ถึง...ตุลย์....ลูกรัก
เงินที่ลูกฝากมาให้แม่เพื่อทำบุญหล่อพระอัครสาวกนั้น แม่เขาได้รับแล้ว การที่ลูกทำบุญครั้งนี้ด้วยประสงค์จะให้ตนเองมีบริวารที่ดี นี่ก็เป็นความเชื่อของคนไทยที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนา
พ่อเชื่อว่าการทำบุญแบบนี้ย่อมอำนวยผลให้จิตใจเบิกบานในขณะที่ลูกได้ทำหรือระลึกได้ อานิสงส์ที่จะทำให้ได้บริวารที่ดีนั้นก็อาจจะมีอยู่ แต่เราไม่มีทางทราบได้เลยว่าจะเป็นเวลาไหน
ความจริงพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ ที่เราได้สัมผัสอยู่ในปัจจุบัน ทรงสอนให้เรามีความระลึกอยู่เสมอว่า เราทำหน้าที่อะไร เราอยู่ในฐานะอะไร เราเป็นส่วนไหนของสังคมที่เราเกี่ยวข้อง เพราะเมื่อทราบเช่นนั้น เราย่อมรู้ถึงสิ่งที่ควรทำในขณะนั้น เพื่อให้กิจการงานสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่การทำงานย่อมต้องอาศัยกำลังของคนหลายคนตามหน้าที่ ฐานะ เพื่อสอดประสานแรงกายแรงใจให้งานสามารถดำเนินไปได้ตามวัตถุประสงค์ หัวหน้างานก็ปรารถนาได้ลูกน้องที่มีศักยภาพในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลูกน้องก็ปรารถนาจะได้หัวหน้างานที่มีศักยภาพในการสั่งการให้งานบรรลุประสิทธิผล
ดังนั้น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหัวหน้างานกับลูกน้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ บรรลุประสิทธิผล ตามวัตถุประสงค์ของงาน
พ่ออยากให้ได้ลูกพิจารณาถึงหลักธรรมที่ทำให้คนเป็นหัวหน้างานที่มีลูกน้องรักและให้ความเคารพเชื่อมั่นในการนำของเขา ดังเรื่องของหัตถกอาฬวกอุบาสก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ที่เป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งปวง ด้านการสงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔
โดยสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ใกล้เมืองอาฬวี หัตถกอุบาสก ซึ่งมีชายหนุ่มประมาณ ๕๐๐ คนแวดล้อม ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ก็ตรัสถามว่า หมู่ชนของท่านเป็นหมู่ใหญ่ ท่านสงเคราะห์หมู่ชนนี้อย่างไร
หัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีกราบทูลว่า ได้สงเคราะห์หมู่ชนตามสังคหวัตถุ ๔ ประการ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ คือ
เมื่อรู้ว่า ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยทาน ก็สงเคราะห์ด้วยทาน
ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน ก็สงเคราะห์ด้วยวาจาอ่อนหวาน
ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สงเคราะห์ด้วยการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์
ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอ
พระพุทธองค์จึงตรัสบอกว่า หัตถกะทำถูกแล้ว เพราะใครๆก็ตามที่สงเคราะห์หมู่ชนในอดีตกาล ในอนาคตกาล และในปัจจุบันกาล ก็ล้วนแต่สงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการนี้
