xs
xsm
sm
md
lg

คนดังมีดี : “กัปตัน” ภูธเนศ หงส์มานพ กับ “บวรธรรม” ที่จดจำจากวัดบวรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในมหามงคลที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เจริญพระชันษาครบ 100 ปี วันที่ 3 ตุลาคม 2556 นี้ คอลัมน์ “คนดังมีดี” นิตยสารธรรมลีลา มีโอกาสสนทนากับดารานักแสดงและพิธีกรมากฝีมือคนหนึ่ง ซึ่งเรียกขานตัวเองว่า เป็นลูกศิษย์ลูกหาคนหนึ่งของวัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นประมุขแห่งสงฆ์ทั้งปวงในเมืองไทย

“กัปตัน” ภูธเนศ หงส์มานพ คือนักแสดงคนนั้น

อย่างที่แฟนคลับคงทราบกันดีว่า ช่วงปลายปี 2553 ดารามากความสามารถอย่าง “กัปตัน” ได้โกนผมห่มผ้ากาสาวพัสตร์เข้าสู่ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนา เป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือน และวัดที่เขาได้อยู่อาศัยตอนถือครองเพศบรรพชิต ก็คือวัดบวรนิเวศแห่งนี้

ดังนั้น สำหรับคอลัมน์คนดังมีดี ในวาระอันเป็นมงคลเช่นนี้ จะมีสิ่งใดไหนเล่าประเสริฐเท่ากับการได้สนทนากับผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์ของวัดบวรฯ และเป็นศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราชฯ

“สำหรับผม รู้สึกว่าเป็นปีมหามงคล ที่สมเด็จพระสังฆราชอายุครบร้อยปี จริงๆแล้ว อย่างตัวผมเองก็ถือว่าเป็นลูกศิษย์ของวัดบวรคนหนึ่ง ตั้งแต่สึกออกมา ก็พยายามที่จะปฏิบัติตนให้ดี เหมาะสมกับคำว่าเป็นลูกศิษย์ของวัดบวร

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปีนี้หรือปีไหนๆ ก็พยายามที่จะทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอครับ” นักแสดงหนุ่มบอกเล่าความรู้สึกด้วยน้ำเสียงเปี่ยมศรัทธา ก่อนจะร่ายยาวถึงประสบการณ์ชีวิตเมื่อครั้งเป็นบรรพชิต ณ วัดแห่งนี้

วัดบวรฯ และสมเด็จพระสังฆราช ความผูกพันที่มีมาแต่วัยเยาว์

คงคล้ายๆกับหลายคนที่รับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ “วัดบวรนิเวศ” คือคำหนึ่งซึ่งน่าจะคุ้นหู เช่นเดียวกับภูธเนศ ซึ่งก็รู้จักกับวัดบวรฯ มาตั้งแต่จำความได้ จากสื่อหลากหลายที่มีอยู่

“ผมมีความรู้สึกว่า เราผูกพันกับวัดบวรฯ มาตั้งแต่เด็กๆ หมายถึงว่าเคยได้ยิน เวลาดูข่าว ก็จะได้ยินได้ฟังว่า สมเด็จพระสังฆราชท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบวรฯ และเคยได้รับรู้ว่า “ในหลวง” ตอนที่พระองค์ทรงผนวช พระองค์ท่านก็เสด็จมาประทับที่วัดบวรฯ เราก็จะได้ยินคำว่าวัดบวรฯ มาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดความรู้สึกผูกพันโดยอัตโนมัติ”

ดังนั้น เมื่อถึงวันที่พร้อมจะบวช วัดแรกๆที่ผุดขึ้นมาในหัวของชายหนุ่ม ก็คือวัดบวรฯ ประจวบเหมาะกับว่า ตอนไปทำบุญเมื่อสิบกว่าปีก่อน ได้รู้จักกับหลวงตาท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นพระครูอยู่ที่ตำหนักประจวบเบญจมา ยิ่งทำให้รู้สึกว่าอยากจะบวชเป็นพระที่วัดแห่งนี้

