xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : “โรคแพนิค” หายได้ ด้วยการเจริญสติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุขภาพจิตของคนในโลกปัจจุบันกำลังมีปัญหามาก ในเรื่องของโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เนื่องจากโลกของเรากำลังประสบวิกฤตการณ์ในด้านต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ ในยุโรปและอเมริกา ทุนนิยมประสบภาวะล่มสลาย หนี้สินสาธารณะท่วมประเทศต่างๆ คนตกงานกันมาก ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาความยากจนยังคงอยู่ ประชาชนดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก

ด้านการเมือง มีความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆรุนแรงขึ้น นำไปสู่สงคราม การก่อการร้าย การทำร้ายกันทั่วไป การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์

ด้านสังคม มีความเสื่อมทรามทางศีลธรรม บ้านเมืองเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น การประกอบอาชญากรรมทางเพศ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีน้อยลงมาก ขาดการเคารพกฎหมาย และความไม่เป็นธรรมในสังคมมีให้เห็นอยู่ทั่วไป การแก้ปัญหาต่างๆใช้ความรุนแรงกันมากขึ้น

ด้านสุขภาพ ผู้คนในโลกปัจจุบันเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังกันมาก เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุการตายและทุพพลภาพปีละ 35 ล้านคน ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากมาย

ต่อมาก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย โลกร้อนขึ้นกว่าเดิม ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้คนต้องเสียชีวิตคราวละมากๆ ทั่วโลก

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความหวาดกลัวตื่นตระหนกแก่ผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้คนมีสุขภาพจิตไม่ดี มีโรคจิตโรคประสาทมากขึ้น คนในโลกปัจจุบันจึงมีชิวิตอยู่อย่างไม่มีความสุข

ปัญหาสุขภาพจิตอันหนึ่งที่พบได้มากขึ้น ก็คือ โรคแพนิค ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวล

คนไข้มักจะบอกว่า ตัวเองเป็นโรคใจสั่น หรือโรคใจอ่อน เนื่องจากโรคนี้จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว โดยเฉพาะเวลาซึ่งมีเรื่องร้ายๆที่ทำให้ตื่นตระหนกตกใจง่าย ผู้ป่วยมักจะควบคุมตัวเองไม่อยู่ กลัวว่าตนเองจะเป็นโรคหัวใจ กลัวว่าตนเองจะเป็นบ้า กลัวตาย อาการเหล่านี้บางครั้งทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพอย่างมาก

นอกจากอาการใจสั่นแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะมีอาการต่างๆร่วมด้วย คือ ตัวสั่น เหงื่อแตก หายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เป็นลม หรือบางรายอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน

อาการใจสั่นอาจจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ บางครั้งเกิดเองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้นก็ได้ โรคนี้มักพบในช่วงอายุประมาณ 25 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า

ผู้ป่วยเหล่านี้ บางรายอาจจะมีอาการกลัวการอยู่ในสถานที่บางแห่งคนเดียว เมื่อเกิดอาการใจสั่นแล้วจะไม่มีใครช่วยเหลือ หรือหนีไปไหนไม่ได้

โรคที่พบร่วมด้วยบ่อยในโรคนี้ คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งก็เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตายได้

ปัจจุบันพบว่า โรคแพนิคมีแนวโน้มจะมีมากขึ้น แต่ยังโชคดีที่การรักษาโรคนี้ได้ผลดีโดยการใช้ยา แพทย์จะให้ยาในกลุ่มต่างๆ เช่น ยาควบคุมอาการใจสั่น ยาควบคุมความวิตกกังวล ยาต้านอาการซึมเศร้า ร่วมกับการบำบัดทางจิตใจ ที่เรียกว่า CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งเป็นการแก้ไขความคิด อารมณ์ พฤติกรรมของผู้ป่วย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน การเจริญสติเป็นวิธีการบำบัดโรคทางจิตประสาทของจิตแพทย์ในอเมริกาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

เนื่องจากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการฝึกอบรมนักเจริญสติบำบัดกันมาก และเมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเจริญสติมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการบำบัดใดๆในทางสุขภาพจิต

นักเจริญสติบำบัดพบว่า การเจริญสติสามารถบำบัดโรคแพนิคให้หายขาดได้

ดร.ปีเตอร์ สตรอง
นักเจริญสติบำบัด แห่งศูนย์การเจริญสติบำบัดโบเดอร์ รัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา พบว่า การเจริญสติได้ผลดีในโรควิตกกังวล โรคแพนิค โรคหวาดกลัว โรคซึมเศร้า โรคเครียดที่เกิดหลังจากการผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง เป็นต้น

เขาเขียนเล่าไว้ในหนังสือ The Path of Mindfulness Meditation สอนคนไข้ให้ฝึกการเจริญสติเป็นประจำ ซึ่งช่วยให้หายจากโรคเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องใช้ยาอีกต่อไป

มีตัวอย่างที่น่าสนใจเป็นกรณีของพระอาจารย์ชาวทิเบต คือ พระอาจารย์ยอนเจ มินเกียว รินโปเช (Yongey Mingyur Rinpoche) แห่งวัดเตอการ์ โอเซล ลิง เมืองกาฏมาณฑุ ประเทศเนปาล

ท่านได้เล่าเรื่องราวของตัวเองไว้ในหนังสือชื่อ The Joy of Living ว่า ท่านเป็นโรคแพนิคตั้งแต่เป็นเด็กวัยรุ่น ได้พยายามค้นหาวิธีรักษาด้วยตนเอง และใช้การทำสมาธิภาวนารักษาโรค จนหายโดยไม่ใช้ยา

