xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : สมาธิภาวนาแบบหลวงปู่สิงห์ (ตอนจบ วิธีกำหนดรู้จิตตกลงสู่ภวังค์)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเบื้องต้นนี้ จะกล่าวเรื่องภวังค์ ให้ทราบก่อน แล้วจึงจะกล่าวเรื่องวิธีกำหนดรู้ซึ่งจิตตกลงสู่ภวังค์เองให้ทราบเมื่อภายหลัง

คำว่า “ภวังค์” แปลว่า “จิตดวงเดิม” คือ จิตเมื่อแรกเข้าสู่ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาแล้ว จิตตั้งภวังค์ขึ้นเป็นตัวภพ เหตุนั้นจิตที่ตกลงสู่ภวังค์แล้ว จึงเรียกว่า จิตดวงเดิม

อนึ่ง หน้าที่ของจิตในเวลาอยู่ในภวังค์นี้ จิตมีหน้าที่ทำการสร้างภพ คือ สืบต่ออายุให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ทำการรับรู้รับเห็นในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายภายนอก มนุษย์ทุกคนเมื่อเข้าสู่ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา จิตตั้งภวังค์ขึ้นเป็นตัวภพแล้ว จึงได้เกิดเป็นชาติมนุษย์มา

ในที่นี้ประสงค์จะแสดงชื่อของภวังค์ให้ผู้ปฏิบัติได้ทราบไว้ทั้ง ๔ ชื่อ ในลำดับแห่งขณะจิตข้อ ๑-๒-๓ กับข้อที่ ๑๐ แห่งขณะจิต ๑๗ ขณะ ดังต่อไปนี้

๑. อตีตะภวังค์ จิตอยู่ในภวังค์ ปล่อยให้อารมณ์ล่วงไปเปล่าๆ ตั้งแต่ ๑ ขณะ ถึง ๑๕ ขณะจิต
๒. ภวังคจลนะ จิตเคลื่อนไหวตัว จะออกจากภวังค์
๓. ภวังคุปัจเฉท จิตขาดจากความไหวๆตัว
๔. ปัญจทวาราวัชนะ จิตออกสู่ทวารทั้ง ๕
๕. สันติรณะ จิตใคร่ครวญในอารมณ์
๖. สัมปฏิจฉันนะ จิตน้อมรับอารมณ์
๗. โวฏฐัพณะ จิตที่ตกลงจะถือเอาอารมณ์
๘. กามาพจรชวนะ จิตกามาพจร แล่นเนื่องๆกันไป ๗ ขณะจิต
๙. ตทาลัมพณะ จิตรับเอาอารมณ์ได้สำเร็จความปรารถนา
๑๐. ภวังคบาท จิตตกลงสู่ภวังค์เดิมอีก

เรื่อง ภวังค์จิต กับเรื่อง ขณะจิต ที่กล่าวมานี้ เป็นจิตของสามัญมนุษย์ทั่วไปในโลก ที่ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาเลย ก็เป็นอยู่อย่างนั้น

อนึ่ง เรื่องจิตที่ออกจากภวังค์และตกเข้าสู่ภวังค์ ดังข้อที่กล่าวแล้วในขณะจิต ๑๗ ขณะนั้น เป็นเรื่องที่จิตออกเร็ว เข้าเร็วมากที่สุด และออกอยู่ทุกเวลา เข้าอยู่ทุกเวลาที่กระพริบตา จนสามัญมนุษย์ทั้งหลายไม่สามารถตามรู้ทันได้

แม้นัยน์ตาเมื่อดูสิ่งของอันหนึ่งๆอยู่แล้ว จะส่ายสายตาไปดูสิ่งอื่นอีก จิตก็ตกเข้าสู่ภวังค์ก่อน แล้วออกจากภวังค์ จึงดูสิ่งอื่นต่อไปได้เป็นการรวดเร็ว จนเราไม่รู้สึกว่าออกเมื่อไร เข้าเมื่อไร

นักปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี้ มีความประสงค์จะทำจิตให้เป็นสมาธิ มีปัญญาปรีชาญาณ รู้แจ้งแทงตลอดในพระธรรมวินัย จึงจำเป็นต้องกำหนดให้รู้จิตที่ตกลงสู่ภวังค์เอง

วิธีกำหนดให้รู้จิตที่ตกลงสู่ภวังค์เอง พึงมีสติกำหนดให้รู้จิต ในเวลาที่กำลังนึกคำบริกรรมภาวนาอยู่นั้น ครั้นเมื่อเรามีสติกำหนดจดจ่อต่อคำบริกรรมจริงๆ จิตของเราก็ย่อมจดจ่อต่อคำบริกรรมด้วยกัน

เมื่อจิตจดจ่อต่อคำบริกรรมอยู่แล้ว จิตย่อมตั้งอยู่ในความเป็นกลาง เมื่อจิตเป็นกลาง จิตย่อมวางอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตวางอารมณ์ภายนอกหมดแล้ว จิตย่อมตกลงสู่ภวังค์เอง