และเมื่อพ่อมาพิเคราะห์จากเนื้อความ เทียบกับประวัติของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็พบว่า เป็นความจริงอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ท่านเหล่านั้นล้วนมีสังคหวัตถุ ๔ สำหรับเหนี่ยวรั้งจิตใจของผู้อื่นไว้กับตนได้ ลูกคงสังเกตเห็นหัวหน้างานที่ลูกน้องรักนับถือ ก็จะปฏิบัติสังคหวัตถุธรรมนี้เป็นประจำ
สังคหวัตถุธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล เป็นหลักการครองใจคน หลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อันมีหลักปฏิบัติอยู่ ๔ ประการ คือ ๑. ทาน การให้ ๒. ปิยวาจา การพูดจาด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ๓. อัตถจริยา การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๔. สมานัตตตา ความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย
เราจะปฏิบัติธรรมทั้ง ๔ นี้อย่างไรจึงจะให้ผลเป็นสังคหวัตถุธรรม พ่อจะอธิบายให้ลูกเข้าใจ ดังนี้
“ทาน” การให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทน ความเสียสละ การเอื้อเฟื้อแบ่งปันของของตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว
เราควรคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้ นี่ก็จะทำให้เรารู้จักปฏิบัติตนเป็นผู้ให้ทานแก่ผู้อื่นอยู่เป็นประจำ
แต่การให้ทานจะเหนี่ยวรั้งจิตใจคนอื่นได้ ต้องทำอย่างที่หัตถกอุบาสกบอกไว้ว่า “ผู้นี้ควรสงเคราะห์ด้วยทาน ก็สงเคราะห์ด้วยทาน” คนที่มีความประสงค์จะได้รับทาน เมื่อได้รับทานตรงตามความประสงค์ก็จะเกิดความปลื้มใจและสำนึกในบุญคุณของผู้ให้ทาน ปรารถนาจะตอบแทนบุญคุณนั้นตามวิสัยของกตัญญูกตเวทิตาชน อันเป็นเครื่องหมายของคนดี
ทานนั้นจำแนกเป็น ๒ อย่างได้แก่ ๑. อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นทาน บางครั้งลูกน้องเรามีความประสงค์จะได้วัตถุสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงาน แต่ไม่มีความสามารถพอที่จะได้สิ่งนั้น ถ้าเราสามารถอนุเคราะห์ได้โดยตนเองไม่เดือดร้อน ก็ควรจะอนุเคราะห์แก่เขาเป็นทาน
แม้ที่สุดในยามที่เขาขัดสนเงินทองเพื่อครอบครัว ก็ควรสงเคราะห์เขาตามกำลังของตน วัตถุที่ให้เป็นทานนั้น ถ้าให้ของที่ด้อยกว่าตนเองใช้ ลูกน้องก็อาจจะปลื้มใจบ้าง ถ้าให้ของที่เสมอกับตนเองใช้ ลูกน้องก็อาจจะปลื้มใจมากขึ้น ถ้าให้ของที่ดีกว่าที่ตนเองใช้ ลูกน้องก็อาจจะปลื้มใจมากขึ้นอีก นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
ถ้าลูกให้ทานแบบเจาะจงลูกน้อง ลูกอาจจะพบปัญหาในการทำงานได้ แต่ถ้าลูกให้วัตถุทานที่ดีเป็นรางวัลแบบสังฆทาน ก็จะทำให้ลูกน้องรู้ถึงความเสมอภาคในการปกครองของลูก
๒. ธรรมทาน คือการให้ความรู้ ให้ความถูกต้องดีงามเป็นทาน การให้คำแนะนำสั่งสอน บอกศิลปวิทยาที่ดีมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ที่ลูกน้องสามารถนำไปพัฒนางานและชีวิตของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พ่ออยากจะให้รวมถึงการให้อภัยทานแก่ลูกน้องในยามที่เกิดความผิดพลาดในงานด้วย คนเราไม่มีใครอยากทำงานผิดพลาดเลย ยกเว้นเกิดเหตุสุดวิสัยเท่านั้น หน่วยงานที่ล้มเหลวก็เพราะหัวหน้างานไม่รู้จักอภัยทานนี่เอง
