xs
xsm
sm
md
lg

คิดเป็นเห็นทาง : ความสุขที่ยั่งยืนของ ‘เจ้าชายผัก’ นคร ลิมปคุปตถาวร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การมีพื้นที่เล็กๆไว้ปลูกผักกินเอง ได้กินผักสดที่ปลอดภัยไร้สารพิษ คงเป็นความสุขในชีวิตที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ด้วยวิถีชีวิตของคนเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และถูกตีกรอบอยู่ในพื้นที่จำกัด ที่พักอาศัยส่วนใหญ่มักเป็นคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ทาวน์เฮาส์ หรือถึงแม้จะเป็นบ้านเดี่ยวแต่บริเวณด้านนอกที่เป็นผืนดินหรือสนามหญ้าที่สามารถปลูกพืชผักได้ก็มีน้อย ดังนั้น ความฝันที่จะมีแปลงผักเป็นของตัวเองดูจะเป็นไปได้ยากเต็มที

จุดเริ่มต้นของ “เจ้าชายผัก” รู้จักวิชาเกษตรยั่งยืน

แต่สำหรับผู้ชายคนนี้ ที่มีฉายาว่า “เจ้าชายผัก” เขามองข้ามข้อจำกัดดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยใจรักในการปลูกผัก ทำให้เขามุ่งมั่นลงมือทำอย่างจริงจัง กระทั่งปัจจุบัน แปลงผักของเขาได้กลายเป็นต้นแบบของ ‘สวนผักคนเมือง’ ที่จุดประกายไอเดียให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย ลุกขึ้นมาปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง ได้ทั้งอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และความอิ่มเอมใจที่เห็นพืชผักเขียวๆที่เราเฝ้ารดน้ำพรวนดิน เติบโตออกดอกออกผล

“ปริ๊นซ์’ นคร ลิมปคุปตถาวร เจ้าของ 'ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก' ย่านลาดพร้าว 71 บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาปลูกผักอย่างจริงจังว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้เขาได้รู้จักวิชาเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งของเกษตรกรเองและผู้คนในสังคมไปชั่วลูกชั่วหลาน

“ปริญญาตรีที่ผมเรียนนั้นโชคดีอย่างหนึ่ง คือมีวิชาเรื่องเกษตรยั่งยืน หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งผลผลิตที่ได้นั้นปลอดสารพิษ ทำให้เรามีความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะเราไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี เราทำปุ๋ยและสารไล่แมลงที่เป็นชีวภาพเองได้ เป็นการทำเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ดิน น้ำ อากาศ มีคุณภาพที่ดีขึ้น บวกกับการที่ผมได้เห็นการขับเคลื่อนเรื่องนี้ของกลุ่มเอ็นจีโอและหน่วยงานต่างๆ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจ

นอกจากนั้น ผมยังได้แนวคิดจาก ‘ท่านอาจารย์ชนวน รัตนวราหะ’ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่บุกเบิกเรื่องเกษตรยั่งยืนในภาคราชการมายาวนาน ทำให้เรารู้ว่า เกษตรยั่งยืนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพคงอยู่กับเรา สุขภาพของคนเราจะดีได้ก็เพราะเราอยู่ในห่วงโซ่อาหารที่ดี คือเมื่อดินดี พืชที่โตจากดินที่ดีก็จะดี สัตว์ที่กินพืชเหล่านั้นก็มีสุขภาพดี เราไปกินพืชกินสัตว์เหล่านี้สุขภาพเราก็ดี

แล้วการทำเกษตรแบบนี้ ยังทำให้เกิดการแบ่งปัน เพราะเราอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้ก็นำไปแบ่งปันให้คนอื่น

ผมว่าตรงนี้มันเป็นความสุขที่ยั่งยืนนะ แล้วที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือพืชผักสวนครัว เพราะเรากินอยู่ทุกวัน ซึ่งการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีนั้น เราเห็นได้ชัดเลยว่า ได้ผลผลิตที่ดีกว่า แต่ต้นทุนต่ำกว่าใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมาก” ชายหนุ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจการปลูกผักปลอดสารพิษอย่างจริงจัง

ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ หันมาลงมือปลูกผักอย่างจริงจัง

หลังจากจบปริญญาตรี นครเลือกเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดเรียนเป็นปีแรก ขณะเดียวกันช่วงนั้นเขาก็ได้ทำงานด้านการพัฒนาชนบทและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ไปด้วย ทำให้เขาได้มีโอกาสพบเห็นการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ อีกทั้งได้พบกับคู่ชีวิตที่มีความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์เหมือนกัน

“จากที่เราชอบเรื่องเกษตรอินทรีย์ พอมาทำงานด้านพัฒนาชนบท เราก็คิดว่า ถ้าความรู้ของเราจะเป็นประโยชน์กับสังคม เราก็อยากจะช่วย ผมก็ไปสอนให้ชาวบ้านทำเห็ดฟาง พาชาวบ้านไปเรียนรู้เรื่องการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักอินทรีย์ เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบลดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งเราก็เป็นแบบอย่างให้ชาวบ้าน

