xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสวิถีถิ่นตลิ่งชัน ผ่านโฮมสเตย์กลางเกาะ “ชุมชนเกาะศาลเจ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฮมสเตย์และแหล่งเรียนรู้วิถีถิ่นในชุมชนเกาะศาลเจ้า
ในย่านตลิ่งชันแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่ยังคงความเป็นชุมชนชาวสวนเกษตรริมคลอง ยังคงเห็นบรรยากาศของสวนผัก สวนกล้วยไม้ และวิถีชีวิตของบ้านเรือนและคนริมคลอง แต่ในปัจจุบันนี้ที่เมืองกำลังขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้บรรยากาศดังกล่าวหายไป พื้นที่สวนถูกแทนที่ด้วยถนน สะพาน และหมู่บ้านจัดสรรที่รุกล้อมเข้ามาทุกด้าน
หัวโขนครูบาอาจารย์ และผลงานแทงหยวกที่เก็บรักษาไว้
ที่ “ชุมชนวัดจำปา” หรือบางคนอาจรู้จักกันในชื่อ “ชุมชนเกาะศาลเจ้า” เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ยังคงวิถีถิ่นไว้ได้แม้จะถูกหมู่บ้านจัดสรรล้อมเข้ามาเรื่อยๆ ที่นี่เป็นชุมชนเล็กๆ ย่านคลองบางระมาดในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ยังคงความสงบของวิถีชาวคลอง และในชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้งานช่าง ที่เรียกว่า “กลุ่มช่างวัดจำปา” ซึ่งมีฝีมือทั้งงานเขียน งานปั้น งานแทงหยวก งานบายศรี การทำน้ำอบน้ำปรุง และแป้งพวง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิถีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงรักษาวิถีของตนเองไว้ได้เป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งที่นี่ยังเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนภายนอกได้เข้ามาสัมผัสกันในรูปแบบของโฮมสเตย์ ซึ่งคู่พระนางยอดนิยมอย่าง “ณเดชน์-ญาญ่า” ได้มาพักค้างคืนและมาถ่ายทำรายการ“ฉันไปค้างคืนกับซุปตาร์” ที่โฮมสเตย์ในชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ ประธานชุมชนวัดจำปา
“ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์” ประธานชุมชนวัดจำปาซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่เด็ก และเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาช่างปั้นช่างเขียนและการแทงหยวก กล่าวถึงความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ว่า เหตุที่เรียกว่าเป็นเกาะเนื่องจากพื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยคลองสายหลัก 2 สาย คือคลองบางระมาดและคลองบ้านไทร และมีคลองลัดวัดจำปาเชื่อมคลองทั้งสองสายเข้าด้วยกัน ทำให้พื้นที่ของชุมชนมีลักษณะเป็นเกาะ และที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ บริเวณนี้เคยขุดพบกระเบื้องเคลือบสีเขียวเก่าแก่ เมื่อกรมศิลปากรนำไปวิเคราะห์พบว่ามีอายุกว่า 500 ปี ตรงกับเนื้อหาใน “กำสรวลสมุทร” โคลงกลอนเก่าแก่ที่มีเนื้อหากล่าวถึงชุมชนบางระมาด เป็นหลักฐานว่าชุมชนแห่งนี้ปรากฏชื่อมายาวนานกว่า 500 ปีมาแล้ว
ศาลเจ้าพ่อจุ้ย ศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน
