xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรม ส.ส.ในสภา : ภาพสะท้อนมาตรฐาน ปชต.

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” นี่คือสุภาษิตไทยที่ใครอ่านแล้วเข้าใจดีว่า หมายถึงธาตุแท้ หรือตัวตนอย่างแท้จริงของภาษา และสกุลที่คนคนนั้นถือกำเนิดมา โดยนัยก็คือ ภาษาและกิริยาบ่งบอกถึงความเป็นผู้ดีอันเกิดจากการอบรมบ่มนิสัย และความเป็นไพร่อันเกิดจากการไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนใฝ่ดี

เริ่มด้วยการพูดจา โดยปกติคนไทยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาจึงไม่พูดจาด้วยวจีทุจริต 4 ประการคือ พูดเท็จ พูดหยาบคาย พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ แต่จะพูดด้วยวาจาอันเป็นสุภาษิตซึ่งมีลักษณะ 5 ประการคือ

1. ถูกต้องตามกาล

2. เป็นความจริง

3. อ่อนหวาน

4. ประกอบด้วยประโยชน์

5. ประกอบด้วยเมตตา

ลักษณะการพูดที่กล่าวมาคือภาษาผู้ดีมีการอบรมให้สนใจใฝ่ทางดี แต่ถ้าพูดในลักษณะตรงกันข้ามคือ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ และพูดด้วยวาจามีลักษณะเป็นทุพภาษิต 5 ประการคือ พูดไม่ถูกาลเทศะ ไม่มีประโยชน์ พูดไม่เป็นความจริง พูดคำหยาบ และพูดในลักษณะอาฆาตอันเกิดจากโทสะ เรียกได้ว่าเป็นการพูดของไพร่ หรือคนที่ไม่ได้รับอบรมฝึกฝนเพื่อปลูกฝังคุณธรรม

ส่วนกิริยาก็ทำนองเดียวกันกับการพูด เพราะในทางภาษาศาสตร์กิริยาถือว่าเป็นภาษากายที่แสดงออก และทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจในท่าทีที่แสดงนั้นในลักษณะเดียวกันกับภาษาพูด

ดังนั้น ทั้งการพูด และการแสดงออกในทางกาย จึงเป็นภาพสะท้อนความดี ความเป็นของคนคนนั้นได้เป็นอย่างดี

ในระหว่างเวลาที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถ้าท่านผู้อ่านได้มีโอกาสดูถ่ายทอดทางโทรทัศน์ หรือติดตามข่าวการเมืองในช่วงนั้น ก็จะรู้สึกเบื่อหดหู่ใจ และรู้สึกละอายใจที่ได้ยินได้ฟัง และได้เห็นการพูดจา และการแสดงกิริยาท่าทางของ ส.ส.บางท่าน และรับไม่ได้กับคำว่า ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ เพราะบางทำพูดที่เปล่งออกมาเข้าข่ายวจีทุจริตชัดเจน และยิ่งกว่านี้พฤติกรรมที่แสดงออกด้วยการถอดรองเท้ามาวางข้างบนของ ส.ส.ท่านหนึ่ง เห็นแล้วพูดได้คำเดียวว่า คุณธรรมต่ำด้อยปัญญาหาที่เปรียบได้ยาก

ที่ยกมาในประเด็นการพูดจา และลักษณะท่าทางนี้เป็นเพียงรูปแบบการแสดงออก แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงเนื้อหาของการอภิปรายด้วยแล้ว ยิ่งจะน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดมาเป็นคนไทย และที่ต้องไปเลือกตั้ง ส.ส.และได้ผู้แทนลักษณะที่ว่ามาเป็นผู้แทนทำหน้าที่ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว และเป็นกลุ่มที่กระทำความผิดก่อความเดือดร้อนให้แก่ปวงชนคนเสียภาษี เพื่อนำมาเป็นเงินเดือนค่าจ้างคนเหล่านี้ด้วย

จริงอยู่ ผู้อ่านหลายท่านอาจบอกว่าทำใจได้ เพราะไม่ได้เลือกผู้แทนลักษณะที่ว่านี้เข้ามา และในขณะเดียวกัน อาจพูดด้วยประโยคปฏิเสธว่าดีใจที่ไม่ลงคะแนนให้ใคร คือใส่เครื่องหมายในช่องไม่เลือก จึงไม่เดือดร้อนกับพฤติกรรมที่ได้เห็น และเรื่องที่ได้ยิน ทั้งยังบอกเพิ่มเติมว่า พร้อมที่จะออกมาขับไล่ผู้แทนที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้

