ในการศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนานั้น เราก็ศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” นั่นเอง ธรรมะนี่เป็นหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสิ่งนับเนื่องในสิ่งสำคัญที่เรายึดถือเป็นหลักทางใจ
ธรรมะหมายถึงสิ่งที่เป็นธรรมชาติประการหนึ่ง ธรรมชาติที่มันมีปรากฏอยู่ทั่วๆไปเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ที่เราพูดกันว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เช่นว่า ปีนี้ฝนแล้ง แต่ปีก่อนโน้นฝนตกมาก เราก็พูดว่านั่นมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครจะไปกำหนดกฎเกณฑ์ลงไปได้ว่า ให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้
สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันเหนืออำนาจของคน คนเราไม่สามารถจะบังคับธรรมชาติได้ แต่ว่าเรามีหน้าที่ที่จะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ เพื่อจะได้ปรับตัวเราให้เหมาะกับธรรมชาติ หรือจะได้เรียนรู้ว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เมื่อสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมันเป็นไป เราก็ไม่ต้องทุกข์มากเกินไป เพราะเราจะคิดได้ว่า เรื่องมันเป็นอย่างธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้น
ธรรมชาตินี้ในภาษาธรรมะจริงๆนั้นเขาเรียกว่า “สภาวธรรม” ก็คือสิ่งที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันเกิดขึ้น มันเป็นอยู่ มันเปลี่ยนแปลงไป ในรูปอย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันเป็นกันอย่างไร แต่ว่ามันก็มีเหตุมีผลตามธรรมชาติ ที่จะเป็นไปตามเรื่อง
ตัวธรรมชาตินั้นมันก็มีระเบียบเหมือนกัน แต่ว่าเราไม่รู้ระเบียบของธรรมชาติ ไม่รู้ว่ามันปรุงแต่งกันอย่างไร จึงไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง จึงมักจะเกิดความทุกข์กันบ่อยๆ แต่ความจริงนั้นมันมีกฎของเขา เป็นระเบียบอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
ระเบียบของธรรมชาติที่สำคัญที่สุด ที่เราควรจะศึกษาควรจะทำความเข้าใจไว้ให้ถูกต้อง ก็มีอยู่ 3 ประการ ที่พระผู้มีพระภาคทรงค้นพบ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีเนื้อแท้ในตัวของสิ่งนั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นสัจจะ เป็นความจริง และเป็นความจริงที่จริงอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่ว่าที่ใดๆ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
ความไม่เที่ยงมันก็มีอยู่ในที่ทุกแห่ง ความเป็นทุกข์มันก็มีอยู่ในที่ทุกแห่ง ความเป็นอนัตตาก็มีอยู่ทุกแห่งเหมือนกัน อันนี้เรียกว่าเป็นระเบียบเป็นกฎธรรมชาติ ถ้าเราเรียนรู้กฎของธรรมชาติ จะช่วยให้ผ่อนคลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เช่น สมมติว่าเราเกิดอาการไม่สบายทางกาย เป็นไข้ได้ป่วย ก็เพราะว่าเราอาจจะปฏิบัติไม่ถูกตามกฎธรรมชาติ เช่นเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ บางทีมันก็หนาวบางทีมันก็ร้อน เราปรับตัวเองไม่ทันก็เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย
หรือบางทีเราก็รับประทานอะไรๆ เข้าไปในร่างกาย โดยไม่รู้ว่าในสิ่งนั้นมีอะไรเป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกายบ้าง เพราะสิ่งบางอย่างมองเห็นด้วยตาไม่ได้ บางอย่างเราก็มองเห็นด้วยตาของเราได้ ถ้าเรามองเห็นด้วยตา เราก็ไม่รับประทานเข้าไป เช่น อาหารที่เราจะรับประทาน ถ้าเรามองเห็นว่ามีสิ่งสกปรก เราก็ไม่รับประทาน แต่ถ้าเราไม่เห็นว่า สิ่งนั้นมีสิ่งสกปรก เช่น มีเชื้อโรคอยู่ในอาหาร แล้วเรารับประทานเข้าไป มันก็ติดเข้าไปกับอาหาร แล้วไปเกิดเจริญงอกงามขึ้นในร่างกาย เราก็เป็นไข้ได้ป่วย
หรือว่าเราไปในที่บางแห่งอากาศไม่บริสุทธิ์ เราก็ไม่รู้ เพราะสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศนั้น ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง เราก็สูดหายใจเข้าไป เชื้อโรคมันติดเข้าไปกับลมหายใจ เราก็เกิดเป็นไข้ได้ป่วยขึ้นมา