“ในอดีตย่านคลองแห่งนี้เคยเป็นแหล่งการค้าชุมชนและท่าเรือเก่า มีเรือวิ่งเป็นร้อยๆ ลำตลอดทั้งวัน บริเวณนี้เป็นย่านการเกษตร ปลูกผัก ผลไม้ ดอกไม้ ส่งไปขายที่ตลาดนัดสนามหลวง ปากคลองตลาด ตลาดศาลาน้ำร้อน และตลาดวัดศาลาสี่หน้า อีกทั้งในชุมชนแห่งนี้เมื่อก่อนยังเป็นแหล่งทำข้าวหลามส่งขายไปทั่วประเทศ ดังมาก่อนข้าวหลามหนองมนเสียอีก ทำกันเป็นอุตสาหกรรม และเป็นข้าวหลามแห้ง มีวิธีทำคือมูนข้าวเหนียวให้สุกเสียก่อนจะใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ แล้วจึงเผาไปผิงไฟให้ร้อน วิธีทำเช่นนี้จะทำให้ข้าวหลามอยู่ได้นาน ไม่เสียเร็ว” ทวีศักดิ์เล่าถึงภาพชุมชนเกาะศาลเจ้าในอดีต
บ้านโฮมสเตย์หลังนี้สอนวิธีการทำแป้งพวง
ทวีศักดิ์เล่าต่อว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้อพยพหนีระเบิดจากพระนครมาอยู่ตามสวนในฝั่งธนฯ หลายครอบครัว รวมไปถึง “หลวงวัฒนศิลป์” (ต่วน ยุวพุกกะ) ช่างหลวงสังกัดกองช่างกระทรวงวัง ที่อพยพมาอยู่ที่นี่ ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ชาวชุมชนวัดจำปาได้วิชาช่างติดตัว เพราะท่านเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาช่างต่างๆ ให้แก่คนในชุมชน โดยเฉพาะการแทงหยวกที่ท่านได้สอนให้รู้จักการแทงหยวกอย่างราชสำนัก ช่วยออกลายการแทงหยวก ทั้งยังพาไปดูงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อปี 2493 และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเมื่อปี 2499 จนถือได้ว่างานแทงหยวกของกลุ่มช่างวัดจำปามีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมาจนปัจจุบัน แม้จะเหลือช่างแทงหยวกในชุมชนอยู่ไม่กี่คนแล้วก็ตาม
บรรยากาศร่มรื่นหน้าบ้านพักโฮมสเตย์
เมื่อมองเห็น “ของดี” ของชุมชน ทวีศักดิ์จึงอยากให้คนได้รู้จักชุมชนเกาะศาลเจ้าแห่งนี้ดีขึ้น และเป็นที่มาของการเปิดโฮมสเตย์ โดยทวีศีกดิ์เล่าว่า “ผมรู้สึกว่าชุมชนแถบนี้น่าอยู่ แต่ทำไมยังขาดการพัฒนา ถ้าเราเอามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาเผยแพร่แล้วทำให้มีคนรู้จักมากกว่านี้ชุมชนน่าจะได้ประโยชน์ เลยเข้าไปเป็นกรรมการชุมชนและเริ่มรวมตัวกันทำเรื่องสิ่งแวดล้อมก่อนในชื่อของ “ชุมชนรักษ์ปลาหน้าศาล” โดยที่ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องท่องเที่ยวเลย เพราะผมมองว่า ถ้าเรามีการท่องเที่ยวแค่นี้แล้วจับขึ้นมามันก็เป็นการจัดสร้างที่ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าเราทำบ้านของเราให้น่าอยู่ มันจะยั่งยืนมากกว่า เหมือนกับถ้าบ้านเรามีต้นไม้ร่มรื่น นกก็จะมาเกาะ น้ำที่ยังไหลหมุนเวียนมันจะไม่เน่า ผมคิดแค่นี้”
ห้องนอนใต้หลังคา
“รูปแบบการท่องเที่ยวที่นี่ เราใช้คำว่า “วิถีถิ่น” คือเมื่อเข้ามาในบ้านหรือในชุมชน เห็นชาวบ้านเขาทำอะไรเราก็ไปทำกับเขา ไปช่วย ไปคุย ตรงนี้เป็นการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านได้ประโยชน์มากกว่า ดีกว่าการทำตลาดน้ำแบบซื้อมาขายไป ถ้าเป็นตลาดน้ำ คนขายของบางทีก็ไม่ใช่คนในชุมชน เป็นใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาขายของแล้วก็เอาเงินกลับบ้าน แต่ชุมชนไม่ได้อะไร”