เมื่อจิตตกลงสู่ภวังค์ ย่อมแสดงอาการให้รู้สึกได้ทุกคนตลอดไป คือ แสดงให้รู้สึกว่า รวม วูบวาบลง ทั้งแรงก็ดี หรือแสดงให้รู้สึกว่า สงบนิ่ง แน่ลงถึงที่ แล้วสว่างโล่งเยือกเย็นอยู่ในใจ จนลืมภายนอกหมดคือ ลืมตน ลืมตัว หรือลืมคำบริกรรมภาวนา เป็นต้น

แต่บางคนก็ไม่ถึงกับลืมภายนอก แต่ก็ย่อมรู้สึกว่า เบากาย เบาใจ เยือกเย็น เป็นที่สบายเฉพาะภายในเหมือนกันทุกคน


พระพุทธเจ้าทรงรับรองความเบากาย เบาใจนี้ เรียกว่า พระยุคคละ มี ๖ ประการ คือ

๑. กายลหุตา จิตตลหุตา แปลว่า เบากาย เบาใจ
๒. กายมุทุตา จิตตมุทุตา แปลว่า อ่อนหวานพร้อมทั้งกาย ทั้งใจ
๓. กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ แปลว่า สงบพร้อมทั้งกาย ทั้งใจ
๔. กายุชุคคตา จิตตุชุคคตา แปลว่า เที่ยงตรงพร้อมทั้งกาย ทั้งใจ
๕. กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา แปลว่า ควรแก่การกระทำพร้อมทั้งกาย ทั้งใจ
๖. กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา แปลว่า คล่องแคล่วสะดวกดีพร้อมทั้งกาย ทั้งใจ

และระงับทุกขเวทนาต่างๆ คือ ระงับความเหน็ด ความเหนื่อย ความหิวทั้งปวง ตลอดความเจ็บปวดทุกประการ ก็ระงับกลับหายไปพร้อมกัน รู้สึกได้รับความสบายกาย สบายใจ ปลอดโปร่งในใจขึ้นพร้อมกันทีเดียว

เมื่อรู้สึกดังข้อที่กล่าวมานี้ทั้งสิ้น หรือแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง พึงรู้ว่าจิตตกภวังค์แล้ว ให้หยุดคำบริกรรมภาวนาที่นึกอยู่นั้นเสีย ไม่นึกอะไรต่อไปอีก เป็นแต่ให้มีสติตามกำหนดเอาจิตในภวังค์นั้นให้ได้ คือให้กำหนดรู้ว่า จิตของเราเมื่อตกเข้าไปสู่ภวังค์แล้ว ไปตั้งอยู่อย่างไร

เมื่อมีสติกำหนดรู้แล้ว ให้มีสติขีดวงให้รอบ กำหนดเอาจิตไว้ในขอบเขตบริเวณแห่งสตินั้น จนกว่าจิตนั้นจะหดตัวละเอียดเข้าเอง และใสบริสุทธิ์เป็นหนึ่งอยู่เองตลอดประชุมอริยมรรคสมังคี เป็นเอกจิต เอกธรรม เอกมรรคอยู่เอง

เมื่อรู้ว่าจิตประชุมอริยมรรคสมังคีเองแล้ว พึงเป็นผู้มีสติตรวจดูให้รู้แจ้งว่า สติพร้อมทั้งสัมปชัญญะ และสมาธิ กับองค์ปัญญา ตลอดองค์อริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ก็ประชุมพร้อมอยู่ในอริยมรรคสมังคีอันเดียวกัน

เมื่อรู้แจ้งประจักษ์ดังกล่าวมาฉะนี้ พึงรักษาความไม่ประมาทเลินเล่อ คือ อย่าเผลอตัว และอย่าเผลอสติ ทั้งอย่าทอดธุระ ให้มีสติตามกำหนดรู้อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะรู้สึกเหนื่อย หรือได้เวลาแล้ว จึงออกจากที่นั่งภาวนาอย่างที่กล่าวมานี้ เรียกว่า “ภาวนาอย่างละเอียด”

วิธีออกจากสมาธิ

เมื่อจะออกจากที่นั่งสมาธิภาวนานั้น ให้พึงออกในเวลาที่รู้สึกเหนื่อย หรือได้เวลาออกแล้วจึงออกจากที่นั่งสมาธิภาวนา แต่เมื่อจะออกจากที่นั่งจริงๆแล้ว อย่าออกให้เร็วนัก จนเผอเรอลืมสติ ไม่ดี พึงออกจากที่นั่งสมาธิภาวนาด้วยความมีสติพิจารณาเหตุผลให้รอบคอบ ทั้งกิจเบื้องต้นและกิจเบื้องปลายก่อน คือ

