xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกหลังผ่าตัด...เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วย

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาผมเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ปกติเวลาที่ผมเจ็บป่วยมักจะเริ่มต้นจากการซื้อยากินเอง อาการไม่ดีขึ้นก็ไปพบแพทย์ ก่อนรับยาไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง แต่สำหรับครั้งนี้ถือว่าเป็นการนอนโรงพยาบาลครั้งที่สองในชีวิต โดยได้ใช้สวัสดิการประกันสังคมที่นั่น

เท่าที่จำความได้ ผมนอนโรงพยาบาลครั้งแรกเป็นของรัฐในตัวจังหวัด ช่วงนั้นเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมปลาย ใช้สวัสดิการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หมอก็ตรวจโรคแบบส่งๆ ก่อนที่จะให้ไปรับยาซึ่งอยู่อีกอาคาร ทันใดนั้นผมรู้สึกวูบจะเป็นลม โชคดีที่แม่ผมผ่านมาเห็นแล้วประคองผมขึ้นมา ด้วยความเป็นแม่ก็ตำหนิหมอและพยาบาลที่ไม่ดูแลให้ดี

ตอนหลังผมถูกแพทย์อีกคนหนึ่งวินิจฉัยอาการ ก็พบว่าผมเป็นไข้ไทฟอยด์ ผลก็คือต้องนอนให้น้ำเกลืออยู่ที่โรงพยาบาลนานเป็นสัปดาห์ กว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ ช่วงนั้นโครงการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ยุคแรกๆ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าหมอรักษาแบบขอไปทีแล้วจ่ายแค่ยาแก้ปวด หรือไม่ก็ได้ยาคุณภาพไม่ดี

เมื่อผมโตขึ้น มีชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน แน่นอนว่าเงินเดือนที่ได้รับจะต้องถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทีแรกอาจคิดว่าเราจะหักประกันสังคมไปทำไม หักไปแล้วโรงพยาบาลที่เลือกไว้ก็ไม่ได้ใช้ บางบริษัทมีประกันสุขภาพแก่พนักงานอยู่แล้ว บางคนถึงกับมองว่าคนไข้ประกันสังคมโรงพยาบาลดูแลไม่ดี สู้คนไข้ที่ทำประกันชีวิตไม่ได้

แต่เมื่อต้องเข้าโรงพยาบาล ผมก็คิดอยู่เสมอว่ามันช่วยประหยัดรายจ่ายได้จริงๆ เพราะเดี๋ยวนี้ผมเชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนหลายคนไม่มีเงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน หากต้องเข้าโรงพยาบาลเฉพาะโรคเล็กๆ น้อยๆ ค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์ เสียเงินเองก็หลักพันบาท แต่เมื่อใช้สวัสดิการประกันสังคม หลังรับยาแล้วก็กลับบ้านได้ ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

เครือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเริ่มหันมาจับกลุ่มลูกค้าประกันสังคม นอกจากเน้นลูกค้าระดับบน เพราะในยามเศรษฐกิจซบเซา รายได้จากกลุ่มนี้จะช่วยหล่อเลี้ยงให้กิจการอยู่รอด มีทั้งโรงพยาบาลต้นแบบอย่างโรงพยาบาลมหาชัย 3 หรือเครือโรงพยาบาลวิภาวดี ก็มีโรงพยาบาลวิภาราม ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างที่นิคมฯ อมตะนคร และสมุทรสาคร

กลับมาที่อาการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเมื่อไม่นานมานี้ แพทย์วินิจฉัยผมว่าเป็น “โรคฝีคัณฑสูตร” ซึ่งก็คือฝีที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อุจาระ และของเสียหมักหมมเกิดเป็นฝีหนอง ที่ผ่านมาก็มักจะเป็นๆ หายๆ แต่ไม่หนักขนาดนี้ คิดว่าอาจจะเกิดจากการเข้าห้องน้ำที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะส้วมชักโครกที่มีเพียงแค่กระดาษชำระ

