xs
xsm
sm
md
lg

“สมปรารถน์” เปิดประเด็นไม่เอา P4P ก่อนรับรางวัลแพทย์ดีเด่นชนบทศิริราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นชนบท คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นคนที่ 39 ที่ตึกอำนวยการ รพ.ศิริราช วันนี้ (17 มิ.ย.)
ผิดเวที! เปิดประเด็น P4P กลางงานมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นชนบทศิริราชให้ “หมอสมปรารถน์” เจ้าตัวเผยแม้ยึดหลักพอเพียง เอาใจเขาใส่ใจเรา และพระราชดำรัสพระราชบิดา แต่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายคือขวัญกำลังใจสำคัญของหมอชนบท โดยเฉพาะน้องๆ แพทย์ ชี้ P4P ยังไม่ชัดเจน ด้าน “หมอมงคล” ร่วมวิจารณ์ รมว.สธ.ไม่เข้าใจบริบทแต่ละพื้นที่

วันนี้ (17 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเป็นประธานงานแถลงข่าว “ประกาศผลและมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2555” ว่า รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2516 เพื่อเชิดชูเกียรติแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ ซึ่งปีนี้ได้คัดเลือกให้ นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ เป็นแพทย์ดีเด่นในชนบทคนที่ 39 ของศิริราช โดยในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ นพ.สมปรารถน์ จะแสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เรื่อง “ระบบสุขภาพอำเภอ โซ่ข้อกลางสาธารณสุขไทย” ที่ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา โรงพยาบาลศิริราช



รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2555 กล่าวว่า การคัดเลือกจะพิจารณาจากคุณสมบัติหลายประการ ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ซึ่งในปี 2555 ได้มีการเสนอรายชื่อแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทให้คณะกรรมการพิจารณาทั้งสิ้นจำนวน 26 ท่าน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้ว จึงได้เดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานขั้นสุดท้าย จำนวน 13 ท่าน พร้อมสัมภาษณ์แพทย์ ผู้ร่วมงาน และผู้มารับบริการ ตลอดจนได้เยี่ยมชมผลงานและโรงพยาบาลดังกล่าว

นพ.สมปรารถน์ เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานในชนบทมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว มีความรอบรู้ด้านงานส่งเสริมสุขภาพงานป้องกันโรค งานรักษาพยาบาล และงานฟื้นฟูสุขภาพ เป็นตัวอย่างของแพทย์ที่สมบูรณ์แบบในโรงพยาบาลชุมชนที่ต้องบริหารคน สร้างทีมงานที่เข้มแข็ง ดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยความเอาใจใส่ และพัฒนาระบบดูแลสุขภาพที่เข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลา 22 ปี ได้มีผลงานที่น่าภูมิใจ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ การต่อสู้เอดส์แบบครบวงจร และการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” รศ.นพ.อนุพันธ์ กล่าว

นพ.สมปรารถน์ กล่าวว่า เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาแพทย์เคยฟังรุ่นพี่ที่ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทปาฐกถา ตอนแรกยังมองไม่ออกว่าเขาอยู่ในชนบทอย่างยาวนานและคงความดีได้อย่างไร แต่รู้สึกว่าเขาเหล่านั้นเป็นไอดอล ทำให้เกิดความรู้สึกท้าทายว่า เมื่อจบออกไปทำงานแล้วจะสามารถทำได้อย่างรุ่นพี่หรือไม่ ซึ่งเมื่อตนเรียนจบก็ออกไปทำงานใช้ทุนที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ซึ่งเมื่อ 22 ปีที่แล้วถือว่ากันดารมาก แต่ตนก็อยู่มาตลอด 22 ปี ก็มีโอกาสได้ทำงานต่างๆ มากมาย ทั้งการดูแลผู้ป่วยเอดส์ที่อดีตมักไม่ทราบว่าจะรักษาอย่างไร เพราะส่วนใหญ่จะเจออาการแทรกซ้อนคือเชื้อราในสมอง จึงหันมาเน้นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย ก็สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ได้มาก การก่อตั้งมูลนิธิฯ เมื่อปี 2537 จากเริ่มแรกมีเงิน 2 แสนบาท ทุกวันนี้มีเงินสะสมเกือบ 3 ล้านบาท สามารถนำเงินมาช่วยเหลือผู้ป่วยยากจนและให้ทุนนักเรียนแพทย์



