ในการเดินจงกรมปฏิบัติดังนี้ ทำทางเดินจงกรมให้กว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๕ เมตร ปรับพื้นให้เสมอตลอดแนวทาง เพื่อเราจะได้เดินสะดวกโดยไม่มีความกังวล ในขณะที่เรากำลังเดิน หรือจะเดินอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม ก่อนเราจะเริ่มเดินจงกรมทุกครั้ง ให้เราไปยืนอยู่ที่มุมสุด ของทางเดินจงกรมด้านใดด้านหนึ่ง แล้วหันหน้าเข้ามาหาเส้นทาง แล้วให้พนมมือขึ้นในระหว่างอก หรือในระหว่างคิ้ว แล้วให้นึกอธิษฐานภายในใจดังนี้
สาธุ ข้าพเจ้าจะเดินจงกรมภาวนา เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ บูชาคุณบิดา มารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ กับทั้งผู้มีพระคุณทั้งหลาย ขอให้ข้าพเจ้าจงมีสติ มีใจอันสงบ รู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจธรรม ทั้งหลายด้วยเทอญ และกุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าเดินจงกรมในครั้งนี้ ขอจงเป็นไปในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงอย่าได้มีกรรมมีเวรแก่กันและกัน ขอให้ท่านทั้งหลาย จงได้รับส่วนบุญจากข้าพเจ้าโดยอนุโมทนาเองเถิด
เสร็จแล้วเอามือหย่อนลงตรงหน้า แล้วเอามือขวา จับหลังมือซ้าย ให้อยู่ในท่ายืนรำพึง แล้วกำหนดให้ใจได้อยู่ในความเป็นกลาง ไม่ให้ใจเอนเอียงไปหาอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจใดๆทั้งสิ้น และทำอุบายแก่ตัวเองว่า ขณะนี้ เราจะเดินจงกรม ความคิดภายนอกใดๆ ให้ปล่อยวางเสียหมด อย่าคิดขึ้นมา เพื่อให้ใจได้ไหวไปตาม เสร็จแล้วกำหนดคำบริกรรมดังนี้
• วิธีกำหนดคำบริกรรมมีดังนี้
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า พุท
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โธ
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า ธัม
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โม
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดสูดลมหายใจเข้าเองยาวๆ นึกว่า สัง
ให้ตั้งใจโดยมีสติ กำหนดปล่อยลมหายใจออกเองยาวๆ นึกว่า โฆ
ให้กำหนดทำสัก ๓-๗ ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้ เพื่อให้เป็นอุบายให้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ได้มารวมอยู่ที่ใจ ต่อไปให้กำหนดเอาเพียงพุทโธคำเดียว และให้พร้อมกันกับเดินจงกรม ดังนี้
• เดินจงกรมวิธีที่ ๑
วิธีที่ ๑ ให้ตั้งใจโดยมีสติ ก้าวขาครั้งแรกให้นึกว่า พุท ก้าวขาที่สองให้นึกว่า โธ ให้มีสติกับคำบริกรรม รู้เท่าทันกันกับการก้าวขาทุกครั้งไป ขณะใดที่เรารู้ไม่ทัน ในการก้าวขา ให้ถือว่าขณะนั้นเราเผลอสติ คือความตั้งใจไม่พอ และให้ตั้งใจใหม่ต่อไปจนกว่าจะรู้เท่าทันกัน ไม่เดินเร็วนัก ไม่เดินช้านัก คือให้เราเดินอยู่ในท่าปกติที่เราเดินไปในสถานที่ต่างๆ นั้นเอง
นี้เป็นวิธีเดินจงกรมในสมถะ คือ เอาอิริยาบถเดินเป็นนิมิตเครื่องหมาย เพื่อได้ฝึกสติและฝึกความตั้งใจ เมื่อเดินถึงที่สุดของทางเดินจงกรมแล้ว ให้หมุนตัวกลับข้างขวาทุกครั้งไป
• เดินจงกรมวิธีที่ ๒