“มีโอกาสได้บวชประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง จริงๆอยากบวชนานกว่านั้นอีก แต่ด้วยภารกิจการงาน มันทำให้ลาได้แค่นั้น ผมบวชเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ปี 2553 คาบเกี่ยวมาถึงต้นปี 2554 ความตั้งใจคือบวชให้คุณพ่อคุณแม่ และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” กัปตันเล่าย้อนความหลัง

การอุปสมบทเป็นพระ ไม่เพียงเป็นการทดแทนพระคุณของพ่อแม่ หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง มันคือการได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมายอย่างยิ่งสำหรับนักแสดงหนุ่มคนนี้

“ก่อนหน้านั้น ผมก็พอจะมีพื้นฐานอยู่บ้างเรื่องของการทำสมาธิ แต่ว่ายังไม่ได้ถึงขั้นที่จะปฏิบัติได้อย่างจริงจัง จนกระทั่งมาบวช

แต่ที่วัดบวรฯ จะเหมือนมีกฎระเบียบว่า เมื่อบวชแล้วจะต้องเรียนหนังสือก่อนเป็นเวลา 15 วัน พระนวกะหรือพระบวชใหม่ ต้องเข้าเรียนหนังสือ เรียนวันละวิชาบ้างสองวิชาบ้าง เมื่อครบ 15 วันตามหลักสูตร ก็จะได้รับประกาศนียบัตร หลังจากนั้น ใครยังไม่ลาสิกขา ก็ค่อยไปปฏิบัติ อย่างผมก็ไปอยู่ต่อที่วัดอรัญวิเวกที่เชียงใหม่ เป็นวัดป่า ฝึกปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา”

“บวรธรรม” ที่จดจำจากวัดบวรฯ

แม้จะอยู่ที่วัดบวรฯเพียงไม่กี่วัน แต่สิ่งที่อดีตพระภูธเนศได้เก็บเกี่ยวเรียนรู้ ก็มากมายจนจดจำได้ไม่หมด กระนั้นก็ดี ชายหนุ่มบอกว่าทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้ ล้วนแล้วแต่มีค่า ทั้งตอนที่ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ และตอนที่สึกออกจากเพศบรรพชิตมาแล้ว

“สิ่งที่ได้เรียน ก็มีทั้งเรื่องหลักพุทธศาสนาเบื้องต้น ไปจนกระทั่งถึงหลักปรัชญาของศาสนาตะวันออก เกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิก็มี ที่สำคัญก็คือธรรมวินัยที่เป็นพื้นฐานเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องในการเป็นสมณะ เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำผิดตอนเป็นพระ ผมว่าตรงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าพระใหม่ก็จะไม่ค่อยทราบเรื่องศีลทั้งหมด การเรียนจะช่วยได้มาก เพราะทำให้เราเข้าใจและรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ”

แม้จะอยู่ในชายคาของวัดบวรฯ ตอนที่สมเด็จพระสังฆราชทรงพระประชวร ทำให้ไม่มีโอกาสได้รับโอวาทคำสอนโดยตรงจากประมุขสงฆ์ของประเทศ แต่ภูธเนศก็มีวิธีในการศึกษาหาความรู้และพระธรรมคำสอนของประมุขแห่งวัดบวรฯ ในหลากหลายวิธี

“ตอนนั้นที่ผมบวช สมเด็จพระสังฆราชท่านก็ประชวรมานานพอสมควรแล้ว แต่เราก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชเยอะมาก เพราะว่าทั้งที่ห้องสมุดและกุฏิต่างๆ ก็จะมีพระนิพนธ์ของท่านอยู่ ก็มีเทปธรรมะของท่านได้ฟังบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะอ่านพระนิพนธ์ของท่านมากกว่า”

