xs
xsm
sm
md
lg

การชุมนุมที่ถูกมองจากมุมสูง / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
“เมื่อช่องทางทางการเมืองคับแคบ...การเลือกตั้งต้องลงทุน ต้องมีพรรค ยากเหลือเกินที่เครือข่ายประชาชนจะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์แห่งตนได้...จำเป็นเหลือเกินที่ต้องใช้ทางเลือกนี้ (การชุมนุม)...เราคงไม่ได้ทั้งร้อย แต่จะไม่ยอมเสียทั้งร้อยเช่นกัน...ประเทศชาติไม่ได้เดินห่างจากเราออกไปหรอก  เราต่างหากที่ขยับตัวถอยห่างออกไป มองภาพรวมแล้วรู้สึก “ทุเรศ” กับแนวทางการบริหารจัดการปัญหาของรัฐ...”
 
“ผู้บริหารเสนาบดีไม่ต่างอะไรกับพวกบ้าใบ้ ตาบอด หูหนวก กลุ่มสมุนหมารับใช้ที่พกพาอาวุธและถือกฎหมายก็ไม่ต่างอะไรกับพวกฆาตกร พวกหัวขโมย บวกกันแล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร? สถานการณ์วันนี้มีแต่จะทำให้ระยะห่างระหว่างรัฐ และเกษตรกรมีมากขึ้นไปอีก และคงทำให้เกิดเงื่อนไขการจัดตั้ง “กองกำลังติดอาวุธ” เพื่อรักษาความปลอดภัยขึ้น และเมื่อถึงจุดนั้นแล้ว คงจะยากที่จะหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ...อะไรจะเกิดก็เกิดครับ”
 
วันนี้ไม่มีอารมณ์นิ่งพอที่จะเขียนบทความเหมือนทุกๆ อาทิตย์ที่ผ่านมา เปิดเข้ามาอ่านกล่องข้อความที่เป็นข้อคิดเห็นของพี่ๆ ที่เคารพรัก ขออนุญาตนำมาเสนอ และคิดว่าพอจะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ของบ้านเมืองขณะนี้
 
“ไม่อยากเห็นการชุมนุมของพี่น้องเรียกร้องแค่การชดเชยราคาผลผลิต แต่น่าจะมีข้อเรียกร้อง “เชิงนโยบาย” เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย...ไม่ว่าใครจะขึ้นมาบริหาร รัฐต้องมีนโยบายในทำนองนี้ และต้องนำไปบริหารให้ได้...”
 
อีกหนึ่งข้อคิดเห็นจากรุ่นพี่อีกคน ที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากลูกชาวบ้าน การได้มีโอกาสจากระบบการศึกษา ที่ทำให้มีโอกาสทางสังคม ทำหน้าที่ในหน่วยงานราชการอย่างขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต ก้มหน้าก้มตาสร้างชีวิตครอบครัวภายใต้การดูแลจากหน่วยงานของรัฐ และเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงาน ตำแหน่งสุดท้ายเทียบเท่ารองอธิบดี เท่าที่รู้จักกันมา พี่เขาหยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นข้าราชการของรัฐ และสำนึกในหน้าที่ ข้อคิดเห็นของเขาจึงมีคุณค่าสูงเสมอสำหรับคนทำงานทางสังคมตัวเล็กๆ
 
“ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกผลผลิตด้านการเกษตร จำเป็นที่รัฐจะต้องคิดค้นนโยบาย มาตรการ และแผนงานที่สร้างคุณค่าให้แก่ประเทศได้อย่างยั่งยืนและถาวร...ไม่ใช่ “การบริหารแบบสิ้นคิด” หรือ “บริหารแบบคิดสั้น” อัดเงินลงไปไล่ซื้อ เพียงหวังแค่แก้ปัญหาไปวันๆ ซึ่งเปรียบเสมือนการแก้ปัญหาระยะสั้น แล้วสร้างกองปัญหาใหม่ที่ยากกว่า...”
 
“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาของทุกรัฐที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาราคาพืชผลด้านการเกษตรของไทยตกอยู่ในมุมอับ ราคาที่รัฐซื้อในประเทศสูงกว่าในราคาที่ขายออก รัฐต้องเสียเงินเป็นแสนล้านบาทต่อปี เพียงเพื่อสร้างความพอใจให้เกิดแก่เกษตรกรที่เป็นฐานเสียง...”
 