วิธีที่ ๒ ไม่กำหนดดูในการก้าวขาในเวลาเดินจงกรม ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าเองนึกว่า พุท ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้ลมหายใจออกเองนึกว่า โธ เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสติและคำบริกรรม กับผู้รู้ และความตั้งใจ ให้อยู่ในกรอบเดียวกัน
และเพื่อความมั่นคงแน่นหนาในสมถะต่อไป ถ้าหากเรามีความเหน็ดเหนื่อยในการเดินจงกรมแล้ว เราจะยืนกำหนดคำบริกรรมก็ได้ และก็ให้กำหนดเหมือนกัน เพื่อให้อิริยาบถการยืนภาวนาได้ติดต่อ ไม่ขาดวรรคขาดตอน
• เดินจงกรมวิธีที่ ๓
วิธีที่ ๓ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้เห็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย จะเป็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ กายส่วนไหนที่เรามีความถนัดใจ เพ่งดูได้ง่ายให้กำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ เป็นนิมิตของสติ ให้สติกับผู้รู้ได้กำหนดรู้เห็นอยู่ที่กายส่วนนั้นๆ ไม่ให้เผลอ ถึงจะไม่กำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นชัดก็ตาม แต่ก็ให้กำหนดสถานที่ที่เรากำลังเพ่งดูกายส่วนนั้น ให้มีในขอบเขต เพื่อได้จำกัดสถานที่ให้ใจได้อยู่ในกายส่วนนั้นๆต่อไป
ในครั้งแรก ความไม่เคยชินในการเพ่งดูกาย ก็ให้เราสมมติกายส่วนนั้นๆว่า มีสีสันลักษณะอย่างนั้น รูปพรรณสัณฐานอย่างนั้น และตั้งอยู่ในที่นั้นๆ เมื่อเรากำหนดเพ่งดูกายส่วนนั้นอยู่บ่อยๆ ความเคยชินในการเพ่งดูก็จะติดใจ จะลืมตา หลับตา ก็รู้เห็น ติดใจ อยู่ตลอดเวลา
เมื่อเราชำนาญในการเพ่งดูกายส่วนนั้นแล้ว เราจะกำหนดเพ่งดูกายส่วนอื่นๆ ก็จะรู้เห็นอยู่สภาพเดียวกันทั้งหมด เมื่อใจเรารู้เห็นกายชัด ดังได้อธิบายมานี้ ก็จะเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี
วิธีนี้ไม่ได้กำหนดดูก้าวขา แต่ให้เอาสมมติกาย ส่วนที่เรากำหนดเพ่งดูอยู่นั้น มาบริกรรม สมมติว่า เรากำหนดดูหนัง ก็ให้คำบริกรรมว่า “ตะโจๆ” พร้อมกับการเพ่งดูหนังส่วนนั้นๆต่อไป ถ้าเราจะกำหนดให้เห็นกระดูกส่วนไหน ก็ให้คำบริกรรมว่า “อัฐิ ๆ” พร้อมทั้งเพ่งดูกระดูกส่วนนั้นต่อไป หรือให้สมมติว่า ร่างกระดูกเดินจงกรมก็ได้ นี้แล ถ้าเราได้กำหนดเพ่งดูให้ใจรู้กาย เห็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งดังได้อธิบายมานี้ ก็จะเป็นพื้นฐานของปัญญาได้ดี ส่วนการพิจารณากาย จะอธิบายในตอนท้ายเพื่อไม่ให้สับสนกัน
• เดินจงกรมวิธีที่ ๔
วิธีที่ ๔ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจ อารมณ์ภายในใจนี้จะเป็นอารมณ์ประเภทไหนก็ตาม ที่มีความปรากฏ สัมผัสภายในใจอยู่ในปัจจุบันนี้ ให้กำหนดรู้ในอารมณ์นั้นๆ เป็นนิมิตของใจ จะเป็นอารมณ์หยาบๆ ก็ให้กำหนดรู้ ในอารมณ์หยาบๆ จะเป็นอารมณ์ละเอียด ก็ให้กำหนดรู้ในอารมณ์ส่วนละเอียด จะเป็นอารมณ์ทางโลกหรือทางธรรม จะเป็นอารมณ์ที่ชอบใจ หรืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็ตาม ถ้าหากเราสลัดออกจากใจไม่ได้แล้ว ก็ต้องกำหนดรู้
แต่อย่าไปกำหนดเอาวัตถุที่ให้เกิดอารมณ์เข้ามาอยู่ที่ใจ ถ้าไปกำหนดเหตุให้ประกอบใจแล้ว ก็จะเป็นอารมณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นที่ใจได้ เพราะอารมณ์ภายในใจแต่ละอย่าง ย่อมมีเหตุเป็นแดนเกิด ฉะนั้น เราจึงมาทำความเข้าใจกับเหตุของอารมณ์นั้นให้ดี และกำหนดรู้เห็นเหตุของอารมณ์นั้นๆ ให้ชัดและจริงตามเหตุนั้น ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ตั้งอยู่ที่ไหน และให้มีสติรู้เหตุกำลังจะขยายตัวออกไปหาจุดต่างๆ เพื่อให้เหตุนั้นได้มีกำลัง
