xs
xsm
sm
md
lg

ประวัติศาสตร์ถ่านหิน : ปฏิวัติอุตสาหกรรม ลัทธิอาณานิคม สงครามโลก เทคโนโลยี และเสรีนิยม (ตอนที่ 2 จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิลปะถ่านหิน -  Iron and Coal (1855-60) National Trust, Wallington, Northumberland ภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบของวิลเลียม เบลล์ สกอตต์ (ที่มา : wikimedia.org)
 
โดย...ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
 
(อ่าน...ประวัติศาสตร์ถ่านหิน : ปฏิวัติอุตสาหกรรม ลัทธิอาณานิคม สงครามโลก เทคโนโลยี และเสรีนิยม (ตอนที่ 1))
 
ลัทธิอาณานิคมระยะที่ 1
 
ประเทศมหาอำนาจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและยุโรปตะวันตก ใช้แสนยานุภาพทางทหารที่เหนือกว่าเข้ายึดครองประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา โดยใช้ยุทธวิธี ‘แบ่งแยกและปกครอง’ เพื่อตักตวงทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งแรงงาน ทาส และเพื่อเป็นตลาดระบายสินค้าอุตสาหกรรมของตน [5]
 
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2
 
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 มีการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ได้นำพลังงานไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน มาใช้นอกเหนือจากถ่านหินที่ใช้เป็นหลัก ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เช่น โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ รถยนต์ เครื่องบิน ส่วนวัสดุหลักที่ใช้คือเหล็กกล้า ซึ่งมีราคาถูกและใช้เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ รวมทั้งในการคมนาคม
 
ส่วนการลงทุนมีสถาบันการเงินเข้าไปคุมอุตสาหกรรมในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของอุตสาหกรรมหนักเช่น เคมีเครื่องจักรกล เป็นผลให้เกิดการระดมทุนสาธารณะของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในรูปของทุนการเงินขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของบรรษัทยักษ์ใหญ่ และพัฒนามาเป็นบรรษัทข้ามชาติในปัจจุบัน
 
สำหรับในทางการผลิตนั้นตั้งแต่ ค.ศ.1881 ได้มีการคิดค้นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตโดย เฟรเดอริค วินสโลว์ เทย์เลอร์ ได้นำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนงานในกระบวนการผลิต โดยการแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ ให้คนงานผลิตเฉพาะส่วนด้วยวิธีส่งชิ้นส่วนการผลิตไปตามระบบสายพาน และให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและการมีผู้บริหารมืออาชีพ ผลที่ได้รับคือประเทศอุตสาหกรรมสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 50 เท่า อันนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพและการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนงานในประเทศพัฒนาแล้ว
 
การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์นับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญทั้งในอุตสาหกรรมแขนงอื่น ๆ เช่น เหล็กกล้า ยางพารา การผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ และประสานความรู้จากหลาย ๆ สาขาเข้าด้วยกันอุตสาหกรรมรถยนต์จึงเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องเติบโตไปด้วย ส่งผลกระทบต่อแบบแผนการจัดการสังคมโดยรวม เช่น การคมนาคม รวมทั้งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้กับคนจำนวนมาก การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้ระบบการคมนาคมขนส่งเติบโตและมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ได้มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิตคนมากขึ้น
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะของการพัฒนาอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 นี้ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์อย่างเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา ได้ทวีความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตกและสหรัฐอเมริกา ขณะที่โลกอุตสาหกรรมได้สร้างความก้าวหน้าทางวัตถุและสร้างวิถีชีวิตที่มั่งคั่งสะดวกสบาย อีกด้านหนึ่งได้สร้างปัญหาที่ซับซ้อนให้กับสังคมและระหว่างประเทศ
 
สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือช่องว่างของคนในสังคม ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันระหว่างชนชั้นกรรมาชีพ กับชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลาง ปรัชญาเสรีนิยมทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองแบบอดัม สมิธ ที่ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปโดยเสรีที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐเริ่มถูกตั้งคำถาม
 
