xs
xsm
sm
md
lg

“ตั้งวง” สิ่งสะเทือนใจในวัฒนธรรมไทย/อธิเจต มงคลโสฬศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ตั้งวง” คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของวัยรุ่นกับวัฒนธรรมไทย เข้าฉายตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมนี้ หลังจากรอบสื่อเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังได้รับการพูดถึงในแง่บวกจากคนในวงการ ตั้งแต่ผู้ชมทั่วไป นักวิจารณ์หนัง ผู้กำกับจนถึงนักวิชาการ
 
บ้างก็ว่า มันคือฮอร์โมนภาคแฟลตดินแดง บ้างก็ว่า มันคือผลงานที่ออกมาในช่วงฟอร์มเข้าฝักที่สุดของผู้กำกับคนนี้ บ้างก็ว่า มันไปไกลกว่าสิ่งที่ปัญญาชนวิชาการเคยทำไว้

สำหรับตัวผู้เขียนเอง...เมื่อรายชื่อทีมงาน นักแสดง และผู้กำกับขึ้นหลังภาพยนตร์เรื่อง “ตั้งวง” จบลง...ผู้เขียนได้แต่นั่งนิ่งเหมือนถูกทุบที่หัว ความคิดยังคงวิ่งวนไปมาอยู่กับฉากจบของเรื่อง รู้สึกตัวอีกทีก็มานั่งลงที่ส่วนวีไอพีเลานจ์ของโรงหนัง พบและพูดคุยกับผู้กำกับ - คงเดช จาตุรันต์รัศมี (สยิว (2546) ,เฉิ่ม (2548),กอด(2551)) คำถามแรกที่หลุดปากออกไปก็คือ รู้สึกอย่างไรกับหนังเรื่องนี้บ้าง? นั่นเอง...ผู้กำกับเลยถือโอกาสถามกลับมา...ดูแล้วรู้สึกอย่างไรละ?

ผู้เขียนได้แต่อมยิ้มพูดยาก...ไม่ใช่ว่าไม่ชอบหนังของเขา รู้สึกสนุกมากด้วยซ้ำ แต่มันสนุกและชวนคิดจนไม่อยากจะเอ่ยอะไรมาก ราวความคิดยังเดินทางไปไม่สุด มีหลายช่วงตอนในหนังที่ตกค้างอยู่ในหัว เสียที่ผู้เขียนเองก็ความจำไม่ดี หลายอย่างที่น่าเอามาคิดต่อก็ตกหล่นเสียอยู่ในโรง

“ก็...ไม่คิดว่าจะหนักแบบนี้ ไม่นึกว่ามีการเมืองในเรื่องด้วย” นั่นคือคำตอบแรก...จากนั้นผู้กำกับถามต่อ ทีแรกคิดว่ามันจะเป็นยังไง “คิดว่าจะคล้ายเกรียนฟิคชั่น(2556)”

หนังเรื่อง “ตั้งวง” เล่าเรื่องของวัยรุ่น 4 คนที่เผชิญปมปัญหาชีวิตจนต้องมาลงเอยด้วยการรวมตัวกันเพื่อปฏิบัติภารกิจที่เป็นไปไม่ได้นั่นคือ รำแก้บนถวายพ่อปู่

ด้วยตัวหนังที่เล่าถึงกลุ่มวัยรุ่นเหมือนเกรียนฟิคชั่น อารมณ์ของหนังแนวก้าวผ่านช่วงวัยหรือที่เรียกกันว่า คัมมิ่งออฟเอจ(coming of age) จึงมีอยู่บ้าง หากแต่ประเด็นและโทนเรื่องดูจะต่างออกไป แม้จะมีท่าทีที่จริงจังกับช่วงวัยรุ่นเหมือนกัน(นี่เป็นจุดที่หนังทั้ง 2 เรื่องต่างจากหนังวัยรุ่นทั่วๆ ไป) แต่ “ตั้งวง” ดูจะมีความดิบในด้านงานภาพและวิธีพูดที่ว่ากันตรงๆ มากกว่า

อีกส่วนที่ต่างและน่าสนใจคือการให้ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กเนิร์ดแตกที่มักจะเป็นเพียงแค่ตัวประกอบของหนังเรื่องอื่น กับอีกคนหนึ่งที่เป็นเด็กพาณิชย์ที่อาศัยอยู่ในแฟรตดินแดงก็แทบจะไม่ได้รับการพูดถึงเลยในหนังวัยรุ่นทั่วไป จุดนี้ถือเป็นทั้งจุดเด่นและด้อยของหนัง ที่เด่นคือเรื่องของความแตก แต่ข้อด้อยคือเด็กในคาแลกเตอร์เหล่านี้ไม่มีความเป็นดาราที่ดึงดูดผู้ชมมากนัก

ในส่วนของเส้นเรื่องหลักของ “ตั้งวง” มีการเดินเรื่องที่เป็นไปตามจังหวะในแบบของคงเดชที่พาผู้ชมเข้าสู่ปมปัญหาหลายซับหลายซ้อนของตัวละคร ตลอดเรื่องสอดแทรกไปด้วยมุกจิกกัดเสียดสี มากไปกว่านั้นคือความขัดแย้งย้อนแย้งในตัวละคร ที่ท้ายสุดก็นำพาคนดูไปพบกับสิ่งที่เหนือคาดจากหน้าหนัง(แต่ไม่ผิดหวัง)

จุดต่างคือโทนเรื่องจนถึงสำเนียงของพล็อตที่มีความเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น หรือหนังญี่ปุ่นแนวกีฬา - เมโลดรามา...อารมณ์ประมาณ ฮูลา เกิร์ล (Hula girl 2006), วอเตอร์บอย (Water boy 2001), ย้อนไปไกลกว่าก็ซูโม่ดูซูโม่โด้น (Sumo do sumo don’t 1992) แต่ก็นำมาวางอยู่ในบริบทของหนังไทยได้อย่างแนบเนียน

ท้ายที่สุด สิ่งที่ชอบมากคือ เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นช่วงระหว่างชุมนุมทางการเมืองซึ่งก็เป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจ แต่หนังไม่ได้เป็นหนังการเมือง หากพูดถึงบริบทในเชิงวัฒนธรรมไทยกับคนรุ่นต่างๆ โดยโฟกัสไปที่เด็กวัยรุ่นมากที่สุด หนังเข้าใจหยิบเอาพื้นที่ของกลุ่มตัวละครที่ประสบกับปัญหาจากความขัดแย้งของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างกระทบกระเทือนจิตใจอย่างลึกซึ้ง

ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ คงเดชหล่นประโยคหนึ่งที่เหมือนเป็นการยอกย่ำถึงสิ่งที่ผู้เขียนพึ่งได้เห็นในหนัง

“ถ้ามีคนไทยใส่ชุดไทยไปเดินอยู่กลางเมือง คนมันต้องคิดก่อนแล้วว่า มีกล้องแอบถ่ายอยู่หรือเปล่า? สิ่งต่อมาที่เป็นไปได้คือไอ้คนนี้เป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไทยหรือเปล่า? มันแปลกมาก...เพราะไหนบอกว่า นี่คือชุดไทย ความเป็นไทยแต่ทำไมกลายเป็นของแปลกแยกในประเทศไทยล่ะ”

โดย อธิเจต มงคลโสฬศ




กำลังโหลดความคิดเห็น