“กัลยาณการี กัลยาณัง ปาปการี จ ปาปกัง - ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คำพูดเพียง 8 คำนี้ เป็นคำที่เราควรศึกษาสนใจ เป็นคำที่ถ้าเข้าใจและทำตามแล้ว ก็นำความสุขความเจริญมาให้ และถ้าไม่เข้าใจ ไม่ทำตาม ก็นำความทุกข์มาให้ได้เช่นเดียวกัน
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นคำสอนที่มีทั้งเหตุผลอยู่ในตัวอย่างชัดเจน “ทำดีเป็นเหตุ ได้ดีเป็นผล” “ทำชั่วเป็นเหตุ ได้ชั่วเป็นผล” การกระทำก่อให้เกิดผลแก่ผู้กระทำ หลักนี้เป็นหลักใหญ่ เรียกว่าหลักกรรม คำว่า “กรรม” แปลว่า การกระทำ เป็นไปได้ทั้งเหตุและผล เมื่อมีการกระทำ ผลของการกระทำก็เกิดแก่ผู้กระทำ และส่งผลกว้างออกไปถึงคนอื่นด้วย
เหมือนการที่เอาก้อนหินปาลงไปในน้ำ ด้วยแรงดันของก้อนกินทำให้น้ำกระเพื่อม ทำให้ปลาในน้ำเกิดความรำคาญ ทำให้ตลิ่งพังเกิดการเสียหาย ผลเกิดทยอยกันไปตามลำดับ ในภาษาสมัยใหม่พูดว่า กิริยาและปฏิกิริยา
กิริยา คือ การกระทำ ปฏิกิริยา หมายถึง การกระทำตอบอันเป็นตัวผล เช่น เราเอาฝ่ามือทั้ง 2 ข้างตบกันเป็นกิริยา เกิดเสียงดัง เจ็บฝ่ามือ หนวกหูคนที่อยู่ใกล้เคียง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามลำดับ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เป็นอยู่ในอำนาจแห่งกรรมทั้งนั้น พ้นจากกฎนี้ไปไม่ได้เป็นอันขาด…
ในสมัยนี้มีคนจำนวนมาก มีความเข้าใจผิดจากความจริง เขาเข้าใจคำสอนที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นสิ่งที่ไม่จริง โดยอ้างว่าบางคนทำชั่ว แต่เห็นเขาร่ำรวยมีกินมีอยู่ดี บางคนเป็นคนซื่อตรงสุจริต แต่ลำบากยากจน ต้องหาเช้ากินค่ำ ความเป็นอยู่ลำบากเต็มที
เขาจึงกล่าวติหลักธรรมข้อนี้ว่า เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่เป็นจริง เพราะเขาตีความหมายผิดไปจากหลักเดิม เข้าใจว่า ได้ดีได้ชั่ว เป็นเรื่องของวัตถุเงินทอง เขาจึงเขวไปจากแนวทางของความเห็นชอบ และเมื่อเขวก็เป็นเหตุทำให้ทำผิดไปได้มาก มีตัวอย่างอยู่มากมายในสมัยนี้
ที่จริงคำสอนนี้ ท่านพูดให้ฟังอย่างง่ายๆที่สุดว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ดีกับชั่วเป็นคุณภาพของจิตใจ ต้องได้ดีเมื่อมีการกระทำ ส่วนวัตถุต่างๆนั้นมันเป็นผลพลอยได้อีกทีหนึ่ง อาจได้เร็วหรือช้า สุดแล้วแต่การประกอบ
เพราะการประกอบกรรมที่จะให้ได้ผลทางวัตถุนั้น ต้องรอเวลา ต้องรอบุคคล ต้องรอสถานที่ และต้องมีการประกอบให้ตรงกับสิ่งเหล่านี้ ถ้าพลาดไปก็ยังไม่เกิดผล และทำให้เข้าใจผิดเป็นอื่นไปก็ได้