“ผมอยากให้มีคนเข้ามา แล้วชาวบ้านจึงค่อยคิดเองว่าอยากจะขายของอะไร อย่างนั้นตลาดจึงจะเกิด ในอดีตไม่ว่าตลาดน้ำหรือตลาดอะไรก็แล้วแต่ มันเกิดจากการเป็นจุดรวมผู้คน พอคนมากันแล้วก็หิว หิวน้ำ หิวข้าว ชาวบ้านก็เริ่มขายทีละอย่างสองอย่าง แต่ปัจจุบันตลาดหลายที่มันเกิดจากพ่อค้าแม่ค้าไปรวมกันเพื่อดึงคนเข้ามา พอคนไม่มาตลาดก็เน่า ไม่มีคนมาเที่ยว ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ แต่การทำในรูปแบบวิถีถิ่นอย่างนี้มันมีโอกาสยั่งยืน แต่ก็ต้องใช้เวลานาน” ทวีศักดิ์กล่าว
ห้องนอนใหญ่ภายในบ้าน
ดังนั้นหากใครที่มาที่ชุมชนเกาะศาลเจ้าแล้วหวังอยากเห็นผู้คนคึกคัก อยากเห็นร้านค้า ร้านอาหาร หรือร้านขายของที่ระลึกมากมายก็คงต้องผิดหวัง แต่หากอยากเห็นความเป็นอยู่ เห็นบรรยากาศของบ้านริมคลอง สวนร่มรื่น และอยากมาเรียนรู้งานช่างงานศิลป์จากคนในชุมชนก็นับว่ามาถูกแหล่งแล้ว

สำหรับโฮมสเตย์เกาะศาลเจ้านี้มีบ้านพักโฮมสเตย์อยู่ 5 หลัง พักได้หลังละ 3 คน ในราคา 1,200-1,500 บาท/หลัง รวมอาหารเช้า (หากต้องการพักมากกว่า 3 คน เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม) แต่การจะเข้าพักที่โฮมสเตย์ไม่ใช่ว่าใครอยากพักก็หิ้วกระเป๋ามาได้เลย เพราะทวีศักดิ์อยากจะแน่ใจว่า คนที่มาตั้งใจมาจริงๆ ต้องการมาซึมซับความเป็นชุมชน เรียนรู้งานช่าง และรักในวิถีแบบนี้จริงๆ
โฮมสเตย์อีกหนึ่งหลัง
“การพูดคุยกันก่อนทำให้ได้คนที่มาพักเป็นคนที่ให้ความเคารพกับชุมชน เคารพสถานที่ ต้องบอกก่อนว่าที่นี่ไม่เหมือนโฮมสเตย์ที่อัมพวาหรือที่อื่นๆ ผมไม่อยากได้คนที่ต้องการเพียงมาเปลี่ยนที่กิน ที่นอน หรือมองโฮมสเตย์แห่งนี้เป็นม่านรูด แต่อยากให้มาพักเพื่อมาพูดคุย มาเรียนรู้ความเป็นอยู่ ซึ่งจะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย” ทวีศักดิ์ กล่าว

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ชุมชนเกาะศาลเจ้า ตั้งอยู่ระหว่างคลองบางระมาดกับคลองบ้านไทร ในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ อยู่ช่วงระหว่างถนนราชพฤกษ์และถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งสถานีขนส่งสายใต้ใหม่) การเดินทาง สามารถนั่งรถประจำทาง สาย 124 ลงหน้าซอยโรงเรียนโพธิสาร นั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือรอรถสองแถวต่อเข้าไปยังวัดจำปา หรือนั่งรถสองแถวจากหน้าสถานีรถไฟธนบุรี คันที่ติดป้ายสถานีรถไฟ-วัดจำปา หรือหากมารถส่วนตัว จาก ถนนบรมราชชนนีมุ่งหน้านครปฐม ให้เลี้ยวซ้ายเข้า ถนนพุทธมณฑลสาย 1 เมื่อผ่านหมู่บ้านนันทวันจะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดจำปาทางซ้ายมือ ขับไปประมาณ 2 กม. จะถึงทางเข้าวัด และจากวัดจำปา เดินข้ามสะพานจากหลังวัดจำปา แล้วเดินทะลุสวนมายังโฮมสเตย์เกาะศาลเจ้า หรือสามารถนั่งเรือจากตลาดน้ำคลองลัดมะยมมาได้เช่นกัน สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโฮมสเตย์หรือการเดินทางได้ที่ คุณทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ โทร. 08-7036-6322

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น