xs
xsm
sm
md
lg

ปุจฉา - วิสัชนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อยากให้จิตใจโปร่งเบา
อยากให้จิตใจโปร่งเบา

ปุจฉา : ในชีวิตประจำวัน ควรปฏิบัติกายวาจาใจอย่างไร จึงจะเกิดผลของการปฏิบัติ เช่น ใจโปร่ง โล่ง เบา สบาย และมีความสุขคะ

วิสัชนา :

มีสติ สตินี่สำคัญมาก ขอเพียงคุณมีสติ มันก็จะทำให้กายวาจาใจของคุณ ทำพูดคิดไม่ผิดพลาด คนที่ทำไม่ผิดพูดไม่ผิดคิดไม่ผิด จิตใจจะโปร่งเบาสบาย เพราะไม่มีมลภาวะ มันจะอยู่ไกลจากปัญหาที่ตกค้าง ความผ่อนคลายจะอุบัติขึ้น ปัญหามลภาวะและสภาวะความตึงเครียดที่เกิดจากความบกพร่อง ไม่ถูกต้อง จากการตำหนิติว่าของคนรอบข้างก็จะไม่มี เพราะฉะนั้น ความผ่อนคลายของจิตวิญญาณจะเกิดขึ้นตามมา

ดังนั้น การเจริญสติเป็นเครื่องป้องกันความผิดพลาด และทำให้ชีวิตจิตวิญญาณผ่อนคลาย โปร่งเบาสบายได้ทุกขณะ


จริงหรือ? ทุกข์เพราะรัก

ปุจฉา : หลวงปู่ครับ ทั้งๆที่ก็รู้กันโดยทั่วไปว่า ความรักทำให้คนเป็นทุกข์ แต่ทำไมปุถุชนยังคงแสวงหาคนรักกันไม่จบไม่สิ้น หรือว่าพวกเขาไม่กลัวความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น ผมเองก็เคยมีทุกข์เพราะรัก จึงไม่อยากมีความรักอีก แล้วในศาสนาพุทธสอนเรื่องความรักอย่างไรครับ

วิสัชนา :

ความรักไม่ได้ทำให้คนเป็นทุกข์เสมอไป อย่างพ่อแม่รักลูก พ่อแม่ไม่ได้เป็นทุกข์หรอกนะ พ่อแม่กลับภาคภูมิใจ พอลูกคนแรกออกมา ก็น้ำหูน้ำตาไหล ปลาบปลื้ม ปีติยินดี ดีใจ

รักอย่างไรจึงเป็นทุกข์ คือรักของผีห่าซาตาน รักต้องการ รักของกู เรียกว่า รักแล้วเป็นทุกข์

ถ้ารักเพื่อจะเสียสละ เพื่อจะแบ่งปัน รักด้วยจริงใจ บริสุทธิ์ใจ ไม่เป็นทุกข์หรอก กลับภาคภูมิใจด้วยซ้ำ เพราะความรักเป็นความสวยงาม เป็นความงดงามของมนุษยชาติ

มนุษย์ที่ไม่มีความรัก คือมนุษย์ที่ไม่มีศิลปะ มนุษย์ที่ไม่มีศิลปะ ก็คือมนุษย์ที่กระด้าง หยาบ แล้วก็ไม่สวยงามในสังคม อยู่กับสังคมก็ไม่อะลุ่มอล่วย ไม่ผ่อนคลาย จะกลายเป็นคนหยาบกระด้างด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น อย่าไปมองว่า ความรักเป็นเรื่องน่ารังกียจ สำหรับพระพุทธเจ้าแล้ว ความรักเป็นเรื่องสวยงาม พระองค์ไม่ใช้คำว่า “รัก” แต่พระองค์ใช้คำว่า “เมตตา”

เมตตากับมนุษย์ เมตตากับสัตว์ เมตตากับตัวเอง เมตตากับสิ่งแวดล้อม สังคมรอบกาย คนรอบตัว
โดยจะทำให้ตัวเองนอนหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เทวดารักษา

แม้ที่สุด ตายแล้ว ไม่หลงทำกาลกิริยา ไม่บรรลุธรรมในชาตินี้ ก็ไปสู่โลกสวรรค์ได้ในที่สุด เทวดาก็จะอภิบาลรักษาตลอดเวลา นี่คืออานิสงส์ของคนที่มีความเมตตา


ทหารตำรวจที่ต้องฆ่าคน เป็นบาปหรือกรรม

ปุจฉา : ผมอยากจะทราบว่า คนที่ทำงานมีหน้าที่ช่วยให้ผู้อื่นปลอดภัย อย่างเช่น ทหาร ตำรวจ ซึ่งบางครั้งต้องฆ่าผู้ร้าย หรือฆ่าศัตรูที่มารุกรานประเทศ เป็นการช่วยให้บ้านเมืองสงบสุข ผู้คนในสังคมก็ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย การทำงานอย่างนี้หรือต้องมีหน้าที่อย่างนี้ ถือว่าเป็นบาปกรรมไหมครับ

วิสัชนา :

มันเป็นกรรม ส่วนเรื่องบาปนี้ต้องเข้าใจว่า มันเกิดจากเจตนาชั่วหยาบ เช่น ตำรวจยิงโจรตาย ไม่ได้เป็นบาปนะ เพราะเขามีหน้าที่ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุข ปกป้องอาณาประชาราษฎร์ แต่มันเป็นกรรมอย่างหนึ่ง

การกระทำของตำรวจถ้าจะเป็นบาปก็ต่อเมื่อ ต้องเกลียดอ้ายโจรคนนี้มากๆ เรียกว่า ถึงขนาดผูกอาฆาตพยาบาท อย่างนี้ไปยิงแล้วตาย นั่นแหละเป็นบาป แม้ยิงไม่ตาย บาดเจ็บก็เป็นบาป

แต่ที่แน่ๆ ตำรวจทหารไม่ได้อาฆาตพยาบาท ไม่ได้ผูกโกรธ ไม่รู้จักกันมา แต่ไปป้องกันคนดี แล้วก็ไปจัดการกับคนเลว ไม่ได้ผูกโกรธในขณะที่ยิง ไม่ได้อาฆาตพยาบาทในขณะที่ฆ่า ถ้าอย่างนี้ไม่เรียกว่า “บาป” แต่เป็นกรรมที่ต้องตามไปชดใช้ ต้องเข้าใจตามนี้

แม้ที่สุด อย่างทหารไปรบราข้าศึก ยิงศัตรูตาย ทหารไม่ได้โกรธกันเป็นส่วนตัว ไม่ได้โกรธศัตรูเป็นส่วนตัว แต่เพราะต้องทำหน้าที่ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่เป็นกรรมอย่างหนึ่ง


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)
จริงหรือ? ทุกข์เพราะรัก
ทหารตำรวจที่ต้องฆ่าคน เป็นบาปหรือกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น