“ปิยวาจา” การพูดจาด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน การพูดเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้น วิธีการที่จะพูดให้เป็นปิยวาจานั้น มีลักษณะการพูดดังนี้ ๑. ต้องเป็นคำจริง เมื่อมีเหตุสำคัญที่ต้องพูด ก็กล่าวโดยไม่ปั้นแต่งเรื่องราว ไม่เสริมความ ไม่ทำความให้คลาดเคลื่อนจากความจริง ๒. ต้องเป็นคำสุภาพอ่อนโยน เมื่อเอื้อนเอ่ยวาจาครั้งใด ก็ต้องมีความไพเราะในถ้อยคำที่กลั่นออกมาจากน้ำใจอันบริสุทธิ์ ไม่มีคำหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี ซึ่งฟังแล้วชวนให้ระคายหู
๓. ต้องเป็นถ้อยคำที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีต่อผู้พูดและผู้ฟังอย่างแท้จริง แม้คำพูดนั้น จะเป็นคำจริง และกล่าวออกไปด้วยถ้อยคำสุภาพ หากไตร่ตรองแล้วว่า ถ้าพูดออกไปแล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ กลับจะทำให้เกิดโทษมาแทน ก็ไม่ควรพูด ๔. ต้องเป็นถ้อยคำที่ออกมาจากจิตที่มีเมตตา อันเป็นจิตบริสุทธิ์ ยังประโยชน์แก่ผู้ฟัง เพื่อให้ได้รับความสุข ความเจริญยิ่งๆขึ้นไป ถึงแม้ว่าคำพูดนั้นจะเป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่ดีมีประโยชน์ หากผู้พูดมีความโกรธ ความริษยา ซึ่งเป็นจิตอันไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่สมควรพูด เพราะถ้อยคำที่กล่าวออกมาจากจิตที่ขุ่นมัว อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้
๕. ต้องเป็นถ้อยคำที่พูดถูกกาลเทศะ แม้คำพูดนั้นจะเป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่ดี มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่มีเมตตา แต่ถ้าพูดผิดจังหวะโอกาส พูดไม่ถูกกาลเทศะ ก็จะก่อให้เกิดความเสียหาย กลายเป็นประจานผู้อื่นไป
ปิยวาจาจึงเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจคนได้เป็นอย่างดี ลูกคงจำเรื่องโคนันทวิศาลที่พ่อชอบเล่าให้ฟังได้นะ เพราะการพูดจาไม่ดีของเจ้าของโค จึงทำให้เขาเสียทรัพย์มากมาย และด้วยการพูดดีจึงทำให้โคนันทวิศาลมีกำลังใจในการลากเกวียนจำนวนมาก นำให้เจ้าของได้เงินคืนมาเป็นสองเท่า
รู้ไว้นะลูก..ไม่มีลูกน้องคนไหนชอบหัวหน้างานที่ปากร้ายเลย จงจำไว้ว่า ก่อนพูด เราเป็นนายของคำพูด แต่หลังพูด คำพูดจะเป็นนายของเรา ดังนั้น ปิยวาจาจึงเป็นการพูดที่ต้องไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ครองใจคนได้อยู่เสมอ
ต่อมาคือ “อัตถจริยา” การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จำแนกได้เป็น ๒ ประการคือ ๑. ช่วยขวนขวายในกิจการเป็นประโยชน์ เช่น ในหน่วยงานของลูก ทุกคนต่างก็ต้องทำงานในหน้าที่อยู่แล้ว แต่งานนั้นอาจจะมีช่องว่างที่ต้องการสนับสนุนให้ทุกงานสอดประสานกัน ลูกก็พึงช่วยงานในส่วนนั้นตามกำลังความสามารถ ไม่นิ่งดูดาย ๒. ชักชวนให้ประพฤติดี คือคอยตักเตือนลูกน้องให้รู้จักความรับผิดชอบชั่วดี ไม่ให้เขาประพฤติไม่ดีในงาน