ฝีที่ผมเป็นเกิดขึ้นในช่วงที่ไปสัมมนาต่างจังหวัด ซึ่งโรงแรมที่พักไม่มีสายชำระ (เรียกภาษาชาวบ้านว่า “ที่ฉีดก้น” ก็ได้) แล้วหลังกลับมาจากสัมมนา ก็เริ่มเจ็บบริเวณปากทวารหนักเรื่อยๆ วันจันทร์ซึ่งผมเข้างานวันแรกของสัปดาห์ก็รู้สึกเจ็บปวดหนักขึ้น หลังเลิกงานตอนสองทุ่มจึงตัดสินใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน

แรกๆ แพทย์ก็ตรวจดูแล้วฝียังไม่เกิดขึ้นมาเป็นเม็ด มีเพียงอาการเจ็บปวด จึงให้ยาแก้อักเสบและยาแก้ปวดบลูเฟ่น สองวันต่อมาอาการไม่ดีขึ้น ฝีบวมโตขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจให้แม่ขับรถพาไปพบแพทย์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคฝีคัณฑสูตร เบื้องต้นจะให้ยาไปรับประทานโดยเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อเป็นตัวใหม่ แล้วถ้าไม่ดีขึ้นค่อยกลับมา

ระหว่างรอรับยา พยาบาลแจ้งว่าแพทย์เชิญเข้ามาพบอีกครั้ง เขาถามผมว่าจะนอนโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดไปเลยไหม เพราะแพทย์ศัลยกรรมจะช่วยดูให้ ด้วยความที่อาการปวดจากฝีทรมานมาก ถ้าผ่าตัดก็คงจะหายขาด คุยกับแม่แล้วเลยตัดสินใจนอนโรงพยาบาล คิดเสียว่าเอาละวะ ยอมเจ็บตัวสักครั้งจะได้หายขาดสักที

ผมถูกส่งตัวไปที่หอผู้ป่วยในชาย ซึ่งอยู่ชั้น 3 ของโรงพยาบาล ที่นั่นมีคนไข้พักรักษาตัวอยู่เยอะพอสมควร ผมเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดผู้ป่วย ให้พยาบาลเจาะสายน้ำเกลือ เจาะเลือด ให้กรอกปัสสาวะ สักพักแพทย์ศัลยกรรมก็มาดูอาการ บอกกับผมว่าจะผ่าตัด 5 โมงเย็นวันพรุ่งนี้ พร้อมกำชับว่าให้งดน้ำ งดอาหารเวลา 11 โมงเช้า หรือ 6 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

คืนนั้นผมรู้สึกกลัวการผ่าตัดมาก แม้จะเคยผ่าแผลเล็กๆ น้อยๆ แต่อีกใจหนึ่งอาการเจ็บปวดจากฝีก็คงจะหาย ปรากฏว่าช่วงสองทุ่มเกิดอาการฝีแตกขึ้นมา พยาบาลก็ช่วยกันใช้กระดาษทิชชูเช็ดทำความสะอาด พร้อมกับเปลี่ยนกางเกงให้ แต่ยกผ้าปูที่นอนออกไปเหลือเพียงแต่พื้นยางที่รองกับเตียงคนไข้อีกชั้น คืนนั้นรู้สึกโล่งแต่ก็ยังเจ็บอยู่บ้าง

มองไปที่เตียงข้างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 เตียง เปรียบได้กับหลายชีวิตที่มาอยู่ร่วมกันในที่นี้ ทุกคนเจ็บป่วยเหมือนกัน ต่างกันเพียงแค่อาการ อย่างเตียงข้างๆ ผม ฝั่งขวาถูกคนร้ายชิงโทรศัพท์มือถือแล้วทำร้ายร่างกาย ส่วนฝั่งซ้ายก็ถูกงูกัด รายอื่นๆ มีทั้งประสบอุบัติเหตุ เกิดความผิดปกติในร่างกาย แต่ก็ใช้ชีวิตบนสายน้ำเกลือเหมือนกันหมด

