xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : สมาธิภาวนาแบบหลวงปู่สิงห์ (ตอนที่ ๑ วืธีนั่งสมาธิภาวนา)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธพจน์ ในโอวาทปาฏิโมกข์ "อิธ อริยสาวโก โวสฺสคฺคารมฺมณํ กริตฺวา ลภติ สมาธึ ลภติ จิตฺตสฺเสกคฺคตนฺติ ฯ" ความว่า พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ กระทำกรรมฐาน คือนั่งสมาธิภาวนา มีการสละลงเป็นอารมณ์ย่อมได้สมาธิ ได้ความมีจิตมีธรรมชาติ เป็นหนึ่งดังนี้

วิธีนั่งสมาธิภาวนา

ท่านสอนให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาเบื้องขวาวางทับขาเบื้องซ้าย มือเบื้องขวาวางทับมือเบื้องซ้าย

"อุชุ กายํ ปณิธาย" พึงตั้งกายให้ตรง คืออย่านั่งให้ก้มนัก เป็นคนหน้าคว่ำ หน้าต่ำไม่ดี และอย่านั่งให้เงยหน้านัก เป็นคนหน้าสูงเกินไป ไม่พอดีพองาม ทั้งอย่าให้เอียงไปข้างซ้ายข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง ตั้งตัวให้เที่ยงตรงจริงๆ

อย่ากดและอย่าข่มอวัยวะร่างกายแห่งใดแห่งหนึ่งให้ลำบากกายเปล่าๆ พึงวางกายให้สบายเป็นปกติเรียบร้อย ข้อที่ตั้งกายให้ตรงนี้ พึงดูรูปพระพุทธเจ้านั่งสมาธิเป็นตัวอย่าง เมื่อนั่งตั้งตัวตรงดีแล้ว

"อุชุ จิตตํ ปณิธาย" พึงตั้งจิตให้ตรง คือ ตั้งสติลงตรงหน้า กำหนดรู้ซึ่งจิตเฉพาะหน้า ไม่ส่งจิตให้ฟุ้งซ่านไปในเบื้องหน้า อนาคตกาลอันยังมาไม่ถึง และไม่ให้ฟุ้งซ่านส่งไปในเบื้องหลัง อดีตกาลอันล่วงไปแล้ว ก็เป็นอันล่วงไปแล้ว

ทั้งไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องซ้าย เบื้องขวา ทั้งไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางใดทางหนึ่ง พึงเป็นผู้มีสติ กำหนดจิตรวมเข้าตั้งไว้ในจิต จนกว่าจิตจะเป็นเอกัคตาจิต

วิธีตั้งสติลงตรงหน้า

จิต เป็นผู้รู้โดยธรรมชาติ เป็นแต่เพียงสักว่า รู้ คือ รู้สึก รู้นึก รู้คิด รู้ร้อน รู้เย็น รู้ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง และรู้ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสถูกต้อง สิ่งสารพัดทั้งปวง ไม่รู้จักพินิจ พิจารณา วินิจฉัย ตัดสินอะไรไม่ได้ทั้งนั้น จึงเป็นอันว่า ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว ไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก

สติ เป็นตัวผู้รู้ มีอำนาจอยู่เหนือจิต สามารถรู้เท่าทันจิต และรู้เรื่องของจิตได้ดี ว่าเวลานี้จิตดี เวลานี้จิตไม่ดี ตลอดมีความสามารถทำการปกครองจิตของเราให้ดีได้จริงๆ

นักปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ พึงกำหนดเอาตัวผู้รู้มีอำนาจอยู่เหนือจิตนั้น มาตั้งลงตรงหน้าเป็นสติ ทำหน้าที่กำหนดรู้ซึ่งจิต และรวมเอาดวงจิต เข้าตั้งไว้ในจิต พยายามจนกว่าจิตจะรวมเป็นหนึ่ง ท่านจึงจะเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะพร้อมบริบูรณ์ในขณะเดียวกัน

วิธีรวมจิตเข้าตั้งไว้ในจิต

"มนสา สงฺวโร สาธุ สาธุ สพฺพตฺถ สงฺวโร สพฺพตฺถ สงฺวุโต ภิกฺขุ สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ" แปลความว่า สำรวมเอาจิต เข้าตั้งไว้ในจิตได้เป็นการดี และสำรวมระวังไม่ให้จิตฟุ้งซ่านไปในที่ทั้งปวงได้เป็นการดี ภิกษุผู้สำรวมระวังรักษารอบคอบในที่ทั้งปวงแล้วย่อมเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้