ในสหรัฐอเมริกาเอง เริ่มมีการเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐเข้ามาควบคุมดูแลการผูกขาดของกลุ่มทุนการเงินอุตสาหกรรมที่เอาเปรียบผู้บริโภค ยังผลให้มีการทบทวนและออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมการผูกขาดและการเอาเปรียบที่เกิดจากความอยุติธรรมในสังคมทำให้ชนชั้นกรรมาชีพและปัญญาชนบางกลุ่มในประเทศต่าง ๆ รับแนวความคิดของนักปรัชญาการเมืองสำนักต่าง ๆ มาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหามากขึ้น
 
ที่สำคัญคือแนวทางสังคมนิยมของมาร์กซ์-เองเกิลส์ กลุ่มอัตถประโยชน์นิยม กลุ่มอนาธิปไตยนิยม และแนวทางรัฐสวัสดิการ กลุ่มความคิดเหล่านี้จะเป็นความหลากหลายอยู่ท่ามกลางสังคมที่พยายามสร้างระบอบประชาธิปไตยในภาพรวมของโลก
 
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำนั้น นับเป็นการวางรากฐานสำคัญในการสะสมความมั่งคั่งและอำนาจของสหรัฐอเมริกาที่จะสืบทอดความเป็นมหาอำนาจต่อจากอังกฤษในเวลาต่อมา นอกจากนี้ขณะที่โลกของการค้าการคมนาคมขยายตัวสูงขึ้น ความเข้มข้นของการแข่งกันล่าอาณานิคมก็สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะหลังจากที่เยอรมันและอิตาลีรวมชาติ ประมาณค.ศ.1871 แม้จะมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาวิกฤติการณ์อยู่ด้วย แต่การขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยม ลัทธิทหารนิยม และลัทธิชาตินิยม นำมาสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) [6]
 
สงครามโลกครั้งที่ 1
 
ผลจากการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจและการแย่งชิงทรัพยากร หรือดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ การแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมในแอฟริกา และเอเชีย เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบที่จะนำมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรมโดยใช้กำลังทหารเข้ายึดครองดินแดนที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
 
ทวีปแอฟริกาได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) เยอรมัน อิตาลี เบลเยียม และโปรตุเกส ส่วนทวีปเอเชีย อังกฤษครอบครองอินเดีย พม่า มลายู บอร์เนียว ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ฝรั่งเศสครอบครองลาว เขมร ญวน รวมเป็นอินโดจีนฝรั่งเศส ในตะวันออกกลางเป็นดินแดนแข่งขันอิทธิพลระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และตุรกี
 
ความขัดแย้งกันทั้งทางด้านการแสวงหาอาณานิคม ความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจทำให้ชาติมหาอำนาจแสวงหาพันธมิตรไว้เป็นพวก แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี กับกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี ประกอบด้วย ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และอังกฤษ
 
การแข่งขันกันเพื่อให้ประเทศอื่นๆ เข้าเป็นพันธมิตรของตน เมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆ ก็มักไม่ยอมกัน ทำให้กรณีพิพาทระหว่างประเทศขยายตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 - 1918 )
 
สงครามโลกครั้งที่ 2
 
จากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่ประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ยึดครองดินแดนของเยอรมัน และการบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามจำนวนมาก ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนชาวเยอรมัน และการที่เยอรมันต้องถูกยึดดินแดนบางส่วนไปทำให้เกิดความรู้สึกอัปยศเสียศักดิ์ศรีของชาตินำไปสู่การเกิดความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่ชนชาติเยอรมัน
 
ประเทศเยอรมนีและอิตาลีใช้การปกครองระบอบอำนาจนิยมฟาสซิสม์ ซึ่งผู้นำประเทศมีนโยบายชาตินิยมและมีกำลังทหารสนับสนุน ใน ค.ศ. 1936  เยอรมนีและอิตาลีได้ตกลงเป็นพันธมิตรกัน ต่อมาญี่ปุ่นร่วมทำสัญญากับเยอรมนีว่าด้วยการขัดขวางระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ทำให้เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นที่ต่างปกครองภายใต้ระบอบอำนาจนิยมทหารรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่ม “แกนแห่งอำนาจ” หรืออักษะ รุกรานทางทหารเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ตนต้องการทั้งในทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย 
 
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ส่งกำลังทหารบุกสหภาพโซเวียต ทำให้สหภาพโซเวียตประกาศสงครามกับเยอรมนีและพันธมิตรฝ่ายอักษะ ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศส นอกจากนั้นก็ยังบุกยึดแมนจูเรียของจีนใน ค.ศ. 1932
 