ในช่วงเช้า พยาบาลเรียกให้ไปอาบน้ำด้วยตัวเอง ด้วยความที่แขนซ้ายมีสายน้ำเกลือเสียบอยู่ เวลาเดินไปห้องน้ำจึงค่อยๆ ลากเสาน้ำเกลือที่มีล้อหมุนไปด้วยซึ่งลำบากเล็กน้อย ผมอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหารเช้าซึ่งโจ๊กที่นี่ทำอร่อยมาก จากนั้น 11 โมงเช้าจึงเข้าสู่ช่วงของการงดน้ำ งดอาหาร เหลือเพียงสายน้ำเกลือที่คอยประทังชีวิต

4 โมงครึ่ง พยาบาลให้ผมเปลี่ยนชุดคนไข้เป็นเสื้อคลุม ก่อนที่จะพาไปยังห้องผ่าตัด ช่วงนั้นความวิตกกังวลเริ่มมีมากขึ้น ผมหายใจรวยริน คิดเสมอว่าจะรอดไหม จะเจ็บตัวมากหรือเปล่า พร้อมกับภาวนาต่อพระเจ้าไปพลางๆ พยาบาลที่ห้องผ่าตัดก็อธิบายขั้นตอนพร้อมกับคอยเอาใจช่วย ให้ผมหายใจเข้า-ออกลึกๆ เพื่อผ่อนคลาย

ผมนอนคว่ำเอาขาทาบไว้กับอก แพทย์ฉีดยาชาบริเวณไขสันหลัง เรียกว่าบล็อกหลัง ซึ่งยาชาจะออกฤทธิ์ช่วงล่าง ตั้งแต่หน้าท้องถึงขาจะไร้ความรู้สึก จากนั้นผมก็นอนคว่ำ ดมสายออกซิเจน อาการชาเริ่มรู้สึก แพทย์และพยาบาลก็ทำการผ่าตัดกันไปโดยที่ผมมองไม่เห็น มีเพียงเสียงการผ่าตัดพร้อมเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจที่กดดันจิตใจตลอดเวลา

หนึ่งชั่วโมงผ่านไปหลังผ่าตัดแล้วเสร็จ แพทย์ที่ห้องผ่าตัดกำชับให้ผมนอนราบ 12 ชั่วโมง พร้อมกับงดน้ำและอาหารเช่นเคย และดูว่าสามารถปัสสาวะเองได้ไหม โดยใช้กระบอกปัสสาวะ คล้ายกับคอมฟอร์ทร้อย ตอนนั้นด้วยอาการชาบริเวณช่วงล่างยังคงอยู่ บังเอิญพี่สาวมาเยี่ยมก็คุยกันสักพักก่อนแยกย้ายกลับไป

ช่วง 4 ทุ่ม ยาชาที่ฉีดไว้จากห้องผ่าตัดเริ่มหมดฤทธิ์ ความเจ็บปวดเข้ามาแทนที่ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับเวลาถูกมีดเสียบค้างไว้นานๆ ผมแทบจะร้องไห้ นอนไม่หลับทั้งคืน ทำอะไรไม่ได้เพราะต้องนอนราบ แม้พยาบาลบอกว่าให้มอร์ฟีนผ่านสายน้ำเกลือไปแล้ว แต่ก็รู้สึกทรมานอยู่ดี พยาบาลก็ได้แต่บอกให้ผมอดทน