เหมือนการปลูกต้นไม้และหวังผล ต้องรอไปหน่อย อย่าใจร้อน ถ้าร้อนใจก็เป็นทุกข์ และเป็นความเศร้าหมองแก่ตนโดยใช่เหตุ
ให้ทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ผลที่ได้ก่อนเป็นเรื่องทางใจ แล้วต่อมาก็เป็นเรื่องทางวัตถุ เช่นว่า ท่านเป็นข้าราชการไปทำงาน ถ้าท่านไปทำงานดีตลอดมา ท่านได้ความสบายแล้ว ต่อมาก็ได้เลื่อนยศขึ้นเงินเดือนสูงขึ้น ถ้าท่านขาด สาย หรือทำงานอย่างขาดตกบกพร่อง ขั้นต้นท่านก็ร้อนใจ ต่อมางานเสียหนักเข้า พอผลกรรมสุกกรอบดี ท่านก็ตกจากตำแหน่ง นี่เป็นผลที่เกิดมาตามลำดับ เป็นเรื่องจริงทั้งนั้น
จึงควรได้ตั้งไว้เป็นกฎว่า “ทำดีได้ความดีในทางใจก่อน ความดีในใจเป็นทางให้ได้วัตถุ” วัตถุที่ได้มาโดยความดีเป็นสิ่งให้ใจสบาย ใจที่สบายเป็นเหตุให้สงบ สะอาด สว่าง ส่วนทำความชั่วได้ความชั่วในทางใจก่อน ความชั่วเจริญไปก็หมดทรัพย์สิน คนหมดทรัพย์ต้องมีความทุกข์ ความทุกข์ทำให้ใจเป็นบาปและบาปหนักขึ้น
ใคร่จะแนะนำอีกสักเล็กน้อย เกี่ยวกับการทำกรรมเพื่อหวังผลแก่ตน ผู้กระทำที่มีความเชื่อในทางผลกรรมแล้วว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นเรื่องของใจก่อน ผลเป็นวัตถุเป็นสิ่งตามมาทีหลัง เป็นของแน่นอน
แต่การเป็นอยู่ในโลก เราอยู่กับคนที่มีนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน มีความคิดเห็นแตกต่างกัน การอยู่ร่วมกันต้องเรียนรู้นิสัยใจคอกันบ้าง พอให้รู้ใจว่าใครชอบอย่างไร เพื่อจักได้ปฏิบัติตนให้พอเหมาะพอควรกัน การกระทำอะไรทุกอย่างต้องเป็นไปในรูปพอดี และเหมาะแก่กาลเทศะเสมอ ถ้าขาดความพอดี ไม่เหมาะแก่กาลเทศะผลก็ไม่อำนวยให้แก่ตนได้
ฉะนั้น การทำความดีที่หวังผลทางวัตถุ ต้องเข้าใจว่า วัตถุที่คนจักพึงได้นั้น จะได้จากไหน ใครเป็นผู้อำนวยให้วัตถุอันนั้นมาบ้าง แล้วคิดต่อไปว่า คนคนนั้นเขาชอบในทางไหน ต้องหาทางเข้าถึงจิตใจของเขา แต่ไม่ทิ้งความดีของเรา
การทำความดีในบางครั้ง อาจไม่เป็นที่พอใจของคนบางคนก็ได้ เมื่อเขาไม่พอใจ เขาก็เป็นปรปักษ์กับเรา เราเองต้องได้รับความเบียดเบียนจากเขา เรื่องมันยุ่งอยู่เหมือนกัน เพราะการกระทำที่ไม่ถูกกาลและบุคคล จึงเป็นความจำเป็นต้องทำให้เหมาะแก่กาลเวลา
ผู้ใหญ่บางคนก็มีศีลธรรมดี บางคนก็ปราศจากศีลธรรม ถ้าเราอยู่ใต้บังคับบัญชาของคนที่มีศีลธรรม ก็ไม่สู้ลำบากนัก แต่ถ้าได้คนที่ขาดศีลธรรมก็เดือดร้อน จึงต้องหาทางออกให้แยบคาย อย่าทำสิ่งใดที่เขาไม่ชอบใจ
การทำดีนั้นมีหลายอย่าง เหมือนทางเดินมีหลายทาง ถ้าทำดีแบบนี้คนอื่นเขาขัดใจ เราก็เปลี่ยนทำอย่างอื่นเสียก็ได้ ถือหลักว่าอย่าขัดใจเขาและเราก็ไม่เสียคนเป็นใช้ได้
