ประเทศไทยเรามักจะบอกว่าเราเป็นบ้านพี่-เมืองน้อง ในด้านต่างๆกับอีกหลายประเทศ เช่น ความสัมพันธ์ทางการทูต การทำการค้าร่วมกัน ผลงานศิลปะ อิทธิพลทางวัฒนธรรม ซึ่งอ้างอิงตามหลักฐานความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์
แต่หากเป็นทางด้านพระพุทธศาสนาต้องถือว่า ไทย กับ ศรีลังกา เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันอย่างแท้จริงครับ
จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปเมื่อกว่า 700 ปีก่อน พุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ เผยแผ่มายังประเทศไทย ในทางกลับกันระหว่างปี พ.ศ. 2048-2279 ศรีลังกาก็ถูกจักรวรรดินิยมตะวันตกรุกราน ไล่มาตั้งแต่โปรตุเกส ดัตช์ มาจนถึงอังกฤษ ที่ยึดศรีลังกามาอยู่ภายใต้การปกครอง
ชาติตะวันตกพยายามนำศาสนาอื่นมาเผยแผ่ในประเทศ ส่งผลให้ศาสนาพุทธในศรีลังกาขาดการอุปถัมภ์ค้ำชู ซ้ำยังเกิดวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง จนพระภิกษุสงฆ์ต้องทิ้งวัดวาอาราม กระทั่งไม่มีพระสงฆ์หลงเหลืออยู่ ทั้งประเทศมีแต่สามเณรเหลืออยู่บ้าง โดยมีสามเณรสรณังกร เป็นหัวหน้า
ในปี พ.ศ. 2294 สามเณรสรณังกรทูลขอให้พระเจ้ากิตติราชสิงหะ กษัตริย์กรุงลังกา ส่งพระสมณทูตมากรุงศรีอยุธยา เพื่อนิมนต์พระสงฆ์ให้ไปช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงส่งพระสมณทูตไทย จำนวน 18 รูป สามเณร 7 รูป โดยมีพระอุบาลี เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางมายังศรีลังกา เพื่อทำพิธีอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกา เป็นพระสงฆ์จำนวน 700 รูป และสามเณร 3,000 รูป
ทำให้ศรีลังกาที่ขาดแคลนพระสงฆ์มานาน มีพระสงฆ์สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ ส่วนสามเณรสรณังกรที่ได้รับการอุปสมบทในครั้งนั้นด้วย ได้รับการสถาปนาจากพระมหากษัตริย์ลังกาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงเกิดคณะสงฆ์ "นิกายสยามวงศ์" ขึ้นในลังกา
ในสมัยเดียวกันนั้น มีสามเณรอีกคณะหนึ่งเดินทางไปขอรับการอุปสมบทในประเทศพม่า แล้วกลับมาตั้งเป็นนิกาย "อมรปุรนิกาย" และอีกคณะเดินทางไปขออุปสมบทจากคณะสงฆ์เมืองมอญ กลับมาตั้งนิกาย "รามัญนิกาย" จึงทำให้ศรีลังกามีนิกายพุทธศาสนา 3 นิกาย มาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ
1. สยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ ถือเป็นนิกายหลัก มีจำนวนวัดเกินกึ่งหนึ่งของวัดทั้งประเทศ แต่จำกัดให้เฉพาะผู้อยู่ในวรรณะสูงเท่านั้นที่จะบวชเป็นพระในนิกายนี้ได้
2. อมรปุรนิกาย (พม่า)
3. รามัญนิกาย (มอญ)
อมรปุรนิกายและรามัญนิกายนั้น ทุกวรรณะสามารถบวชได้ ซึ่งการเป็นพระในศรีลังกาเมื่อบวชแล้วห้ามสึก ต้องเป็นพระตลอดชีวิต เพราะถือว่าได้ตัดสินใจอุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาแล้ว
ศรีลังกาเป็นประเทศแรกที่กำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรกลางทางพระพุทธศาสนา คือองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล. - The World Fellowship of Buddhists) ก่อนที่ศาสนาพุทธจะแพร่เข้าไปในศรีลังกานั้น มีบันทึกว่า ศรีลังกามีวัดฮินดูอยู่แล้วประมาณ 5 แห่ง โดยประชากรชาวศรีลังกาประมาณ 21 ล้านคน นับถือศาสนาพุทธประมาณ 69% นับถือฮินดู 15% และนับถือคริสต์กับอิสลามเท่าๆกันประมาณ 8%
ศรีลังกาเป็นประเทศแรกๆของโลกครับ ที่มีการบันทึกทางประวัติศาสตร์มาเป็นหลักฐานที่แน่ชัด ตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน ต่อเนื่องจนถึงยุคพุทธกาล ราชวงศ์ของศรีลังกาเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.1 ขณะที่เอกสารทางศาสนาพุทธของศรีลังกาบันทึกไว้ว่า ในยุคพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมาศรีลังกาถึง 3 ครั้ง โดยจะเห็นได้จากศิลาจารึกใน "วัดเกลานิยา" (Kelaniya Temple) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า "วัดกัลยาณี" ซึ่งเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของศรีลังกา
ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีและภาษาสิงหล (สิงหลเป็นชนพื้นเมืองของศรีลังกา) แปลข้อความจากศิลาจารึกดังกล่าวได้ความว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาศรีลังกา 3 ครั้ง
ครั้งแรก พระพุทธองค์เสด็จมาภายหลังตรัสรู้ เพื่อมาห้ามไม่ให้กองทัพยักษ์และคนเถื่อนสองเมืองฆ่ากัน ให้เกิดดวงตาเห็นธรรม และด้วยตั้งใจจะให้พระพุทธศาสนาหยั่งรากในแผ่นดินศรีลังกาแห่งนี้สืบไป
ครั้งที่ 2 พระองค์ทรงเสด็จไปห้ามทัพพญานาค พระองค์ได้แสดงธรรมจนพญานาคทั้งสองเกิดความเลื่อมใส จึงถวายบัลลังก์ทองมอบแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับไว้และให้บรรจุไว้ในเจดีย์สีขาวทรงระฆังคว่ำ สูง 30 เมตร ณ วัดกัลยาณีแห่งนี้
ครั้งที่ 3 หลังจากตรัสรู้ได้ 8 ปี พระพุทธเจ้าทรงได้รับนิมนต์จากพระเจ้าเกลานิยา และได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่ยอดเขาสามานาลา(Samanala) หรือศรีพาดา ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลก
นอกจากนี้ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ได้ทรงพระราชทานหน่อจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ให้มาปลูกไว้ที่กรุงอนุราธปุระ ของศรีลังกา และต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดกัลยาณี เป็น 1 ใน 32 ต้นที่ตอนกิ่งมาปลูกไว้เป็นเวลาสองพันกว่าปีแล้ว ซึ่งบรรยากาศนั้นเรียกได้ว่า สัมผัสได้ถึงศรัทธาของชาวพุทธที่นุ่งชุดขาวมาถือศีลภาวนากันที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดกัลยาณี ไม่แตกต่างจากที่พุทธคยาเลยทีเดียวครับ
อีกหนึ่งวัดที่มีความสำคัญและความสัมพันธ์กับคนไทยพุทธ คือ "วัดคงคาราม" (Gangaramaya Temple) ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ริมทะเลสาบไบรา ซึ่งเป็นวัดที่คนไทยนิยมมาเที่ยวกัน อ้อ! ก่อนเข้าวัดในศรีลังกา ต้องถอดรองเท้าไว้ตั้งแต่เขตรั้ววัดนะครับ เป็นเรื่องต้องห้ามคล้ายๆกับที่อินเดีย ดังนั้น หากได้ไปไหว้พระที่ศรีลังกา อินเดีย และพม่า อย่าลืมสวมถุงเท้าไปด้วยนะครับ เพราะต้องถอดรองเท้ากันไว้ตั้งแต่หน้าวัด และฝุ่นค่อนข้างหนา
"วัดคงคาราม" เป็นวัดขนาดใหญ่ของนิกายสยามวงศ์ มีความสำคัญตรงที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกของศรีลังกาอีกด้วยครับ
ภายในพระอุโบสถวัดคงคาราม เต็มไปด้วยพระพุทธรูปและพระบริวาร ประดับประดาด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง รูปปั้นเทวดาที่งดงาม นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐาน "พระศรีอาริย์" ซึ่งตามความเชื่อคือพระองค์จะอุบัติมาเป็นพระพุทธเจ้าในกัลป์ต่อไป ถัดมาคือพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สีส้มเรืองแสง กำลังโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ส่วนด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน เป็นพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร พระอัครสาวกของพระพุทธองค์
จุดเด่นอีกจุดของวัดคงคาราม อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของแปลก มีวัตถุโบราณที่ทางวัดได้รับบริจาคตลอดช่วงหลายร้อยปีจัดแสดงไว้ให้ได้ชมกัน
แต่ไฮไลต์สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยว ท่องธรรม ณ ศรีลังกา ของผู้จาริกแสวงบุญทั่วศรีลังกา และชาวพุทธจากทั่วโลก คือการเดินทางมายังเมืองแคนดี้ (Kandy) อดีตเมืองหลวงของศรีลังกา ปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เพื่อมากราบสักการะ "พระเขี้ยวแก้ว"