ท่านบวชและเรียนการฝึกสมาธิจากบิดา ตอนนั้นท่านอายุ 9 ขวบ บิดาของท่านคือตุลกู อูเกน รินโปเช เป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเวลานั้น

ต่อมาพระอาจารย์ยอนเจได้ย้ายไปเรียนธรรมะชั้นสูงที่วัดเชอแลบ ลิง ที่นี่ท่านต้องเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกสมาธิแบบเข้มข้นเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยต้องฝึกสมาธิในถ้ำแถบเทือกเขาหิมาลัยทุกวัน ท่านเล่าว่า เพื่อต่อสู้กับอาการแพนิค ซึ่งท่านได้อยู่กับอาการแพนิคแบบเพื่อน และแพนิคเป็นครูของท่าน

ท่านใช้อาการแพนิคเป็นอารมณ์กรรมฐาน จนขจัดอารมณ์นี้ได้ แล้วเพื่อนคนนี้ก็จากไป ท่านก็พบกับความสุขในที่สุด

พระอาจารย์ยอนเจได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูสอนการฝึกสมาธิภาวนาของวัดเชอแลบ ลิง เมื่ออายุ 17 ปีซึ่งถือเป็นอาจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น และได้เป็นเจ้าอาวาสเมื่ออายุ 23 ปี

ปัจจุบัน พระอาจารย์ยอนเจ มินเกียว รินโปเช อายุ 38 ปี เป็นพระสงฆ์ในนิกายนยิงมะปะ ที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับมากในโลกตะวันตก ด้วยท่วงทำนองการสอนที่สนุกสนาน สามารถสื่อความหมายด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างดี ทำให้ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาชาวตะวันตกจำนวนมาก ที่ปฏิบัติตามแบบของท่าน

ท่านเผยแพร่ธรรมะได้กว้างขวางมาก ในอเมริกามีสำนักสาขา ประมาณ 20 แห่ง ในยุโรป มีสาขา 20 แห่ง รวมทั้งสาขาในรัสเซีย ออสเตรเลีย บราซิล เม็กซิโก ส่วนในเอเชีย มีสำนักสาขาอยู่ใน 7 ประเทศ

นับว่า ท่านเป็นพระภิกษุหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงที่นำศาสนธรรมแบบทิเบตไปเผยแพร่ได้กว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะหลักสูตรการฝึกสมาธิภาวนาของท่าน ได้ช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้พบกับความสุขในชีวิต

หลักสูตรของท่านมีหลายหลักสูตร เช่น The Joy of Living, หลักสูตร Path to Liberation, หลักสูตร Exploring Buddhism

นอกจากการศึกษาทางธรรมแล้ว พระอาจารย์ยอนเจ มินเกียว รินโปเช ยังมีความสนใจในวิทยาศาสตร์ ด้านควันตัมฟิสิกซ์ จิตวิทยา ประสาทวิทยา

โดยในปี 2002 ท่านได้มีโอกาสเสวนาธรรมกับนักวิทยาศาสตร์ตะวันตก คือ ดร.ฟรานซิสโก วีรีร่า และคณะนักวิทยาศาสตร์ทางสมอง ที่เคยเดินทางมาศึกษาการบำเพ็ญสมาธิภาวนากับบิดาของท่าน ซึ่งต่อมานักวิทยาศาสตร์คณะนี้ ได้ตั้งสถาบัน Mind and Life Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ทำกิจกรรมเชื่อมศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์ มีการจัดเสวนาธรรม จัดประชุมวิชาการ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยทุกปี โดยท่านได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของสถาบันด้วย

ดร. ริชาร์ด เดวิดสัน ศาสตราจารย์ทางระบบประสาท มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และเป็นกรรมการสถาบัน Mind and Life Institute ได้เชิญท่านให้เข้าร่วมงานวิจัย เรื่องผลของสมาธิต่อการเปลี่ยนแปลงในสมอง ซึ่งท่านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

การทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกที่สนใจการฝึกสมาธิภาวนาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบิดาของท่านจนปัจจุบัน ทำให้งานเผยแพร่ธรรมะของท่านทำได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีครูบาอาจารย์ชาวตะวันตกเกิดขึ้นมากมาย

ในปี 2003 ท่านได้ตั้งมูลนิธิยอนเจ เพื่อให้การสนับสนุนสำนักต่างๆที่อยู่ในเครือ

ท่านผู้อ่านเข้าไปฟังเรื่องราวชีวิตของพระอาจารย์ยอนเจ มินเกียว รินโปเชได้ที่ www.youtube.com/ Authers@google : Mingyur Rinpoche และฟังคำบรรยายของท่านได้ใน www.youtube/mingyur rinpoche และwww.youtube/Dan Rather Reports-Mind Science part1-6)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
พระอาจารย์ยอนเจ
มินเกียว รินโปเช กำลังแสดงธรรม
วัดเตอร์การ์ ที่พุทธคยา ซึ่งพระอาจารย์ยอนเจ มินเกียว รินโปเช ได้สร้างไว้
พระอาจารย์ยอนเจ มินเกียว รินโปเช ร่วมงานวิจัยเรื่องผลของสมาธิต่อการเปลี่ยนแปลงในสมอง
ดร.ปีเตอร์ สตรอง



กำลังโหลดความคิดเห็น