กิจเบื้องต้น ให้ระลึกถึงวิธีที่เราได้เข้านั่งสมาธิครั้งแรกว่า เบื้องต้นเราได้เข้าสมาธิอย่างไร และได้ตั้งสติ กำหนดจิตอย่างไร ได้พิจารณาและนึกคำบริกรรมภาวนาว่ากระไร จิตของเราจึงสละลง และสงบจากอารมณ์ลงได้

กิจเบื้องปลาย คือ เมื่อจิตของเราสงบแล้ว เราได้ตั้งสติกำหนดจิตอย่างไร ได้พิจารณารู้จริงเห็นจริงอย่างไร ดวงจิตของเราจึงรวมเป็นหนึ่งอยู่ได้ ไม่ถอนจากสมาธิภาวนา

เมื่อพิจารณา หรือระลึกได้แล้วว่า ในเบื้องต้นเราได้เข้าสมาธิอย่างนั้น ตั้งสติอย่างนั้น กำหนดจิตอย่างนั้น พิจารณา และนึกคำบริกรรมอย่างนั้น จิตของเราจึงได้สงบ และรวมลงมาเป็นอย่างนี้

เมื่อจิตของเรารวมลงมาแล้ว เราได้ตั้งสติ กำหนดจิตอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ ได้ความรู้จริง เห็นจริงอย่างนี้ เมื่อได้ความชัดเจนแล้ว พึงทำโยนิโสมนสิการ คือ กำหนดไว้ในใจว่า ถ้าเราออกจากที่นั่งนี้แล้ว เราก็จะกำหนดจิตของเราไว้ให้ดีอยู่อย่างนี้เสมอตลอดไป ไม่ให้เผลอสติได้

ครั้นเมื่อเข้าสมาธิอีกคราวหลัง เราก็จะเข้าให้ถูกตามวิธีที่เราได้ทำมาแล้วนี้ทุกประการ เมื่อได้ทำโยนิโสมนสิการ คือกำหนดไว้ในใจดีแล้ว จึงออกจากที่นั่งสมาธิภาวนา นอนลงไปก็ให้กำหนดใจนั้นไว้จนนอนหลับ ครั้นเมื่อตื่นขึ้นจากหลับ ก็ให้มีสติกำหนดเอาไว้ในใจตลอดวันและคืน ยืน เดิน นั่ง นอน

พึงพยายามทำความเป็นผู้มีสติ กำหนดรู้ซึ่งจิตของตนเสมอจนกว่าจะชำนาญ คล่องแคล่ว ด้วย วสี ๕ ประการ คือ

๑. อาวัชชนวสี ชำนาญในการพิจารณาสมาธิภาวนา
๒. สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้านั่งสมาธิภาวนา
๓. อธิษฐานวสี ชำนาญในการตั้งสติ ทำจิตให้เป็นสมาธิไว้ให้มั่นคง ไม่ให้เคลื่อนคลาดจากที่กำหนดเดิม
๔. วุฏฐานวสี ชำนาญในการที่จะออกจากสมาธิภาวนา โดยมิให้เคลื่อนคลาดจากที่กำหนดวิธีการออก การเข้า
๕. ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาให้รอบคอบในเวลาที่จะออกจากที่นั่งสมาธิภาวนานั้น

นักปฏิบัติพระพุทธศาสนาย่อมเป็นผู้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ เหล่านี้ ครั้นเมื่อเป็นผู้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการเหล่านี้แล้ว พึงตรวจดูชั้นภูมิแห่งจิตว่า ภูมิจิตของเราเท่าที่เราได้พิจารณาเห็นว่า ชำนาญด้วยวสีทั้ง ๕ ประการนั้น ภูมิจิตได้สำเร็จอริยมรรค

ในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ พระอนุรุทธาจารย์เจ้าสอนให้บำเพ็ญวสีให้ชำนาญ โดยลำดับชั้นภูมิแห่งอริยมรรค อริยผล ดังต่อไปนี้

เมื่อชำนาญในปฐมมรรค หรือปฐมฌาณ ดีแล้ว จึงกระทำความเพียร เพื่อละเสีย ซึ่งส่วนที่หยาบ มีวิตกเป็นต้น ต่อไปจึงเข้าสู่ทุติยมรรค ทุติยผล หรือทุติยฌาณ และตติยมรรค ตติยผล หรือตติยฌาน ตลอดจตุตถมรรค จตุตถผล หรือจตุตถฌาณ โดยสมควรแก่การบำเพ็ญในข้อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบทุกประการเทอญ

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม) เป็นศิษย์ต้นๆ ที่สำคัญของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นเสมือนองค์แทนของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และเป็นยอดขุนพลเอกแห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐานภาคอีสาน เป็น ๑ ใน ๓ พระบูรพาจารย์สายกรรมฐานที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล พระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ล้วนได้ผ่านการอบรมกับท่านแทบทั้งสิ้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 157 มกราคม 2557 โดย พระญาณวิสิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขันตยาคโม) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา)
กำลังโหลดความคิดเห็น