อะไรทำให้ ส.ส.ในสภาไทยมีลักษณะดังกล่าวมา และจะแก้ไขให้หมดไปด้วยวิธีใด

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นสาเหตุที่ทำให้คนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแก่การเป็น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ส. และครั้นได้เป็นแล้วก็ยังคงมีความมี ความเป็นดั้งเดิม หรือจะเรียกว่าสันดานเดิมก็ได้แสดงออกเป็นปกติทั่วไป แม้กระทั่งในสภาฯ และต่อหน้าปวงชนผู้ชมโทรทัศน์โดยไม่มีอาการหวั่นเกรงหรือหวาดกลัวต่อคำติฉินนินทาของบรรดาผู้รู้ทั้งหลายนั้น ทั้งนี้น่าจะอนุมานปัจจัยในเชิงตรรกะดังนี้

1. ระบบการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้เน้นการให้ความรู้และเพิ่มพูนความสามารถในการแสวงหาวัตถุมากกว่าให้การอบรม และปลูกฝังศีลธรรมเพื่อให้เป็นคนดีของสังคม

ดังนั้น ผู้จบการศึกษาในระบบนี้จึงมุ่งมั่นแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ในทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม และจริยธรรม ดังที่จะเห็นได้ชัดเจนในการพูดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพรรค และที่สำคัญคือการปกป้องนายทุนพรรคการเมืองดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

2. ในการแสวงหาตำแหน่ง ทั้งในพรรคและในรัฐบาล จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้นำพรรค และนายทุนพรรคประทับใจ หรือพูดง่ายๆ ทำงานให้เข้าตาจึงจะมีโอกาสได้ตำแหน่ง และนี่เองคือสาเหตุประการหนึ่งที่ ส.ส.บางคนไม่มีความรู้ ความสามารถในด้านอื่น นอกจากแสดงความกล้าหาญในการออกมาพูดเพื่อเอาใจนายทุนพรรคการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความกล้าหาญที่ว่านั้นจะผิดหรือถูก ทั้งในแง่กฎหมายและจริยธรรม ขอเพียงให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพอใจก็เป็นพอ

3. ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิในทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเอง โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งในชนบทห่างไกลไม่สนใจ และใส่ใจว่าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะมาจากไหน มีภูมิหลังมาอย่างไร ก็จะเลือกขอให้มีผลประโยชน์มาให้ และไม่เคยคิดว่าการให้นั้นก็คือการลงทุนทางการเมือง โดยหวังถอนทุนคืนหลังจากได้รับเลือก และมีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้คนโกง คนเลวสวมบทนักบุญเฉพาะหน้าแจกจ่ายเงินทอง ข้าวของเพื่อแลกกับคะแนนเสียง

จากเหตุปัจจัย 3 ประการนี้เอง ที่ทำให้คนเลว คนไม่ดีได้รับเลือกเป็น ส.ส.

ส่วนประเด็นว่าจะแก้ไขอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาในการให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เข้าใจถึงเนื้อแท้ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่มีอยู่หนึ่งประเด็นที่ควรจะต้องเข้าใจ และขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้นก็คือ อย่าให้นักการเมืองปฏิรูปการเมือง เพราะไม่มีนักการเมืองคนไหนลิดรอนอำนาจของนักการเมือง ถึงแม้ว่าการกระทำเช่นนั้นประเทศชาติโดยรวมจะได้ประโยชน์ก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ การตั้งสภาปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ก็เข้าข่ายเดียวกันคือ จะไม่ทำในสิ่งที่นักการเมืองเสียประโยชน์ เพราะจะต้องไม่ลืมว่าโดยธรรมชาติของคนแสวงหาอำนาจ จะไม่ปิดทางการขึ้นสู่อำนาจของตนเอง โดยการทำในสิ่งที่ถูกต้องและประชาชนได้ประโยชน์ แต่พวกเขาเสียประโยชน์เป็นอันขาด.
กำลังโหลดความคิดเห็น