ฝรั่งนิยมเรียกวัดที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วว่า "Tooth Temple” ซึ่งที่จริงแล้ว ชื่อของวัดแห่งนี้คือ วัดศรีดาลาดา มาลิกาวา (Sri Dalada Maligawa Temple) ผู้ที่จะเข้าไปสักการะ จะต้องสวมใส่ชุดสีขาวเท่านั้นครับ
ตามตำนานศรีลังกา เขียนไว้ว่า เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าเสร็จ มีพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่ไหม้ไฟอยู่ 7 ส่วนด้วยกัน คือ พระนลาฏ 1 (หน้าผาก) พระรากขวัญ 2 (ไหปลาร้า) และพระเขี้ยวแก้ว 4
บรรดากษัตริย์ต่างเตรียมแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุกัน แต่ในที่สุดพระเขี้ยวแก้วทั้ง 4 องค์ก็ได้รับการประดิษฐาน ณ สถานที่ต่างๆ คือ องค์แรกพระอินทร์อัญเชิญไปประดิษฐานที่เจดีย์จุฬาโลกมณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ องค์ที่ 2 พญานาคนำไปบูชาไว้ใต้บาดาล องค์ที่ 3 ประดิษฐานที่เมืองโคธาน ประเทศปากีสถาน และองค์สุดท้ายประดิษฐานที่ศรีลังกาแห่งนี้
ปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วประดิษฐานในพระสถูปประดับอัญมณีขนาดใหญ่ซ้อนกันหลายชั้น ภายในพระคันธกุฎีวิหารที่มีการป้องกันรักษาเข้มงวด
ในหนังสือ "ศรีลังกา ดินแดนแห่งอารยธรรม" ของท่านวิเทศโพธิคุณ เขียนบรรยายลักษณะของพระเขี้ยวแก้วไว้ว่า
“...พระเขี้ยวแก้วเป็นพระทันตธาตุเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ รูปร่างลักษณะเหมือนส่วนปลายสุดของงาช้างสีขาวตอนต้น ตรงปลายเป็นรอยตัด เคยทูลถามสมเด็จพระสังฆนายกที่วัดอัสสกิริยาว่า ทำไมฟันใหญ่จัง พระองค์ท่านรับสั่งว่า เขี้ยวของจริงอยู่ในตลับ พระทันตธาตุสัณฐานนั้นเหมือนดอกบัวตูม พระรัศมีต้นเหลือง ปลายแดงอ่อนๆ สีสุกใส ประกอบด้วยฉัพพรรณรังสีโดยรอบ มีดอกบัวทองคำ 6 กลีบ 3 ชั้น รองอยู่ โดยมีลวดทองคำรัดพระทันตธาตุไว้ ลวดทองคำสูงจากกลีบบัว 1 ฟุต...”
พระเขี้ยวแก้วคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในชีวิตของชาวศรีลังกา ในแต่ละวันจะมีชาวศรีลังกาจำนวนมากมาเข้าพิธีสักการะพระเขี้ยวแก้วตามช่วงเวลาที่กำหนดวันละ 3 รอบคือ เช้า เที่ยง และค่ำ หลายคนเมื่อกำเนิดบุตรธิดาต้องอุ้มมาขอพรจากพระเขี้ยวแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลสูงสุดของชีวิต
การได้มีโอกาสมากราบสักการะ นับเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ อายุจะบวรยืนยาว แต่หากเป็นคณะทัวร์ โดยเฉพาะทัวร์ของไทย ก็มักจะได้รับโอกาสพิเศษเข้าไปสักการะพระเขี้ยวแก้วถึงข้างในห้อง ท่ามกลางสายตาที่เมียงมองจากคนศรีลังกาที่คิดว่า อยากจะมีโอกาสเช่นนี้บ้าง เพราะหากไม่ใช่ชนชั้นสูง ผู้มีอำนาจหรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของศรีลังกา ก็จะไม่ได้รับโอกาสให้เข้าไปภายในครับ
แม้จะต้องเข้าแถวยาวเหยียด เพื่อมาต่อคิวชมพระสถูปทองคำบรรจุพระเขี้ยวแก้ว เพียงคนละไม่ถึง 3 วินาที แต่ถึงกระนั้น พระเขี้ยวแก้วก็ยังเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนศรีลังกาทั้งประเทศ มีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของความเป็นพุทธศาสนิกชน แม้ว่าทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่เคยเห็นพระเขี้ยวแก้วของจริง … ก็ตาม"
ท่องเที่ยว ท่องธรรม ณ ศรีลังกา
กับ โครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV
กราบนมัสการพระเขี้ยวแก้ว-นมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์-ชมพระราชวังลอยฟ้าและภาพเขียนนางอัปสรสวรรค์บนเขาสิคิริยา-ชมวัดกัลยาณีราชมหาวิหาร-วิหารกลางน้ำวัดคงคาราม-เที่ยวเมืองโคลัมโบ-อนุราธปุระ-สิคิริยา-แคนดี้-นูวาราเอลิย่า
เดินทางวันที่ 5-11 ธันวาคม 2556 (6 วัน 6 คืน)
สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่
คุณสุภาวดี ภูริปัญญาสิริ โครงการธรรมาภิวัตน์
โทรศัพท์ 08-6785-6828 หรือ 0-2629-2211 ต่อ 2423, 2493
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)