xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เป็นโรค “รองช้ำ” ทำไงดี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เคยหรือไม่ เมื่อตื่นนอนในตอนเช้าและก้าวเท้าลงพื้น จะเกิดอาการปวดบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า ถ้าเคย.. นั่นหมายถึง คุณอาจเริ่มเป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบแล้ว

เอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือที่เรียกกันว่า “รองช้ำ” เกิดขึ้นเนื่องจากมีการบาดเจ็บหรืออักเสบของเอ็นฝ่าเท้าบริเวณที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า เอ็นฝ่าเท้าจะยึดจากกระดูกส้นเท้าไปยังนิ้วเท้า ทำหน้าที่ช่วยรักษารูปทรงของเท้า และยังทำหน้าที่เหมือนสปริง เพื่อช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเดินหรือวิ่ง

อาการของโรค

ผู้ที่เป็นโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ จะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า ในระยะแรกอาจเกิดอาการภายหลังการออกกำลังกาย เดิน หรือยืนนานๆ แต่ถ้าอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา

ลักษณะเฉพาะของโรคนี้ คือ เมื่อลุกขึ้นเดิน 2–3 ก้าวแรกหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งพักขาเป็นเวลานาน จะรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้า เนื่องจากเกิดการกระชากของเอ็นฝ่าเท้าที่อักเสบอย่างทันทีทันใด แต่เมื่อเดินไประยะหนึ่ง เอ็นฝ่าเท้าจะค่อยๆยืดหยุ่นขึ้น อาการเจ็บส้นเท้าจึงค่อยๆทุเลาลง

แม้จะเป็นๆ หายๆ แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่ดีแน่ เพราะ...

อาการเจ็บปวดส้นเท้าเรื้อรัง จะส่งผลกระทบอย่างมากกับการทำกิจวัตรประจำวัน และการทำงาน เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดความเครียด วิตกกังวล และอาจมีหินปูนเกิดขึ้นบริเวณกระดูกส้นเท้าที่เอ็นฝ่าเท้ายึดเกาะอยู่

นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการปวดข้อเท้า ปวดเกร็งและตึงของกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวาย เนื่องจากจังหวะการเดินหรือลงน้ำหนักที่ผิดปกติไปจากอาการเจ็บส้นเท้า

รักษาอย่างไร?

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ รักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดเป็นหลัก ประมาณร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วย อาการจะดีขึ้น แต่ต้องใช้ความอดทนในการดูแลรักษาตัวเอง (อาจใช้เวลานานถึง 2 – 6 เดือน) และต้องอาศัยหลายๆ วิธีประกอบกัน คือ

1. การใช้ยา อาจเป็นยากินเพื่อลดอาการปวดและอักเสบ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจใช้ยาฉีดสเตียรอยด์ ฉีดเฉพาะที่เพื่อลดอาการอักเสบ แต่จะจำกัดการใช้เพียง 2 - 3 ครั้ง

2. การลดหรือแก้ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ลดน้ำหนัก ลดการออกกำลังกายที่หนักเกินไป

3. การเปลี่ยนหรือแก้ไขรองเท้าให้ถูกลักษณะขึ้น โดยเลือกรองเท้าที่มีส้นนุ่มๆ หรือใช้แผ่นรองส้นเท้าที่นุ่มๆ มาติดเสริมในรองเท้า ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบน อาจเลือกใช้แผ่นรองที่บริเวณอุ้งเท้าเพื่อไม่ให้เท้าล้มเวลาเดินลงน้ำหนัก และควรใส่รองเท้าส้นนุ่มๆ เดินในบ้านด้วย

4. การทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง ประกอบด้วย

• การประคบร้อนหรือเย็น

• การยืดกล้ามเนื้อน่อง และเอ็นฝ่าเท้า โดยในการยืดจะต้องทำค้างไว้ 10 วินาที ทำครั้งละประมาณ 10 ครั้ง ควรทำก่อนลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอน และหลายๆ ครั้งต่อวัน

ในกรณีที่ผู้ป่วยดูแลตนเองอย่างเต็มที่โดยวิธีไม่ผ่าตัด แล้วยังมีอาการของเอ็นฝ่าเท้าอักเสบอยู่ อาจจะต้องผ่าตัด เพื่อเลาะเนื้อเยื่ออักเสบและยืดเอ็นฝ่าเท้า หรือเอาหินปูนที่เกาะบริเวณกระดูกส้นเท้าออก

แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยเลือกใช้รองเท้าที่ถูกลักษณะ มีตัวรองส้นที่นุ่ม พื้นไม่บางหรือแข็งเกินไป พร้อมแก้ไขหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆข้างต้น

หากไม่รักษา

หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้รับการรักษา จนลุกลาม อาจส่งผลร้าย คือเกิดการอักเสบของข้อต่อและกล้ามเนื้ออื่นๆในขาเดียวกัน และอาจส่งผลไปถึงกล้ามเนื้อและข้อต่อของสะโพกและบั้นเอวด้วย จากลักษณะการเดินที่ผิดไปจากอาการเจ็บส้นเท้า

การรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะการใช้ยาเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้หายได้ โดยผู้ป่วยต้องลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แก้ไขรองเท้า และทำกายภาพบำบัดยืดเอ็นฝ่าเท้าและกล้ามเนื้อน่องเป็นประจำ จึงจะทำให้อาการทุเลาได้

ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่า มีปัญหาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ถึงแม้จะรักษาจนหายดีแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก ถ้าไม่แก้ไขหรือลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ค่ะ

ใครบ้างเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้

ผู้หญิง เนื่องจากไขมันส้นเท้าจะบางกว่า เอ็นและกล้ามเนื้อของน่องและฝ่าเท้าไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย

ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน

อายุมากขึ้น
เนื่องจากไขมันบริเวณส้นเท้าจะบางลง ทำให้จุดเกาะของเอ็นฝ่าเท้าบริเวณกระดูกส้นเท้าได้รับแรงกระแทกมากขึ้น

ผู้ที่ทำงานที่ต้องยืนหรือเดินนานๆ บนพื้นแข็ง หรือขรุขระ

ผู้ที่ออกกำลังกายที่หนักเกินไป หรือไม่ได้ยืดกล้ามเนื้อน่องหรือเอ็นร้อยหวาย

มีภาวะฝ่าเท้าแบนหรือโก่งโค้งจนเกินไป

มีความผิดปกติของข้อเท้า ข้อเข่าหรือข้อสะโพก ทำให้การเดินและการลงน้ำหนักผิดไปจากปกติ

มีการใช้รองเท้าที่ไม่ถูกลักษณะ เช่น พื้นรองเท้าบางและแข็งเกินไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย ผศ.พญ.สายชล ว่องตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)




กำลังโหลดความคิดเห็น