ต่อมาในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 ญี่ปุ่นก็โจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกา ที่อ่าวเพิร์ลในหมู่เกาะฮาวาย ทำให้สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อฝ่ายอักษะด้วยการที่สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส
 
การต่อต้านอย่างเหนียวแน่นของสหภาพโซเวียต สภาพอากาศอันหนาวเย็นรุนแรงและดินแดนอันกว้างใหญ่ของสหภาพโซเวียต ทำให้ทหารเยอรมันต้องประสบกับความสูญเสียอย่างมากมาย การที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามเป็นการเสริมสร้างกำลังทั้งด้านจำนวนทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียงให้แก่ฝ่ายพันธมิตรที่อ่อนล้าและกำลังจะพ่ายแพ้ให้กลับเข้มแข็งในฉับพลัน
 
เยอรมนีจึงถูกตีโต้กลับในยุโรปและต้องยอมแพ้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1945 ส่วนทางภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นยังคงดำเนินสงครามต่อไป โดยเผชิญกับการต่อต้านของชาวพื้นเมืองและกำลังของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ในที่สุดเมื่อสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกลงยังเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิมาในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ญี่ปุ่นจึงต้องยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 [7]
 
ลัทธิอาณานิคมระยะที่ 2
 
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดลัทธิอาณานิคมใหม่ (neo-colonialism) ระยะที่ 2 ขึ้น ประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ใช้บรรษัทข้ามชาติของตน เข้าตักตวงแหล่ง วัตถุดิบ แรงงานราคาถูก และตลาดระบายสินค้าจากประเทศด้อยพัฒนา ปล่อยมลพิษอุตสาหกรรมไว้ และขนเอากำไรกลับสู่ประเทศของตน โดยผูกนโยบายเศรษฐกิจประเทศด้อยพัฒนาไว้กับประเทศมหาอำนาจเป็น “เศรษฐกิจพึ่งพา” ภายใต้อุดมการณ์ “การพัฒนา” [8]
 
สงครามเย็น 
 
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น สหภาพโซเวียตได้เป็นผู้ปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในคาบสมุทรเกาหลีตอนบน (เกาหลีเหนือ) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นตอนล่าง (เกาหลีใต้) และทั้ง 2 ประเทศต่างก็ยึดครองดินแดนในส่วนที่ตนเข้าปลดอาวุธ
 
ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีเหนือได้ส่งกองทัพบุกเข้าไปในเกาหลีใต้เพื่อหวังจะรวมประเทศ ทำให้เกิดสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950-1953) ซึ่งจบลงด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึกในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 โดยมหาอำนาจผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยต่างสนับสนุนคู่กรณีคนละฝ่าย ซึ่งการรวมประเทศของ 2 ประเทศยังคงไม่สามารถรวมกันได้จนกระทั่งปัจจุบัน
 
ในขณะเดียวกันทางประเทศเวียดนามซึ่งก็มีการแบ่งเขตปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นด้วยการที่จีนเป็นผู้ปลดอาวุธในภาคเหนือ (เวียดนามเหนือ) และฝรั่งเศสปลดอาวุธในภาคใต้ (เวียดนามใต้) ก็เกิดสงครามระหว่างเวียดนามเหนือกับฝรั่งเศส จากวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1946 จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1954 ซึ่งฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
 
และมีการทำสนธิสัญญาสงบศึกที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใน ค.ศ. 1954 โดยกำหนดให้แบ่งเขตปกครองระหว่างฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ กับฝ่ายนิยมประชาธิปไตยจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. 1956 แต่สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเมืองเวียดนามใต้ยังอ่อนแอ หากจัดให้มีการเลือกตั้งฝ่ายนิยมประชาธิปไตยทางใต้คงพ่ายแพ้ จึงสนับสนุนให้เวียดนามใต้ปฏิเสธการเลือกตั้ง
 
ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองในเวียดนามโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายสนับสนุนเวียดนามใต้ ในขณะที่สหภาพโซเวียตและจีนเป็นฝ่ายสนับสนุนเวียดนามเหนือ สงครามเวียดนามจึงเป็นสงครามตัวแทนของการต่อสู้เพื่อขยาย หรือแย่งชิงพื้นที่ และประชาชนระหว่างอุดมการณ์ที่แตกต่างกันระหว่างค่ายประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์ที่ยืดเยื้อและรุนแรงที่สุดในยุคสงครามเย็น ซึ่งจบลงด้วยการที่ฝ่ายเวียดนามใต้ และสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1973  สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนาม เวียดนามเหนือสามารถบุกยึดเวียดนามใต้ได้ใน ค.ศ. 1975 [9]
 
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3
 
พัฒนาการในช่วงที่ 3 ตั้งแต่ ค.ศ.1950 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นผลมาจากพัฒนาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จนสามารถนำพลังงานปรมาณู พลังงานอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้เป็นแหล่งพลังงาน ในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์นั้นเกิดสิ่งประดิษฐ์แบบอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ ที่สำคัญคือสมองกลคอมพิวเตอร์ที่ผสมผสานระหว่างสมองความจำอิเล็กทรอนิกส์กับโปรแกรมภาษาทางคอมพิวเตอร์
 
จาก ค.ศ.1950 ที่คอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้งานด้านการทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายตัวมากขึ้นจนสามารถนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ ได้ ในระหว่าง ค.ศ.1955-1965 ที่สหรัฐอเมริกา คอมพิวเตอร์เริ่มเข้าไปมีบทบาทในโลกธุรกิจทางด้านการเงิน และต่อมากระจายไปทุกสาขา บริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง ราคาถูก มีความสามารถสูงในการใช้งาน
 
ประมาณ ค.ศ.1969 ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมไปตั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและหันมาผลิตและวิจัยเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรชนิดพิเศษที่ต้องใช้ทักษะและเทคโนโลยีระดับสูง อุตสาหกรรมสำคัญที่เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมหนักอื่น ๆ คือ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอวกาศและสมุทรศาสตร์ อุตสาหกรรมทางด้านชีวภาพและพันธุกรรมศาสตร์
 
บรรษัทข้ามชาติยิ่งเติบโตขึ้นทั้งขนาด ความสำคัญและอำนาจทางการเมืองที่มีเหนือรัฐ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มองค์กรเอกชนในลักษณะเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสารแบบโลกาภิวัฒน์ โดยเฉพาะตั้งแต่ ค.ศ.1987 เป็นต้นมา
 
การปฏิวัติด้านการสื่อสารมวลชนเป็นสิ่งที่ควบคู่กับกระแสประชาธิปไตย เนื่องจากการขยายตัวและบทบาทของสื่อมวลชนต้องการเสรีภาพในการแสวงหาและเผยแพร่ข่าวสาร เมื่อถึงค.ศ.1989 ที่มีการรวมเยอรมันและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถือเป็นการยุติยุคสงครามเย็น โลกได้เข้าสู่กระแสทุนนิยมด้านเดียวอย่างชัดเจน จนกลายเป็นโลกไร้พรมแดนสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของระหว่างประเทศ
 
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น โลกได้เข้าสู่ยุคของการจัดระเบียบโลกใหม่ ด้านการทหารก็เปลี่ยนรูปไปเป็นสงครามข่าวสาร ที่บัญชาการรบผ่านคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกด้าน สามารถประเมินสถานการณ์สู้รบได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข่าวสารในการทำสงครามผ่านสื่อต่าง ๆ ไปทั่วโลก [10]
 
---------------------------------------------------------------------
 
อ้างอิง
 
[5]  ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ 14 กันยานน 2555, เสวนาทางวิชาการ  “ความพอเพียงกับทุนนิยมข้ามชาติ”, คณะอนุกรรมาธิการด้านศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา, (เข้าถึง 22 สิงหาคม 2556)
[6]  นฤมล ธีรวัฒน์, ความเป็นมาของโลกสมัยใหม่  (อ้างแล้ว)
[7]  ชาติชาย พณานานนท์ แม็ค 2551, หนังสือเรียนสังคมศึกษา ม.4-6 ประวัติศาสตร์โลก, (เข้าถึง 22 สิงหาคม 2556)
[8]  ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ 14 กันยานน 2555 (อ้างแล้ว)
[9]  ชาติชาย พณานานนท์ แม็ค 2551 (อ้างแล้ว)
[10]  นฤมล ธีรวัฒน์, ความเป็นมาของโลกสมัยใหม่  (อ้างแล้ว)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น