต่อให้ถวายยากับพระไปจนตาย แต่เรากลับไม่รู้จักรักษาสุขภาพ เสพสิ่งเสพติดเป็นนิจ บริโภคอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกาย ไม่ขยันออกกำลังกาย แล้วสุขภาพจะแข็งแรงได้อย่างไร

ดังนั้น เหตุที่ทำแต่ละอย่างจะส่งผลในแต่ละอย่าง สมมติว่าเราขยันออกกำลังกายก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ขยันฝึกพูดบ่อยๆ ก็จะทำให้เราพูดเก่งขึ้น สิ่งที่เราฝึกฝนบ่อยๆ จะทำให้เกิดความคุ้นเคย เกิดทักษะ เกิดความชำนาญในสิ่งนั้น ซึ่งเป็นผลจากการกระทำในสิ่งนั้นบ่อยๆ ดังคำพูดที่ว่า ขยันทำงาน รู้จักบริหารทรัพย์ที่มี เลือกคบคนดีเป็นมิตร ใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับอัตภาพ"


ถึงตอนนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้ช่วงโอกาสขึ้นปีใหม่ ในการปิดบัญชีชีวิตตัวเองในแต่ละปี ว่าในปีที่ผ่านมาเราทำดีอะไรไปบ้าง ปีนี้ปีหน้าเราจะต้องทำให้มากขึ้น ส่วนอะไรที่เราเคยทำไม่ดี ปีต่อไปก็อย่าไปทำอย่างนั้นอีก ซึ่งพระอาจารย์ชาญชัยได้แนะนำเอาไว้ ๓ ข้อดังนี้

๑. รู้จักให้อภัย
๒. แก้ไขสิ่งผิด
๓. เพิ่มประสิทธิคุณ


พระอาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องเพิ่มประสิทธิคุณว่า
"เราไม่เคยได้ยินคำว่า 'ประสิทธิคุณ' สอนในสถาบันการศึกษานะ เห็นมีแต่ในพระพุทธศาสนา ในสถาบันการศึกษาสอนแต่คำว่าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ทั้งที่ประสิทธิคุณคือ win-win ทั้ง ๒ ฝ่าย ผู้ประกอบการก็ได้ ผู้บริโภคก็ได้ คือไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนท่าน ดังนั้น ประสิทธิคุณคือให้ผลสำเร็จนั้นๆ เป็นคุณทั้งต่อตัวเราเองและบุคคลอื่น แต่เราไม่ค่อยตระหนักถึงสิ่งนี้

คนรวยหลายคนมีความทุกข์นะ ใจไม่ร่มเย็นเป็นสุขหรอก คนรวยหลายคนสุขภาพไม่ดี จึงเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรให้รวยอย่างมีความสุข รวยอย่างมีสุขภาพดี ดังนั้น เราจึงต้องทำให้ครบทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา

ทานจะเพิ่มความรวยให้มากขึ้น ศีลจะทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน ส่วนภาวนาจะทำให้เรามีความสุขรู้จักปล่อย รู้จักวางในเรื่องที่จิตไปยึดให้เป็นความทุกข์"


ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการจะเริ่มต้น "เปิดบิลใหม่" คือการปิดบัญชีเก่า ด้วยการทบทวนว่า สิ่งที่เราทำที่ผ่านมา ให้คุณให้โทษกับใครบ้าง เราได้เบียดเบียนอะไรไปบ้าง หลักคิดง่ายๆ คือ อะไรที่เบียดเบียนคนอื่น อย่าไปทำ อะไรที่เป็นคุณกับคนอื่นก็ให้ทำมากๆ เรียกว่า "อินทรียสังวร ๖"

อินทรียสังวร คือการมีสติสำรวมใจเป็นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ อันเป็นอายตนะภายในทั้ง ๖ ซึ่งเรียกว่าอินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่แต่ละข้อในหน้าที่ของตน

ตาก็เป็นใหญ่ในทางเห็นรูป, หูเป็นใหญ่ในทางฟังเสียง, จมูกเป็นใหญ่ในการทราบกลิ่น, ลิ้นเป็นใหญ่ในการทราบรส, กายเป็นใหญ่ในทางถูกต้องสัมผัส และมโนคือใจเป็นใหญ่ในทางคิดหรือรู้เรื่องราวทั้งหลาย กลายเป็นเครื่องกระตุกเตือนไม่ให้สิ่งเหล่านั้นก่อกิเลสให้ไหลเข้ามาท่วมใจได้

"อะไรที่ไม่ดีจะไปทำทำไม เสียงอะไรที่ไม่ดีจะไปฟังทำไม กลิ่นใดไม่ดีจะไปสูดดมทำไม คำพูดอะไรที่ไม่ดีจะไปพูดทำไม อาหารอะไรไม่ดีจะไปรับประทานทำไม เรื่องอะไรไม่ดีจะไปคิดทำไม คิดแล้วเป็นทุกข์ คิดแล้วทำให้ใจเศร้าหมอง จะไปคิดทำไม