บนที่นอน คนไข้ต่างก็หลับใหล บ้างก็ลุกออกไปปัสสาวะที่ห้องน้ำ บ้างก็ส่งเสียงโอดโอยด้วยความเจ็บปวด ซึ่งพยาบาลบอกกับผมว่าเพิ่งผ่านการผ่าตัดมาเหมือนกัน มีแต่ผมที่นอนไม่หลับ พยายามพลิกตัวไปมา ด้วยความที่เตียงผมอยู่ตรงหน้าทางเข้า ก็มีคนไข้จากห้องฉุกเฉินเข้ามากลางดึกพร้อมกับญาติและเพื่อนฝูงพอดี

แต่ในยามเจ็บปวดที่สุดในชีวิตก็มีเรื่องที่น่าประทับใจอย่างหนึ่ง เพราะช่วงที่ทุกคนหลับใหล มีเพียง “น้องแซม” นักข่าวต่างสำนักซึ่งเพิ่งรู้จักกันในช่วงเวิร์คชอปเข้างานตอนกลางคืนพอดี ประมาณตีสองผมทักไลน์ไปหา ก็ตอบกลับโดยถามผมว่าไหวหรือเปล่า พยายามแนะว่าให้คิดอะไรเรื่อยเปื่อย อย่าสนความเจ็บ

พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “อดทนหน่อย ฟ้าสวยหลังฝนเสมอ”

ตีห้า หลังพ้นช่วงเวลานอนราบ พยาบาลก็ปลุกคนไข้ ให้ผมนำก้นแช่น้ำอุ่นประมาณ 15 นาที เพื่อประคบช่วยลดอาการบวมและอาการปวด โดยมีอุปกรณ์สำหรับรองนั่งเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็รู้สึกดีขึ้น แต่ยังเจ็บแผลจากการผ่าตัดอยู่ แพทย์เจ้าของคนไข้กลับมาอีกครั้ง ซักถามอาการว่าเป็นอย่างไร ปัสสาวะเองได้ไหม ก่อนที่จะสั่งยาและอนุญาตให้กลับบ้านได้

3 วัน 2 คืนที่ผมอยู่แต่เตียงคนไข้ในโรงพยาบาล หลังผ่าตัดแทบจะไม่ได้พักผ่อนเต็มที่เพราะความเจ็บปวด กลับถึงบ้านในช่วงบ่ายหลังนำก้นแช่น้ำอุ่น อาบน้ำ ทานยาเสร็จก็นอนหลับ ตื่นขึ้นมาช่วงบ่ายแก่ๆ พลันมองไปที่หน้าต่าง เห็นท้องฟ้าสดอยู่ตรงหน้า ก็นึกถึงประโยคที่ว่า “ฟ้าสวยหลังฝนเสมอ” ของน้องแซมขึ้นมา ซึ่งมองดูแล้วก็จริงอย่างที่ว่า

ความเจ็บป่วยจนต้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลครั้งนี้ทำให้ผมได้เจออะไรหลายอย่าง ประการแรกก็คือ ความแน่นอนคือความไม่นอน อันที่จริงในช่วงก่อนเข้าโรงพยาบาลผมได้รับมอบหมายจากเจ้านายให้ทำข่าวอยู่ชิ้นหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อต้องเข้าโรงพยาบาล งานที่ทำก็เป็นอันต้องหยุดชะงักไป ก็สอนตัวเองให้รู้ว่าอะไรที่วางแผนแน่นอนก็อาจผิดแผนขึ้นก็ได้

ที่จริงเจ้านายบอกกับผมเสมอว่าสุขภาพต้องมาก่อน รวมทั้งพี่ที่ทำงานก็พยายามบอกกับผมว่าให้ลดน้ำหนักได้แล้ว แต่ด้วยความที่ผมดื้อ คิดว่าหน้าที่การงานสำคัญกว่า ต้องทำให้มันเสร็จๆ ก็มองข้ามตรงนี้ไป นับว่าโชคดีที่อาการป่วยครั้งนี้ยังไม่ตรงกับช่วงการสอบซ่อมวิชาที่เหลือก่อนทำเรื่องขอจบการศึกษา ไม่เช่นนั้นก็คงรู้สึกแย่มากกว่านี้