อัตถจริยานี้จะทำให้เราเป็นคนไม่นิ่งดูดายในงานของส่วนรวม ไม่ละเลยเพิกเฉยในกิจที่ควรทำ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานมีความพร้อมเพรียงกันในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่เป็นเหตุเหนี่ยวรั้งให้คนร่วมกันทำงานอย่างมีน้ำใจต่อกันอยู่เสมอ
สุดท้ายคือ “สมานัตตตา” ความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติตนเหมาะสมกับภาวะที่ตัวเป็น ควรแก่ฐานะ หน้าที่ ให้ความเป็นกันเอง ไม่ถือเนื้อถือตัว แต่ไม่ปล่อยตัวจนเกินงาม เป็นบุคคลที่ใครก็เข้าหา พูดจาด้วยง่าย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว จำแนกได้เป็น ๒ ประการ คือ
๑. มีตนเสมอในบุคคล ต่อท่านผู้ใหญ่ หัวหน้า ผู้ที่เคารพนับถือ เคยแสดงความเคารพนับถือเช่นไร ก็ปฏิบัติเช่นนั้นเสมอต่อท่าน ไม่มีลดน้อยจืดจาง ไม่อวดหยิ่ง ต่อเพื่อนญาติมิตร ก็ปฏิบัติให้สมควรต่อฐานะ ไม่ทำตัวแข็งกระด้าง ก้าวร้าว มีความคิดเห็นก็ปรับประสานให้สอดคล้องกับหมู่คณะ ต่อลูกน้องบริวาร ก็ไม่ทำตนให้ตั้งอยู่ในฐานะกดขี่บังคับ ทำตนเสมอเพื่อนร่วมงาน มุ่งผลให้งานได้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความสัมพันธ์ที่เคยมีอยู่ต่อกันก็รักษาให้เป็นไปตามหน้าที่
๒. มีตนเสมอในธรรม ประพฤติตนให้อยู่ในกรอบจารีตประเพณี กฎหมาย ระเบียบบริษัท ไม่ฝ่าฝืนล่วงละเมิด รักษากฎเกณฑ์ที่ดีงามของหมู่คณะให้ดำรงอยู่สืบไป สมานัตตตาจึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวบุคคลเข้าไว้เป็นหมู่คณะ นำสามัคคีในการทำกิจกรรมให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ
เมื่อลูกปฏิบัติตนตามหลักสังคหวัตถุธรรมนี้แล้ว ลูกจะได้สัมผัสถึงการอุดหนุนช่วยเหลือกันของคนที่ได้รับอานิสงส์ของสังคหวัตถุธรรมนี้ สุขในการอยู่ร่วมกันจะบังเกิดขึ้นอยู่เสมอ ชีวิตย่อมจะดำเนินไปธรรมชาติของแต่ละบุคคล
สังคหวัตถุธรรมเป็นประดุจเชือกที่เหนี่ยวรั้งจิตใจทุกชีวิตให้มาก้าวเดินพร้อมกันไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน เปรียบทุกชีวิตเหมือนล้อรถ สังคหวัตถุธรรมก็เป็นดุจหมุดสกัดล้อไม่ให้หลุดจากเพลารถ ท่านผู้มีบริวารมากมายในอดีตจนถึงปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต ล้วนแต่ต้องบำเพ็ญตามหลักของสังคหวัตถุธรรมนี้จนเป็นนิสัย
อานิสงส์แห่งการหล่อพระอัครสาวกจะให้ผลเมื่อใด พ่อก็ไม่ทราบ แต่การปฏิบัติตนตามหลักสังคหวัตถุธรรมนี้ ย่อมนำให้ลูกมีบริวารได้มากมายตามปรารถนา และเห็นผลได้ในเวลาไม่นานนัก
พ่อหวังว่า ลูกจะปรับประยุกต์หลักสังคหวัตถุธรรมให้เหมาะสมกับการทำงานอยู่เสมอ ความสำเร็จที่ปรารถนาจะเป็นของลูกตลอดไป
ด้วยรัก
พ่อโต
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย พระครูพิศาลสรนาท(พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)