สิ่งที่ภูมิใจคือผมยังช่วยบุกเบิกสร้าง รพ.ขุนตาล และเป็นผู้อำนวยการคนแรก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังควบตำแหน่งผู้อำนวยการทั้ง 2 โรงพยาบาล แต่รับเงินเดือนเพียงแห่งเดียวนานถึง 8 ปี นอกจากนี้ ผมยังคงความเป็นวิชาชีพแพทย์ในการตรวจโรคผู้ป่วยด้วย แม้จะเหนื่อยมากขึ้น แต่ก็มีความสุขและภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ เพราะยังรักษาความเป็นแพทย์ทำงานให้ชาวชนบทได้ รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับแพทย์ที่ทำงานในบ้านเรา โดยตั้งใจว่าจะทำงานในชนบทต่อไปจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ส่วนประเด็นอื่นที่ทำก็ยังมีเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทำงานร่วมกับชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ” นพ.สมปรารถน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการอยู่ในพื้นที่ชนบทยาวนานถึง 22 ปี มีหลักคิดอย่างไร นพ.สมปรารถน์ กล่าวอีกว่า ตนยึดหลัก 3 ข้อคือ 1.การครองตนให้มีความสุข เราต้องนิยามตัวเองก่อนว่าความสุขที่ต้องการคืออะไร ซึ่งของตนคือการให้ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และความพอเพียง แม้จะได้รับเงินเดือนไม่มากก็อยู่ได้ 2.ยึดคติของ ม.มหิดล คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทั้งเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง ที่สำคัญต้องรับฟังพวกเขาอย่างลึกซึ้งว่าอยากสะท้อนอะไร และ 3.พระราชดำรัสของพระราชบิดา ที่ให้ยึดถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ยึดประโยชน์เพื่อมนุษย์เป็นที่ 1 ลาภ ทรัพย์เกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าทรงธรรมะแห่งวิชาชีพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า แรงจูงใจใดที่ทำให้อยู่ในชนบท นพ.สมปรารถน์ กล่าวว่า อาจเพราะอยู่ศิริราชมานาน เป็นคนเดือนตุลาฯ และเคยได้เข้าป่าไปประมาณ 8-9 ปี เมื่อออกมาก็ยังรู้สึกว่า สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ และตั้งใจอยากเป็นแพทย์ที่อยู่ในชนบท เพราะยังขาดแคลนแพทย์อยู่อีกมาก ซึ่งเรื่องขวัญกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการดึงบุคลากรให้อยู่ในชนบท แต่ขณะนี้ สธ.มีการนำ P4P มาใช้ ถือเป็นเรื่องบั่นทอนขวัญกำลังใจ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่แน่ไม่นอน แม้ส่วนตัวจะไม่ติดใจเรื่องค่าตอบแทนเพราะยึดหลักพอเพียง แต่น้องแพทย์ย่อมบางคนได้รับผลกระทบ เพราะบางคนมีภาระส่งเสียครอบครัว ส่งน้องศึกษาเล่าเรียน ส่งค่าบ้าน ฯลฯ ซึ่งตอนนี้ที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ ก็มีน้องลาออกไปอยู่กับ รพ.เอกชนแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่าเห็นด้วยกับการคัดค้าน P4P ของหมอชนบทที่ผ่านมา นพ.สมปรารถน์ กล่าวว่า ตนมีจุดยืนเช่นเดียวกับชมรมแพทย์ชนบท และหมอที่ทำงานในชนบททุกคนก็ล้วนมีความเห็นตรงกัน เนื่องจากเดิมทีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้รับมาตั้งแต่ปี 2544 และมีการปรับอัตราขึ้นอีกในปี 2551 ซึ่งนโยบายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสามารถดึงแพทย์ชนบทได้จริง เห็นได้ชัดจากตัวเองที่ทำงานในชนบทมานาน 22 ปี โดยเป็นผู้อำนวยการในโรงพยาบาลชุมชนควบ 2 แห่งนาน แต่ได้เงินเดือนแห่งเดียว แต่ก็ยังอยู่ในพื้นที่ยาวนานจนทุกวันนี้

เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ด้วยหรือไม่ นพ.สมปรารถน์ กล่าวว่า ไม่ขอพูด แต่เห็นว่า P4P อาจไม่เหมาะกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ส่วนโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปก็ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลชุมชนขอเป็นความสมัครใจดีกว่า แต่ที่ผ่านมาก็เห็นว่าผู้บริหารไม่ค่อยรับฟังนัก ดีตรงมีตัวแทนรัฐบาลเข้ามาในการจัดประชุมเรื่องนี้ แต่สุดท้ายตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งหมอในชนบทหลายคนก็ยังอดหวั่นไม่ได้

ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติ ขอชมเชยศิริราชพยาบาลที่มีการคัดเลือกที่ดี เนื่องจากทุกปีผู้ที่ได้รับรางวัลถือเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญจริง ผู้ป่วยได้รับการดูแล แต่ละคนมีคุณสมบัติพร้อม และส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์จากศิริราชพยาบาล แสดงว่ามีการบ่มเพาะมาดี แต่ช่วงที่ผ่านมาที่มีข่าวการคัดค้าน P4P จะเห็นว่ามีชื่อแพทย์ศิริราชฯเข้าร่วมแสดงความเห็นเรื่องนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความรู้สึกของคณบดีศิริราชฯ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ แต่อยากให้พิจารณาว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่จะส่งผลต่อระบบสุขภาพทั้งประเทศ ซึ่งผู้รับรางวัลจากศิริราชก็ไม่เคยลืมว่าตนมีวิจารณญาณในการออกมาปกป้อง และสร้างความสุขให้กับประชาชน

P4P ไม่ใช่เรื่องของเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของระบบ ต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารอาจไม่มีประสบการณ์ไม่เข้าใจบริบท ซึ่งการทำงานในพื้นที่กับประชาชนไม่เพียงแต่โรงพยาบาลชุมชนห่างไกล แต่ในเมืองหลวงอย่าง กทม.ก็จะมีชุมชนแออัด ซึ่งจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงพื้นที่ดูแล ตรงนี้ต้องมองเห็นและเข้าใจด้วยว่า คนที่ทำงานเชิงรุกเช่นนี้ควรให้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งเมืองและชนบท แต่หากทำงานในการรักษาพยาบาล การผ่าตัด ก็ใช้เป็น P4P แทน ส่วนที่มีกลุ่มเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่ง ผมมองว่าเป็นเรื่องของการทำงานที่หากใครทำงานไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออก” นพ.มงคล กล่าว

ทั้งนี้ รางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทที่ได้รับ ประกอบด้วย โล่เกียรติยศและเงินรางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 100,000 บาท บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) 60,000 บาท และบริษัท เทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด 20,000 บาท



กำลังโหลดความคิดเห็น