หรืออีกประการหนึ่ง การทำดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องเป็นความชอบด้วย เช่น ชอบใจผู้บังคับบัญชา ชอบด้วยตัวบทกฎหมาย ชอบด้วยเวลา ชอบด้วยภูมิประเทศ และชอบด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นความชอบ ถ้าดีกับชอบมารวมกันเมื่อใดผลก็จะเกิดขึ้นทันที
จงคอยดูคนที่เขาก้าวหน้าในทางงาน เขาต้องมีความดีส่วนตนอยู่ก่อน เช่น มีความรู้ดี มีความประพฤติดี เมื่อมีความดีอย่างนี้แล้วก็พยายามเข้าหาเจ้านายไว้บ้าง ทำดีชนิดที่นายชอบให้เหมาะแก่โอกาส เขาก็เป็นที่คุ้นเคยกับนาย เวลาจะเลื่อนคนเลื่อนเงิน เป็นธรรมดานายจะต้องนึกถึงคนใกล้ และคนที่รู้จักก่อนเสมอ
เรื่องนี้เป็นธรรมดาของโลก หนีไม่พ้น คนอยู่ในโลกต้องเรียนรู้ไว้บ้าง แต่คนใดที่ทำดีไปฝ่ายเดียว โดยไม่ทำให้เป็นที่ชอบใจนาย ไม่เป็นที่รู้จักของนาย ทางเดินมันตันบ่อย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะใช้ธรรมะไม่ถูกกาลเทศะนั่นเอง จึงขอฝากความคิดนี้ไว้ด้วย
ส่วนบุคคลที่กระทำความดีโดยหวังเอาความดีแท้ๆ นั่นไม่มีปัญหาอะไร เขาจักต้องได้ความดีตอบแทนเสมอ คนเช่นนี้แหละเป็นคนนำความสงบสุขมาสู่โลก
ว่ากันตามความจริงแล้ว ควรทำดีเพื่อความดี ทำงานเพื่องาน อย่าไปหวังผลอะไรจากสิ่งนั้น ปล่อยให้ผลมันเกิดขึ้นเองตามเรื่องของมัน เราเองมีหน้าที่แต่เพียงกระทำเท่านั้น เมื่อทำกิจเสร็จแล้วก็เป็นอันหมดเรื่องกัน อย่างนี้ใจสบาย ความทุกข์ไม่เกิดเพราะต้องการอะไรแล้วไม่ได้สมหวัง
เรื่องของกรรมเป็นหลักสำคัญมาก เป็นกุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาของชีวิต ถ้าเราหมั่นศึกษาสนใจก็มักมองเห็นเหตุผลอย่างแจ่มแจ้งว่า ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งมวล เป็นสิ่งเนื่องมาจากกรรมของตนเองทั้งนั้น
เราเองเป็นผู้สร้างโชคชะตาของชีวิตให้แก่ตนเอง อนาคตของชีวิตขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบัน การเป็นอยู่ในปัจจุบันก็เนื่องมาเป็นลำดับโดยการกระทำของเราเอง หาใช่โดยการกระทำของใครๆในที่ใดไม่ คนที่มีความเชื่อในเรื่องกรรม ย่อมไม่มีการลงโทษคนอื่น แต่จักลงโทษตนเองฝ่ายเดียว
เขาจักคิดว่า เป็นความผิดของตนเองเท่านั้น คนอื่นเป็นแต่เพียงตัวประกอบ หาใช่ตัวการสำคัญไม่ การแก้ไขเหตุร้ายของชีวิต ก็หันมาแก้การกระทำของตนเอง ไม่เที่ยวแก้ไขเหตุการณ์ภายนอก ผลของกรรมที่เกิดแก่ผู้กระทำนั้น เกิดขึ้นเองเพราะแรงดันของกรรม ไม่มีอะไรสิ่งใดมาอยู่เหนือกฎของกรรมอีก
(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย พระพรหมมังคลาจารยฺ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)