เมื่อใดที่เราเป็นไข้ได้ป่วย ถ้าหากว่าเราเป็นทุกข์ เช่นนอนอยู่ที่เตียงคนไข้แล้วนอนเป็นทุกข์ เรียกว่าเป็นไข้ทั้งสองอย่าง คือ “ไข้นอก” กับ “ไข้ใน” ร่างกายนั้นป่วยแล้วจิตใจเราก็ป่วยไปด้วย เพราะว่าเราเกิดความทุกข์ทางใจ เกิดน้อยเนื้อต่ำใจ หรือบางทีก็เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วก็นึกว่าเรานี่เป็นคนอาภัพอับโชค เป็นโรคอย่างนั้นเป็นโรคอย่างนี้ ไม่สบายอย่างนั้นไม่สบายอย่างนี้ ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ไปเปล่าๆ
แต่ถ้าเราเรียนรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราก็ควรจะได้เตือนตัวเองว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสิ่งทั้งหลายไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะเปลี่ยนไปเป็นคนป่วยก็ได้ แล้วมันอาจจะเปลี่ยนมาเป็นคนหายป่วยก็ได้
ในชีวิตของคนเราแต่ละคนนั้น เราเคยป่วยแล้วเราก็หายป่วย มันก็เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ในระยะชีวิตจนกว่าจะจบฉาก ไม่รู้ว่าป่วยสักกี่ครั้งกี่หน เดี๋ยวเป็นอย่างนั้นเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ปวดแข้งปวดขา ปีนี้มันปวดตรงนั้น ปีหน้ามันอาจจะไปปวดตรงโน้นก็ได้ บางทีดูแล้วก็น่าขำ เช่นว่ามันปวดอยู่ที่ข้อเท้าข้างซ้าย พอข้างซ้ายหายมันก็มาปวดข้างขวา เราก็นึกขำตัวเองว่า มันแสดงบทบาทเหลือเกิน แล้วด้านขวาหายมันก็กลับไปด้านซ้ายอีก มันแสดงไปในรูปต่างๆ มันก็คล้ายๆกับละครเหมือนกัน
ละครแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย เอาร่างกายของเราเป็นฉาก แล้วก็แสดงไปในเรื่องอย่างนั้นเรื่องอย่างนี้ ถ้าเราเป็นคนดูที่ใช้สติปัญญา บางทีก็นึกขำตัวเอง ว่าเออมันแปลกๆ ร่างกายนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดูอย่างนี้มันก็ไม่กลุ้มใจ แต่เห็นเป็นของน่าขำไป เราก็นอนป่วยไปตามเรื่อง หมอเขาให้กินยาก็กินไปตามหน้าที่ ตามคำสั่งของหมอรักษาร่างกาย
หมอรักษาร่างกายของเราได้ แต่หมอรักษาใจเราไม่ได้ เราต้องรักษาใจของเราเอง การรักษาใจนั้นไม่ใช่กินยาที่หมอสั่ง แต่เราต้องกินยาที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งไว้ ก็เอายาคือธรรมะนี่แหละมากินเข้าไป เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ เพราะเรารู้กฎความจริงของธรรมชาติ ว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
ในเรื่องภายนอกนี้ก็เหมือนกัน เช่นเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง เราได้มาแล้วบางทีมันก็หายไป บางทีมันก็มีกำไร แต่บางทีก็เกิดการขาดทุน ถ้าเราเป็นคนไม่ศึกษากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราก็มีปัญหา มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ว่าทำไมมันมาเกิดกับเราอย่างนี้
ความจริงแล้วไม่ได้เกิดแก่เราคนเดียว แต่เกิดขึ้นแก่ใครๆ ก็ไม่รู้ ถ้าเรียกคนในโลกนี้มาสัมมนาดูว่า ใครต้องผิดหวัง ใครต้องขาดทุน ใครต้องสูญเสียอะไรในชีวิตมาบ้าง มีทุกคนเลยทีเดียว อันนี้มันเป็นเรื่องความจริง
ถ้าเรามีเพื่อนฝูงมิตรสหาย เวลาเราพบปะกัน ลองคุยกันดู มีหลายคนต้องเล่าให้ฟังว่า แหมต้องสูญเสียอย่างนั้นอย่างนี้ นึกว่าจะได้เท่านั้นกลับไม่ได้ บางทีก็ขาดทุนยุบยับไปเลย พอเราได้ฟังเรื่องของเพื่อนแล้ว เราก็ว่าของฉันก็มีเหมือนกัน แล้วเราก็มาอวดกัน อวดความทุกข์ความเดือดร้อนที่มันเกิดขึ้น แล้วก็จะได้ปลงว่า ไม่ใช่เป็นแต่เราคนเดียว คนอื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน
ยิ่งเราไปอยู่ตามโรงพยาบาล เรานอนอยู่บนเตียง ข้างๆเราก็นอนกันเป็นแถวเลยทีเดียว แล้วเราก็นึกว่าไม่ได้เป็นแต่เรา คนอื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน เพราะมันเป็นระบบของธรรมชาติ ซึ่งเราหนีไม่ได้ เราจะต้องประสบพบเห็นกับสิ่งเหล่านั้น
คิดอย่างนี้แล้วมันก็ช่วยให้ใจสบาย เพราะเราเรียนรู้ในเรื่องธรรมะที่เรียกว่า ธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม
วันที่ 17 กรกฎาคม 2520)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย พระพรหมมังคลาจารย์(ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)