คำว่า “เหตุ” นั้น คือเหตุภายในคือใจเป็นสำคัญ เพราะใจมีเชื้อของเหตุภายใน คือความไม่อิ่มพอแก่ความต้องการในสรรพวัตถุทั้งหลาย หรือในสรรพอารมณ์ทั้งหลาย ที่ใจยังมีความต้องการ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นอาหารเดิมอาหารหลักของใจมานาน ไม่รู้ว่ากัปกัลป์ไหนๆ เกิดมาชาติภพไหน ก็มีอารมณ์ภายในใจประเภทนี้เป็นหลัก แม้ชาติปัจจุบันนี้ก็มี
อารมณ์ประเภทไฟบรรลัยกัลป์กำลังขยายตัวออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปติดเชื้อให้มาเร่าร้อนเผาใจอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่า ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่ฝังแน่นในส่วนลึกภายในใจนี้แล จึงเรียกว่าต้นเหตุของอารมณ์ภายใน
ส่วน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย เพียงเป็นสิ่งประกอบให้เหตุภายในได้พองตัวขึ้นเท่านั้น เมื่อใจได้สัมผัสเหตุประเภทใด ย่อมติดใจในเหตุนั้นๆ จนไม่ยอมที่จะปล่อยวาง และนำเอามาตรึกตรองครุ่นคิดจนติดใจ จึงเรียกว่าอารมณ์ฝังใจ
อารมณ์อยู่ที่ไหนใจก็อยู่ที่นั่น ถ้าเรากำหนดดูอารมณ์ภายในใจก็เท่ากับเรากำหนดดูใจไปในตัว ใจมีอารมณ์แห่งความโลภก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งความโกรธก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งราคะก็ให้รู้ ใจมีอารมณ์แห่งความลุ่มหลงก็ให้รู้ อารมณ์นี้เองจึงเป็นเครื่องวัดใจได้ดี
ถ้ารู้เห็นว่า อารมณ์มีที่ใจแล้ว ก็ต้องมีสติกำหนดรู้ให้เห็นใจไปในตัว อารมณ์เกิดขึ้นที่ใจได้ เราก็ต้องมีสติ กำหนดให้อารมณ์ให้อ่อนกำลังลง และดับไปได้เช่นกัน
ข้อห้ามที่สำคัญ เราอย่าส่งใจออกไปนึกถึงเหตุภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความอิจฉาพยาบาท กับใครๆทั้งสิ้น ถ้าใจไปนึกหาเหตุของอารมณ์ดังกล่าว ใจก็จะเกิดอารมณ์ที่เป็นพิษขึ้นที่ใจเอง และจะมีความเดือดร้อนเองว่า ผลของอารมณ์ที่มีในใจเป็นอย่างนี้ ให้เอาสติกำหนดเพ่งดูจุดของอารมณ์นั้นๆ ให้เห็นชัดภายในใจ ไม่นาน อารมณ์ภายในใจก็จะอ่อนกำลัง นี้เป็นอุบายวิธีที่เราหนีไม่พ้น เราก็ต้องสู้แบบตัวต่อตัวด้วยกำลังสติ จะแพ้จะชนะก็ให้รู้ดีให้รู้กันในช่วงนี้ นี่สงครามภายในก็ต้องอาศัยสติเข้าแผดเผา จดจ้องแบบไม่หนีหน้ากัน
ก่อนที่เราจะหยุดเดินจงกรมทุกครั้ง ให้เราไปยืนที่มุมสุดของทางเดินจงกรม และหันหน้าเข้ามาหาเส้นทาง พนมมืออธิษฐาน ภายในใจว่า
สาธุ ข้าพเจ้าได้เดินจงกรมภาวนา เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ในครั้งนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า พร้อมทั้งบิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดผู้มีพระคุณทั้งหลาย ทั้งเทพเจ้าเหล่าเทวา สัตว์น้อยใหญ่ เจ้ากรรมนายเวร ขอจงได้รับส่วนบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้ว ในครั้งนี้ โดยอนุโมทนาเองเทอญ
เสร็จแล้ว เดินออกจากทางเดินจงกรมโดยมีสติ เพื่อจะเข้าหาที่นั่งสมาธิภาวนาต่อไป เพื่อให้เป็นสายโซ่เชื่อมโยงต่อกันไม่ให้ขาดวรรคตอน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี)