หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี ๒๕๕๔ เป็นต้นมา หลายคนได้ตระหนักรู้ถึงความสามารถของน้ำกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพลังอันมหาศาล ความเร็ว และความยุติธรรมที่น้ำมีให้อย่างทั่วถึง
ผ่านมา ๒ ปี แต่ภาพน้ำที่เข้ามาเจิ่งนองภายในบ้าน ข้าวของ พืชผลทางการเกษตรจมอยู่ใต้น้ำ ผู้คนหนีไปนอนบนหลังคาบ้าน ยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจของใครหลายคน
ในคราวมหาอุทกภัยของประเทศไทยครั้งนั้น ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีวัดเก่าแก่โบราณอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด น้ำท่วมได้สร้างความเสียหายแก่โบราณสถาน และโบราณวัตถุมากมาย
พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ เล่าให้ฟังว่า น้ำท่วมคราวนั้น พื้นที่วัดทั้ง ๑๐๐ กว่าไร่ ได้รับผลกระทบหมด รวมไปถึงบริเวณโบราณสถานโดยรอบ แม้ก่อนหน้านั้น พระภิกษุ แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ต่างพยายามช่วยกันรักษาศาลาวัดไว้ ขนสิ่งของสำคัญขึ้นไปไว้ชั้นบน และวางแนวกระสอบทราย นำรถแบกโฮมาขุดดินถมเป็นแนวคันกั้นน้ำ และนำเครื่องสูบน้ำมาสูบออก แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ เมื่อกำแพงเก่าทางด้านทิศเหนือของวัดพังลง ทำให้น้ำทะลักเข้ามาท่วมวัดทั้งหมด
“เราเห็นน้ำที่มันดูนิ่งๆ ดูตามกระสอบทรายที่วางกันเอาไว้ ก็ดูไม่มีอะไร แต่พอมันหลุดไปเท่านั้นแหละ พลังมันมาก ยืนไม่อยู่ก็แล้วกัน น้ำแรงมาก เพราะฉะนั้น เราก็เอาเหตุการณ์ตรงนี้เป็นประสบการณ์ เรียกว่าอาศัยความผิดพลาดเพื่อฉลาดในกลวิธี เราก็จะรู้จักวิธีป้องกันได้ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อไป เราก็เตรียมป้องกันเต็มที่ แม้ป้องกันไม่ได้ แต่เราก็ต้องอยู่ได้"
อย่างไรก็ตาม วิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญในการได้เรียนรู้ชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่กับน้ำ และถือเป็นเรื่องปกติของชีวิตครับ
พระอาจารย์สุรศักดิ์อธิบายว่า หากย้อนกลับไปในอดีต ปีหนึ่งก็ต้องมีฤดูน้ำ ถึงหน้าน้ำมาก็เตรียมเรือ ยาเรือเอาไว้ บ้านสมัยก่อนก็จะเป็นเรือนยกสูง มีใต้ถุน แต่ปี ๒๕๕๔ มันท่วมเกินไป บ้านที่ยกสูงแล้วแต่น้ำก็ยังท่วม ถือว่าน้ำมากกว่าปกติ
นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติบอกเราว่า ทุกสิ่งบนโลกมีความไม่เที่ยง จริงๆมันก็เป็นของมันแบบนี้ สมัยก่อนมันก็เป็นแบบนี้ มันท่วมอยู่แล้ว ฉะนั้น เราก็ต้องยอมรับว่า ฤดูกาลเขาเป็นแบบนี้ เราจะต้องเตรียมตัวเอง ว่าเราจะอยู่ได้อย่างไรในสภาพแบบนี้
"ชาวบ้านเดือดร้อนแน่นอน แต่ไปสักระยะก็จะเริ่มชิน น้ำมาก็จับปลา เริ่มอยู่กับน้ำได้ ประสบการณ์ความทุกข์จะช่วยให้คนมีปัญญา มันจะสอนคน คนที่ประสบความทุกข์เมื่อมีปัญญาก็จะเริ่มฉลาดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์อีกก็จะเก่งขึ้น ไม่ตกอกตกใจ ไม่เดือดร้อน และมีวิธีแก้ไข ช่วยให้เราอยู่กับน้ำได้ ก็เตรียมไว้ เรื่องเรือ เรื่องที่อยู่อาศัย
ก่อนที่ทางวัดยังไม่ท่วม เพราะวัดท่วมทีหลัง ก็เอาเสบียงไปช่วยญาติโยมที่ท่วมแล้ว พอน้ำท่วมเราก็ยังใส่เรือไปแจกจ่ายบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หากมีชาวบ้านมาขอก็แบ่งกันไป เราก็ต้องปล่อย และก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ ปรับวิถีชีวิตโดยรับบิณฑบาตทางเรือ แต่ก็ไม่ได้ออกไปบิณฑบาตนอกวัด เพราะชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่บ้านแล้ว
บ้านบางหลังน้ำท่วมถึงหลังคาก็มี ชาวบ้านก็ต้องไปอาศัยที่อื่น ออกไปอยู่ตามถนนบ้าง นอนตามศาลาวัดข้างนอกบ้าง ส่วนพระก็อยู่ในวัดนี้แหละ มีแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ทำอาหารอยู่ที่โรงครัว ก็ถือว่าเป็นโอกาสในเปลี่ยนบรรยากาศการใช้ชีวิต ประมาณ 1 เดือนเต็มๆ"
หากมองในมุมแห่งธรรมะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความผันแปรของชีวิต และเราควรตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท พร้อมเตรียมรับกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาครับ ความเข้าใจในธรรมชาติของน้ำที่ว่า น้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ และในพื้นที่ต่ำ น้ำจะต้องไม่ถูกขวางให้ได้รับความไม่สะดวก
สาเหตุหนึ่งของน้ำท่วมใหญ่คือ เกิดจากการที่มนุษย์เข้าไปฝืนหรือแทรกแซงธรรมชาติ ปลูกบ้านแปลงเรือนขวางทางน้ำ ถมคูคลองเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย ตัดไม้ทำลายป่าเป็นนิจ จนกลายเป็นว่า ความไม่เข้าใจในธรรมชาติ สำทับด้วยความพยายามเปลี่ยนแปลง ขัดขวาง ทำลายการเกิดของธรรมชาติ
โดยไม่เข้าใจในหลักการที่ว่า ธรรมชาติของการเกิดขึ้นนั้น ถึงมนุษย์แทรกแซงหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ยังจะเกิดขึ้น สภาพดินฟ้าอากาศ น้ำ ลม ไฟ มีสภาวะของการเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่มีใครมีอำนาจบังคับบัญชาได้
"เนื่องจากเราไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะคนยุคหลังที่ไม่เคยเจอน้ำท่วม มีการสร้างบ้านเรือนต่ำๆ แต่คนโบราณจะสร้างบ้านใต้ถุนสูง และเราไปปิดกั้นการระบายน้ำ
ปกติสมัยก่อนน้ำมาจะกระจายออกตามทุ่งนา และไหลผ่านไป จะท่วมไม่นาน แม้แต่ข้าวสมัยก่อนก็จะทนน้ำ มิดรวงแล้วข้าวก็ยังอยู่ได้ เพราะสมัยก่อนต้นข้าวจะสูง ปัจจุบัน พันธุ์ข้าวก็มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ ต้นข้าวเตี้ยลง" พระอาจารย์สุรศักดิ์กล่าว
การปรับความสมดุลของจิตให้เหมือนน้ำเป็นสิ่งสำคัญ การทำความเข้าใจในธรรมชาติของน้ำว่า มีลักษณะของการไหลลงสู่ที่ต่ำ มีลักษณะชุ่มเย็น น้ำปรับตัวได้ดีกับทุกมิติ ดังนั้น การนำคุณลักษณะของน้ำมาปรับให้เกิดความสมดุลทางความคิด ก็จะช่วยให้เกิดมุมมองบวกต่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำได้ ดังที่ พระพุทธองค์เคยตรัสสอนเป็นพุทธพจน์แก่พระราหุล (พระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นสามเณรรูปแรก จนกระทั่งบวชเป็นพระ) ว่า
“...ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนน้ำเถิด เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนน้ำแล้ว จะไม่เกิดความชอบหรือความชังครอบงำจิตได้
ราหุล! เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย ล้างของหรือทิ้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดระอาหรือรังเกียจด้วยของนั้นๆ ก็หาไม่
ฉันใด? ราหุล เธอจงทำจิตให้เสมอด้วยน้ำฉันนั้นแล เมื่อกระทบอารมณ์แล้ว ความชอบและความชังจะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ ฉันนั้น...” (มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๒๖)
นอกจากความสูญเสียทางกาย อันนำมาซึ่งความสูญเสียทางด้านจิตใจด้วยนั้น เหตุเพราะมนุษย์เรายังไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับครับ ดังนั้น ต้องทำให้มนุษย์ได้ให้เห็นถึงกฎแห่งความจริงของธรรมชาติว่า ทุกอย่างมันเป็นของมันแบบนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ตกอยู่ในความแตกดับเสื่อมสลาย ตกอยู่ในความเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ ดังที่พระอาจารย์สุรศักดิ์ กล่าวไว้ว่า
"เราก็ต้องยอมรับกับสิ่งเหล่านั้น แต่ก็ไม่ใช่เราจะปล่อยตัวเองงอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย ก็เท่ากับเราประมาท การสูญเสียเป็นเรื่องปกติ ที่ทุกคนเกิดมาจะต้องมีการสูญเสียอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย การที่เราประสบเหตุการณ์ต่างๆ ถ้าเราเอามาเป็นเครื่องเตือนใจสอนใจ ให้เรารู้จักชินและยอมรับเรื่องเหล่านี้ได้ จิตใจของเราก็จะเกิดความหนักแน่นขึ้น
ถ้าเรายอมรับกับความเปลี่ยนแปลง ความพลัดพราก การสูญเสีย จิตใจของเราก็จะทุกข์น้อยลง ทุกชีวิตเกิดมาต้องมีการสูญเสียทั้งหมด เรามีสิ่งใดเราต้องรู้ไว้เลยว่า เราต้องสูญเสียสิ่งนั้น นับตั้งแต่บุคคล ถึงเวลาเราก็ต้องสูญเสียไป ล้มหายตายจากกันไป เราไม่จากเขา เขาก็ต้องจากเรา ถึงเวลาหนึ่งเราก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป รวมทั้งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
เรามีสิ่งใดให้รู้ไว้ว่า เป็นของชั่วคราวทั้งหมด ถึงเวลาเราก็ต้องสูญเสียทั้งหมด ถ้าเราทำใจให้เป็น มันจะไม่ทุกข์ ให้เรายอมรับได้ว่า เพราะมันเป็นแบบนี้
แต่ที่เราทุกข์เพราะเรายอมรับไม่ได้ ที่เรารับไม่ได้ เพราะเราไม่คิดให้มันถูกต้อง คิดแต่ว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น ทำไมต้องเป็นเรา เราโทษคนนั้นคนนี้ตลอด เราต้องเข้าใจว่า มันต้องเสีย ไม่เสียมาก ก็เสียน้อย ที่สุดก็ต้องสูญเสียทั้งหมดไป เพราะฉะนั้นเจอเหตุการณ์ต่างๆ เราก็ถือว่าเป็นการซักซ้อมไว้ก่อน"
พระอาจารย์สุรศักดิ์ได้เมตตาแนะนำทางออกของจิตไว้ว่า ควรจะเริ่มจากการมีแนวความคิดที่ดี ที่ถูกต้อง ทำความเข้าใจและยอมรับ จากนั้นก็หมั่นฝึกฝนจิตให้แข็งแกร่งด้วยการเจริญสติ เจริญวิปัสสนา
"ถ้าหากเป็นผู้ที่สามารถมาฝึกจิตเจริญสติ เจริญวิปัสสนาได้ จะดีต่อผู้ฝึกมาก เพราะเป็นการทำให้ภายในของตัวเองมีความหนักแน่น ให้เราเห็นจากสภาวะในตัวเราเอง เพราะในตัวของเราเอง ประกอบด้วยธรรมชาติ ตามกฎไตรลักษณ์คือการแตกดับ เปลี่ยนแปลง
การปฏิบัติ คือ เจริญสติ กำหนด การพิจารณาดูสังขาร จนกระทั่งเข้าไปเห็นสภาพของชีวิตตัวเองที่เป็นสภาวะธาตุ ว่ามันแตกดับจริง เป็นไปตามเหตุปัจจัยว่า สิ่งนี้มันเกิด สิ่งนี้มันจึงเกิด เมื่อเห็นสภาพภายในตัวเอง และเกิดการยอมรับได้ สิ่งภายนอกก็เหมือนกัน ถ้าได้ฝึกจิตเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้จิตใจของเราหนักแน่นดีงาม ตกลงปลงวางได้ ก็จะเป็นสิ่งดี ดีกว่าแนวความคิด เพราะความคิดที่ดีจะช่วยได้แค่การบรรเทา แต่ถ้าจะช่วยให้จิตใจเราละวางจริงๆ ต้องวิปัสสนา หมั่นฝึกจิตอย่างต่อเนื่อง"
พระพุทธศาสนาได้สอนหลักของความสมดุลเอาไว้ครับ ดังนั้น การปรับความสมดุลของชีวิต ความคิดและจิตใจให้เกิดขึ้นในฐานะชีวิตมนุษย์คนหนึ่งและมนุษย์เป็นเสี้ยวหนึ่งของธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ความสมดุลเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เราเรียนรู้บทเรียนจากมหาอุทกภัยร้ายแรงครั้งนั้นได้ว่า น้ำไม่ได้เลือกว่าจะท่วมคนรวย คนจน ไม่ได้เลือกที่จะไปที่ใด หรือไม่ไปที่ใด ธรรมชาติของน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
ดังนั้น หากมองอย่างพุทธศาสนา และเอามาปรับใช้กับชีวิตว่า ให้เอาน้ำมาเทียบกับจิตว่า การไหลไปตามกิเลสของจิต ย่อมนำพาสิ่งชั่วร้ายตามมา จิตมิควรปิดกั้นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจในกฎของธรรมชาติ และไม่ควรนำกิเลสไปขวางเส้นทางเดินของจิต ที่จะนำไปสู่สติและปัญญา
การปล่อยให้จิตเป็นเหมือนพลังของน้ำในการสั่งสม เมื่อมีปริมาณมาก ก็จะมีพลังของการทำลายสูงด้วยเช่นกันครับ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)