“คำถามคือ วันข้างหน้าประเทศเราจะตกอยู่ในภาวะ “รัฐล้มละลาย” หรือไม่ อย่างไร...วันนี้เราในฐานะประชาชนไทยจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร ประเทศมีประชาชน...ประชาชนมีเครือข่าย...ประชาชนมีความต้องการ...พรรคการเมืองต้องรับใช้ประชาชน เพราะใช้ภาษีของประชาชนในการบริหาร...เครือข่ายประชาชนกำหนดนโยบายให้พรรคการเมืองนำไปใช้ในการบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น...”
 
“พรรคไหนรับนโยบายได้เราเลือกพรรคนั้น เมื่อรับแล้วไม่นำไปปฏิบัติเราก็ยื่นถอดถอน...รัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้...เราต้องไม่ยอมให้พรรคใดพรรคหนึ่งมาผูกขาดอำนาจของเรา แล้วเอาอำนาจนั้นไปเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง และพี่น้อง”
 
การชุมนุมเพื่อบอกให้สังคมวงกว้างได้รับรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ออกมาแก้ไขปัญหา เป็นเพียงเครื่องมือชนิดเดียวที่คนข้างล่างของสังคมพอจะมีอยู่ในมือในขณะนี้ แต่ผมยืนยันได้ว่า ทุกปัญหาของเกษตรกร หรือการชุมนุมต่างๆ ที่ลุกขึ้นมานั้น ก่อนที่จะมาถึงจุดที่ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การชุมนุม” นั้น ไปตามไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ดูได้เลย นักวิชาการ สถาบันการศึกษาทั้งหลายลองลงไปศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลได้เลย
 
ผมยืนยันว่า ทุกกรณีปัญหา กลุ่มต่างๆ หรือชุมชนต่างๆ ได้พยายามกันเลือดตาแทบกระเด็นในการใช้ช่องทางทุกช่องทางที่เป็นแนวทางที่สงบและสันติ ไม่ว่าการเข้าพบผู้บริหาร การยื่นข้อเรียกร้อง การทำข้อเสนอและทางออก การเข้าพบหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ แต่ทุกกรณีของเครื่องมือที่สงบ และสันติของประชาชน ไม่เคยได้รับการตอบสนอง และเหลียวแลแทบทั้งสิ้น การชุมนุมจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายทุกกรณี ขอยืนยัน...
 
แต่การชุมนุมก็มักตกเป็นเหยื่ออันโอชะเสมอ ทั้งจากสื่อมวลชนที่เป็นสมุนของเหล่าทุนที่จะได้รับผลกระทบจากการลุกขึ้นมาชุมนุมของประชาชน และหน่วยงานของรัฐที่มองการปกครองเพียงการกำราบให้ประชาชนอยู่ในโอวาท เชื่อง และทำตามที่เขากำหนด โดยไม่มองถึงข้อเท็จจริง ตามที่เป็นจริงด้วยสายตาที่เป็นธรรม
 
“ไม่อยากเห็นการชุมนุมของพี่น้องเรียกร้องแค่การชดเชยราคาผลผลิต แต่น่าจะมีข้อเรียกร้อง “เชิงนโยบาย” เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย...”
 
เป็นข้อเสนอที่แม้จะสะดุดใจ และเป็นข้อเสนอที่สำคัญ ที่มองจากคนเสมือนอยู่ห่างไกลสภาพปัญหาจริงในพื้นที่ ซึ่งในความเป็นจริงการขับเคลื่อน หรือการเคลื่อนตัว เพื่อแก้ไขปัญหาของตัวเอง ของชุมชน หรือสาขาอาชีพ ไม่ว่าที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคม การเมือง หรือสิ่งแวดล้อม ทุกการเคลื่อนไหวทุกการขับเคลื่อนในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ล้วนมีข้อเรียกร้องเชิงนโยบายทั้งสิ้น
 
บางกรณี เช่น กรณีเรื่องที่ดิน กรณีการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง กรณีการคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ ต่างมีความพยายามถึงขั้นระดมกันใช้ช่องทางของกฎหมายของรัฐธรรมนูญ ยกร่างกฎหมาย ล่ารายชื่อกันเป็นหมื่นๆ แสนๆ รายชื่อ เพื่อใช้ช่องทางที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ล้วนต่างหวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามกฎ และกติกาสูงสุดของบ้านเมือง อย่างสงบ และสันติ
 
แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ การลงแรงที่สูญเปล่าในแทบทุกกรณี กระดาษการยกร่างกฎหมาย เอกสารรายชื่อหมื่นๆ แสนๆ ฉบับ ตกอยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากกระดาษชำระในห้องน้ำของรัฐสภาเท่านั้น.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น