แต่ถ้าจะถามว่า จดจำสิ่งใดได้มากที่สุด กัปตันก็มีคำตอบว่า

“คำสอนของสมเด็จพระสังฆราชจะเยอะมาก ในความรู้สึกส่วนลึกที่ผมศรัทธาท่านมากเลยก็คือ ท่านเป็นแบบอย่างของการอ่อนน้อมถ่อมตน การปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ เป็นผู้อ่อนน้อม ถึงแม้ว่าท่านจะมีศักดิ์ มียศ และมีภาระหน้าที่มากมาย คือท่านเดินตามแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ท่านสอนหลักที่เป็นแก่นของพุทธศาสนา เช่น การปฏิบัติเพื่อให้เห็นแจ้งเห็นจริงในเรื่องของความทุกข์ ปฏิบัติเพื่อให้จิตอยู่กับปัจจุบัน ฝึกสติและสมาธิ เพื่อที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริง”

บทเรียนชีวิต จากการเป็น “พระป่า”

อย่างที่เล่าไว้เมื่อหลายบรรทัดก่อนว่า ภายหลังจบการศึกษาจากวัดบวรฯ พระภูธเนศ ก็ย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดอรัญวิเวกที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวัดป่า และจากประสบการณ์คราวนั้น กัปตันบอกว่ามันคือช่วงเวลาที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปีของชีวิต

“ผมไปอยู่เป็นพระป่า แล้วก็อยู่กุฏิในป่า ฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร มีโอกาสปฏิบัติกิจของสงฆ์ตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ตื่นมาทำวัตรเช้า บิณฑบาตทุกวัน หลังจากนั้นก็คือปฏิบัติสมาธิภาวนา อ่านหนังสือธรรมะ ปฏิบัติจริงๆ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ไม่ใช้โทรศัพท์ คือปฏิบัติจริงจัง ได้อยู่ประมาณสองอาทิตย์

จากชีวิตพระในช่วงนั้น มันทำให้ผมรู้สึกว่า จริงๆแล้ว มนุษย์เราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ทุกอย่างที่เรามีเราใช้ทุกวันนี้ มันเหมือนกับเราปรุงแต่งให้มันมีขึ้นมาเต็มไปหมด แต่จริงๆแล้ว แค่มีปัจจัยสี่ เราก็อยู่ได้ ชีวิตมนุษย์ไม่ต้องการอะไรมากมาย อย่างข้าวเราก็ทานอะไรก็ได้ ก็อิ่มเหมือนกัน

แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ มันทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ตอนเราอยู่โลกข้างนอก เราทำงาน จิตของเราก็จะฟุ้งออกไปตามโลกตามเรื่องต่างๆตลอดเวลา แต่การไปอยู่เป็นพระป่า มันทำให้เราได้มีเวลาย้อนกลับมามองตัวเราเอง

ชีวิต 30 กว่าปีที่ผ่านมา เพิ่งได้อยู่กับตัวเองจริงๆจังๆ ก็ตอนที่ไปเป็นพระป่านั้นเอง ผมว่ามันทำให้เราได้ย้อนกลับมาดูใจตัวเองมากขึ้นครับ” กัปตัน ผู้ปวารณาตนเป็นศิษย์วัดบวรฯ กล่าว

ธรรมะเปลี่ยนชีวิต ทุกข์ลดลง เมื่อเข้าใจในธรรม

ไม่ว่าจะอธิบายคำว่าธรรมะด้วยภาษาแบบไหน แต่สุดท้าย สำหรับผู้ที่ได้ผ่านการศึกษาและปฏิบัติจริงๆ ย่อมสัมผัสได้ถึงพลังแห่งธรรม ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่นเดียวกับชีวิตของนักแสดงหนุ่ม ที่ยอมรับว่า ทุกวันนี้ ชีวิตจิตใจดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ก็เพราะอานุภาพของธรรมะ

“อันดับแรกเลยที่ใช้ได้จริง และใช้ทุกวันก็คือเรื่องสมาธิครับ โดยเฉพาะงานที่ผมทำอยู่ เช่นการจำบทละคร มันจำเป็นต้องอาศัยการมีสมาธิอย่างสูง

หรือแม้แต่เรื่องสติก็ได้นำมาใช้ สติคือการอยู่กับปัจจุบัน เพราะว่างานตรงนี้ มันค่อนข้างจะมีอะไรเข้ามาเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราดึงตัวเองกลับมาได้ ให้อยู่กับปัจจุบัน ก็จะทำให้เราทำงานได้แบบไม่เหนื่อยมาก ไม่กดดันมาก