วิธีรวมจิต พึงเป็นผู้มีสติ ตั้งไว้เฉพาะหน้า กำหนดรู้ซึ่งจิต ซึ่งเป็นตัวผู้รู้โดยธรรมชาติที่รู้สึก รู้นึก รู้คิดอยู่เฉพาะหน้า
และพึงพิจารณา หรือระลึกในใจว่า พระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยสงฆ์สาวกอยู่ในใจ

เมื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของเรานี้แล้ว เราไม่ต้องกังวลวุ่นวายอะไร และไม่ต้องส่งใจไปสู่ที่อื่น เราจะต้องทำความตกลงกำหนดเอาแต่ใจของเราดวงเดียวเท่านี้ให้ได้

เมื่อตกลงดังนี้ พึงตั้งสติลงตรงหน้า กำหนดเอาตัวผู้รู้คือจิตเฉพาะหน้า นึกคำบริกรรมภาวนากรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่สบายแก่จิตของตนบริกรรมภาวนาสืบไป

วิธีนึกคำบริกรรมภาวนา

ก่อนแต่จะนึกคำบริกรรมภาวนา พึงตรวจดูให้รู้แน่เสียก่อนว่า สติได้กำหนดจิตถูกแล้วหรือยัง เมื่อรู้ว่าสติได้กำหนดจิตถูกแล้ว แต่จิตยังไม่สงบและยังไม่รวม พึงตรวจดูจิตต่อไป ว่าจิตที่ยังไม่รวมเป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะจิตของเรายังไม่ตกลงเชื่อมั่นต่อคุณพระรัตนตรัยอย่างนั้นหรือ หรือจิตของเรายังฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อะไร

ถ้าจิตของเราตกลงเชื่อมั่นต่อคุณพระรัตนตรัย ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจของเรานี้จริงแล้ว ก็เป็นอันนึกคำบริกรรมภาวนาได้แล้ว

แต่ถ้ายังไม่ตกลง และไม่เชื่อมั่นต่อคุณพระรัตนตรัย ว่ามีในใจของเราจริง ก็นึกคำบริกรรมภาวนาไม่ได้ ถึงแม้นึกไป ก็ไม่สงบ และไม่รวมเป็นหนึ่งลงได้

จำเป็นต้องพิจารณา ให้รู้รอบคอบเสียก่อนว่า จิตของเราคิดไปตามอารมณ์อะไร ในอารมณ์ที่จิตคิดไปนั้น เป็นอารมณ์ที่น่ารัก หรือเป็นอารมณ์ที่น่าเกลียด

เมื่อทราบว่า จิตของเราติดอยู่ในความรักก็ดี หรือติดอยู่ในความเกลียดก็ดี พึงทราบเถิดว่า จิตของเราลำเอียง จึงไม่ตกลง และไม่สงบ


เมื่อทราบความจริงดังนี้แล้ว พึงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบดังต่อไปนี้ คือ

ตั้งสติลงเป็นคนกลางกำหนดเอาดวงจิตเข้ามาตั้งไว้เป็นกลาง ทำความรู้เท่าส่วนทั้งสอง คือ รู้เท่าทั้งส่วนความรัก ทั้งส่วนความเกลียด ตั้งตรงแน่วแน่อยู่ที่เฉพาะหน้า

เมื่อมีสติเป็นกลาง จิตก็ย่อมเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลาง และได้ทำความรู้เท่าส่วนทั้งสอง รวมเอาจิตเข้ามาตั้งไว้เฉพาะหน้า ทั้งได้แลเห็นคุณพระรัตนตรัยแล้ว จิตนั้นปราศจากนิวรณ์แล้ว ว่างจากอารมณ์ดี นึกคำบริกรรมภาวนา บทใดบทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่สบายของตน เป็นต้นว่า “พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ๆ” ๓ จบ แล้วรวมลงเอาคำเดียวว่า “พุทฺโธ ๆ” เป็นต้น เป็นอารมณ์

นึกอยู่แต่ในใจ ไม่ออกปาก คือไม่ให้มีเสียง มีสติจดจ่อต่อจิตจริงๆ จนจิตของเราตกลงสู่ภวังค์เอง ให้หยุดคำบริกรรมนั้นเสีย แล้วมีสติตามกำหนดเอาจิตในภวังค์ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิต่อไป

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม) เป็นศิษย์ต้นๆ ที่สำคัญของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นเสมือนองค์แทนของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และเป็นยอดขุนพลเอกแห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐานภาคอีสาน เป็น ๑ ใน ๓ พระบูรพาจารย์สายกรรมฐานที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล พระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ล้วนได้ผ่านการอบรมกับท่านแทบทั้งสิ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า
“วิธีกำหนดรู้จิตตกลงสู่ภวังค์”)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย พระญาณวิสิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขันตยาคโม) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา)

กำลังโหลดความคิดเห็น