ฟังดูเหมือนทำง่าย แต่เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ซึ่งต้องฝึก ต้องทุ่มเท ทำให้มั่นคง ทำอยู่เนืองๆ ทำเป็นนิจ กาย วาจา ใจเป็นช่องทางของการกระทำ มีความคิดเป็นหัวขบวน ความคิดจะนำไปสู่การพูด การกระทำ ถ้าเราคุมความคิดได้ ก็จะคุมการกระทำได้ แต่มันยากเพราะความคิดมันไปเร็วมาก แล้วความคิดก็มักคุ้นเคยกับช่องทางที่มันชอบคิดอยู่แล้ว

ดังนั้น ต้องอาศัยสติ คือความรู้ตัว ซึ่งต้องฝึกบ่อยๆ แต่ก็เป็นไปไม่ได้หรอก ที่จะไปรู้ทุกอย่าง เบื้องต้นทำ ๑๐ อย่างอาจจะรู้สึก ๓-๔ อย่าง แล้วค่อยๆรู้ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะให้รู้เต็มสิบมันยาก แต่คิดไปแล้วก็ให้รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดีก็หยุดคิดซะ"
พระอาจารย์ชาญชัย กล่าว

ดังนั้น หากเราสามารถควบคุมจิตใจตนเองได้ ก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ทุกอย่าง หากสามารถเปลี่ยนจิตของตนเองได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้ทุกอย่าง

หนทางที่จะไปสู่จุดนั้นได้ต้องใช้วิธีการพัฒนาจิตโดยการภาวนา โดยเฉพาะวิปัสสนาภาวนา เพื่อพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา และต้องกระทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอให้เป็นมืออาชีพครับ

"มืออาชีพต้องทำทุกวัน ทำได้ทุกสถานที่ เพราะกิเลสคือมืออาชีพ มันทำงานทุกวัน มันหลอกล่อเราสารพัด จะเอามือสมัครเล่นไปสู้กับมืออาชีพไม่ได้หรอก

ดังนั้น ต้องขยันฝึก ไม่จำเป็นต้องไปทำสมาธิให้จิตสงบ แต่ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่มากระทบกับจิต เข้าใจในธรรมชาติของสิ่งนั้น เหมือนเรายืนอยู่กลางแดด มันก็ย่อมร้อนเป็นธรรมดา หรือเราไปฟังคนปากร้าย ก็ให้เข้าใจว่าเขาเป็นคนปากร้าย เป็นธรรมชาติของเขา นิสัยอย่างนั้น เขาก็ต้องพูดอย่างนั้น คำพูดของคนบางคนเอามาเป็นสาระไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่มีสาระในการพูดอยู่แล้ว

ดังนั้น เสียงมันก็สักแต่ว่าเป็นเสียง จงอย่าให้เสียงมาทำร้ายเรา เราต้องฝึก อย่าไปรับเอาเสียงนั้นเข้ามาในทันที เพราะจริงๆแล้วเสียงทำร้ายเราไม่ได้หรอก"
พระอาจารย์ชาญชัยอธิบายความเพิ่มเติม

ดังนั้น เราควรใช้โอกาสนี้ ทบทวน ฝึกฝน กระบวนการคิดเสียใหม่ ให้เป็นไปในแนวทางที่ดี ที่ถูกต้องครับ เพราะความคิดจะเป็นตัวกำหนดทุกอย่างให้ชีวิตเรา โดยที่จะว่าไปแล้ว เราสามารถทำได้ทันที ไม่ต้องรอโอกาสปีใหม่ หรือโอกาสใดเลย

หากเราจะมองว่าโลกนี้คือสมมติ เราก็จะสามารถคิดหาวิธีที่จะดำรงชีวิตให้มีความสุขท่ามกลางสมมตินั้นได้ในที่สุด ดังวลีที่ว่า

"สมมติสู่วิมุติ"
ซึ่งทั้ง "สมมติ" และ "วิมุติ" ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความว่างด้วยกันทั้งสิ้น

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลอาจเพื่อเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกายอยู่ 
เพราะเขาละธรรม ๖ อย่าง
๖ อย่าง อย่างไรเล่า ?
๖ อย่าง คือ
ความเป็นผู้ยินดีในการงาน

ความเป็นผู้ยินดีในการคุยฟุ้ง

ความเป็นผู้ยินดีในการหลับ

ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีกันเป็นหมู่

ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะละธรรม ๖ อย่างเหล่านี้แล

บุคคลจึงเป็นผู้อาจเพื่อเป็นผู้มีปกติตามเห็นกายในกายอยู่

(มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๙๙-๕๐๐/๓๘๘-๓๙๔.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)




กำลังโหลดความคิดเห็น