หรือเรื่องอะไรต่างๆที่มันเกิดขึ้นตามวิถีของวงการมายาที่มันปรุงแต่ง ถ้าเราสามารถที่จะดึงจิตกลับมาให้อยู่กับตัวเอง อยู่กับปัจจุบันได้มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เรามีสติมากขึ้นเท่านั้น อยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น สติจึงสำคัญมาก”

อย่างไรก็ดี ตามวิถีของปุถุชนที่ยังก้าวไม่พ้นโอฆะสงสาร กัปตันยอมรับว่า มีบ้างบางห้วงขณะที่ “หลงลืม” แต่กระนั้น ด้วยความที่รู้เท่าทัน ก็มักจะสามารถดึงจิตใจกลับมาได้ทุกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

“มีเหมือนกันนะครับที่หลงลืม แต่สังเกตเห็นว่า อารมณ์ต่างๆมันจะลดลงมากเลยนะครับ อย่างความโกรธ บางคนบอกว่า ทำงานตรงนี้จะอยู่กับอารมณ์ อารมณ์จะเยอะ

แต่สำหรับผม ตั้งแต่บวชมา โอเค.. อารมณ์มันอาจจะมีอยู่เหมือนเดิม แต่ว่าจะตัดอารมณ์ได้เร็วขึ้น หมายความว่า ความโกรธหรือความไม่พอใจอะไรยังมีอยู่ แต่ถ้าเรามีสติ เราก็จะรู้ทันมันและตัดมันได้เร็วขึ้น เราจะหยุดอารมณ์ได้เร็วขึ้น ไม่เอาอารมณ์นั้นมาพัฒนาต่อให้มันเป็นความเกลียด หรือเป็นอารมณ์ขุ่นมัวไปตลอดทั้งวัน ทั้งหมดนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราจริงๆ และเรารู้สึกว่า นี่แหละคือสิ่งที่ได้มาจากการบวชเรียนและศึกษาปฏิบัติธรรม”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อถูกโยนคำถามว่า ธรรมะจำเป็นต่อชีวิตคนเรามากน้อยแค่ไหน อย่างไร กัปตันจึงไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะรีบบอกว่า “จำเป็นมาก”

“ธรรมะก็คือธรรมชาติ ผมว่าทุกวันนี้ ที่มนุษย์เรามีความทุกข์หรือทำอะไรที่เป็นปัญหาต่างๆมากมาย เพราะว่าเราไม่เข้าใจธรรมชาติ และอยากจะฝืนธรรมชาติ

อย่างเช่น ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ เราก็จะเข้าใจว่า วันหนึ่งเราก็ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องแก่ ต้องตาย ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็อาจจะลดน้อยลง เราไม่พยายามที่จะไปฝืนธรรมชาติ เรารู้ว่าทุกคนก็ต้องเดินเข้าสู่กฎของธรรมชาติ

ผมรู้สึกว่า การเข้าใจธรรมะก็คือการเข้าใจในธรรมชาติ มันจะทำให้เราดำรงอยู่ได้อย่างที่เราไม่เป็นทุกข์กับตัวเองและไม่สร้างทุกข์ให้กับผู้อื่นด้วย

ถ้าเราเข้าใจธรรมะ เราจะอยู่อย่างสงบสุขกันมากกว่านี้ อย่างเช่น คนคนหนึ่งต้องแก่ตัวลง ถ้าไม่เข้าใจธรรมชาติ ก็จะคิดเป็นทุกข์ว่า ทำไมวันนี้ฉันเหี่ยว ฉันย่น ทำไมฉันไม่สวยเหมือนเดิม

ในเมื่อความคิดเหล่านั้นมันมีมากขึ้น โดยที่เราไม่เข้าใจธรรมชาติ มันก็จะสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองแน่นอน แต่ถ้าเข้าใจธรรมะหรือธรรมชาติ ความทุกข์แบบนั้นก็จะไม่เกิด” นักแสดงหนุ่มหล่อกล่าวทิ้งท้าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย อภินันท์ บุญเรืองพะเนา)






กำลังโหลดความคิดเห็น