เรื่องต่อมาคือประกันสังคม ในช่วงที่ผมกำลังจะกลับบ้าน ผมต้องลงนามในใบเสร็จรับเงิน ที่ทางโรงพยาบาลจะต้องนำไปเบิกกับสำนักงานประกันสังคม ปรากฏว่าค่ารักษาพยาบาลออกมากว่า 28,000 บาท มากกว่าเงินเดือนที่ผมได้รับอีกเท่าตัว รายละเอียดจำนวนมากกวาดสายตาไม่หมด คิดในใจว่าหากต้องควักเงินออกมาทั้งหมดก็คงไม่พอแน่ๆ

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผมก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ของประกันสังคมที่ต้องเสีย 4-6 ร้อยบาทในแต่ละเดือน จากเดิมที่ได้แต่บ่นว่าจะหักไปทำไม หักไปก็ใช้ไม่คุ้ม ต่อไปคงเปลี่ยนความคิดกันใหม่ คิดเสียว่าหากถูกหักไปนานๆ ถือว่าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ต้องจ่ายค่ารักษามากกว่าผม โดยเฉพาะโรคร้ายแรงต่างๆ

เพราะอย่าง พี่เอก-เอกวิทย์ เศรษฐเสถียร ผู้ล่วงลับ ในช่วงที่เขาตรวจเจอมะเร็ง แพทย์ที่โรงพยาบาลก็แนะนำให้ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิ์เบิกประกันสังคมได้ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ค่ารักษาพยาบาลโรคมะเร็งจะสูงถึงหลักแสนบาทก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรมารองรับเลย

ถึงกระนั้น ผมคงไม่ปรารถนาที่อยากจะเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลอีกครั้ง ซึ่งการที่ร่างกายอ่อนแอมันคงไม่ดีต่อความมั่นคงในชีวิตแน่ๆ ก็คิดว่าต่อไปนี้คงต้องดูแลตัวเองมากขึ้น พี่ที่ออฟฟิศก็บอกกับผมว่าหัดทำอะไรให้ช้าลงบ้าง นอกจากมักจะบอกกับผมเสมอว่าให้ออกกำลังกาย แม้อุปสรรคของผมคือเลิกงานไม่เหมือนมนุษย์เงินเดือนคนอื่นๆ

ประการสุดท้าย ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยก็คือ กำลังใจ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือเป็นโรคร้ายแรงอย่างหนักก็ตาม ผมเห็นหลายท่านคอมเมนท์ให้กำลังใจในเฟซบุ๊กก็รู้สึกดีแล้ว รวมทั้งน้องแซม นักข่าวต่างสำนักที่ห่วงใยความรู้สึกในช่วงที่ผมเจ็บปวดที่สุด มันทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่โลกใบนี้อย่างโดดเดี่ยวเพียงคนเดียว

เวลาที่เพื่อนหรือคนรอบข้างเราเจ็บป่วย หากมีโอกาสก็ดูใจคนป่วยกันบ้าง ไม่ต้องไปหาด้วยตัวเองก็ส่งความปรารถนาดีผ่านข้อความเล็กๆ น้อยๆ ให้คนที่กำลังเจ็บป่วยได้ชื่นใจขึ้นมาบ้าง ของอย่างนี้ไม่ต้องให้ใครสั่ง เป็นเรื่องของจิตสำนึกในความห่วงใยต่อเพื่อน ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพื่อนสนิทกัน เรายังมีเพื่อนมนุษย์ที่เรามีความรู้สึกให้แก่กันได้

ในยามที่โลกใบนี้เจอแต่ความโหดร้ายมากกว่าสิ่งสวยงาม เชื่อว่าถ้าคนเรามีความรู้สึกห่วงใยซึ่งกันและกันแบบนี้ โลกใบนี้คงน่าอยู่ขึ้นเป็นกองเลยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น