คือ อาจารย์ที่อยู่ศูนย์เรียนรู้ที่ผมทำงาน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ซึ่งท่านเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท่านก็เป็นเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ เราก็อยากจะส่งต่อความคิดนี้ให้แก่คนอื่นได้เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความคิดที่จะไปทำเรื่องดีๆแบบนี้ เพราะฉะนั้น เราจะพูดปากเปล่าไม่ได้ เราต้องลงมือทำด้วย นี่เป็นแนวทางที่ผมยึดมาตลอด

ตอนที่ทำงานวิจัยเก็บข้อมูลของคนที่ทำตลาดเกษตรอินทรีย์ในระดับชุมชน ทั้งที่อยู่ในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัด เขาทำตลาดนัดสีเขียว ผมก็ไปร่วมตั้งตลาดนัดกับเขาด้วย เพราะเราอยากรู้ว่า การทำตลาดเกษตรอินทรีย์มันมีปัญหาอะไรบ้าง

พอเรากลับมาอยู่บ้าน เราก็คิดว่าอยากทำเรื่องแบบนี้ในจังหวะชีวิตที่เหลือต่อไป เราจะทำอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ทำเรื่องเหล่านี้ เราจะไปเป็นมนุษย์เงินเดือน เพื่อเก็บเงินสักระยะหนึ่งก่อนไหม แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจว่า ผมเริ่มทำงานตรงนี้อย่างจริงจังเลยดีกว่า

ส่วนธุรกิจที่บ้าน ผมก็ไม่ได้ช่วยนะ เพราะผมคิดว่า ถ้าเราทำงานที่เราไม่ชอบหรือไม่ถนัดก็คงทำได้ไม่ดี ผมก็เลยปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังมาตั้งแต่วันนั้น ศึกษาการปรับปรุงดิน ทำปุ๋ยชีวภาพ ทำสารไล่แมลง ถ้านับตั้งแต่เริ่มสนใจตอนเป็นนักศึกษา เมื่อปี 2545 ถึงวันนี้ก็ 11 ปีแล้ว มันก็พิสูจน์ว่าเกษตรยั่งยืนเนี่ยะมันอยู่ได้ และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ที่เรามีให้กับคนอื่น” เจ้าชายผักเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา

สร้างเครือข่ายคนปลูกผัก

นครเริ่มจากปลูกผักนานาชนิดในพื้นที่เล็กๆข้างบ้าน จากนั้นจึงขยับขยายไปใช้พื้นที่รกร้างที่อยู่ตรงข้ามบ้านให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยพื้นที่กลางแจ้งใช้เป็นแปลงผักหลายสิบสายพันธุ์ ส่วนพื้นที่ในอาคารใช้เก็บวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมในการฝึกอบรม

เพราะนอกจากจะปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองและจำหน่ายส่วนที่เหลือเพื่อเป็นรายได้แล้ว นครยังเป็นวิทยากรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย ซึ่ง 'ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก' ของเขานั้น ไม่ได้ให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรปลอดสาร อย่างเทคนิคในการเพาะต้นกล้า การทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษพืชเศษผัก และทำน้ำยาไล่แมลงจากพืชที่มีรสเผ็ด ฝาด ขม ไว้ใช้เองเท่านั้น

แต่เขายังเน้นให้ผู้เข้าอบรมตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการปลูกผักกินเอง ที่จะให้ทั้งความมั่นคงทางอาหารและพลังชีวิต ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจและขยายเป็นเครือข่ายเกษตรคนเมืองที่ลงมือลงแรงปลูกผักกันอย่างจริงจัง และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันอย่างต่อเนื่อง

“การจัดกิจกรรมของเรา อยากมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เห็นถึงคุณค่าของการพึ่งพาตนเอง คือมันไม่ใช่แค่การปลูกผัก บางคนเป็นหมอ บางคนเป็นทนาย แต่การพาครอบครัวมาปลูกผัก มันเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับลูกๆ เขาได้มาเห็นดิน เห็นแมลง เห็นต้นไม้ ซึ่งชีวิตในเมืองเขาไม่มีโอกาสได้เห็น เขาได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้รู้ว่าการจะปลูกผักกินเอง ซึ่งจะได้พืชผักที่ปลอดภัยไร้สารพิษนั้นไม่ใช่เรื่องยาก

นอกจากนั้น ก็ยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ รู้จักการแบ่งปัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่อยากปลูกฝังให้กับลูกๆ แต่ละคนที่มาร่วมอบรมก็มีสังคมที่กว้างขึ้น มีการชักชวนกันไปทำกิจกรรมดีๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งผมว่ามันเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเองนะ

แล้วพอเราจัดกิจกรรม เราก็เริ่มรู้จักคนที่สนใจเรื่องเกษตรเหมือนกัน ได้เจอคนที่มีองค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการเกษตร ก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน มาสานต่อความคิดและแรงบันดาลใจ เกิดเป็นเครือข่ายเกษตรคนเมืองขึ้น มีกิจกรรมอะไรก็ไปช่วยกัน

ปัจจุบันก็จะมีศูนย์อบรมอื่นๆ ที่ทำเรื่องเกษตรไร้สารเหมือนกัน มีโครงการอื่นที่เข้ามาร่วมเรียนรู้กับโครงการสวนผักคนเมือง ปัจจุบัน เรามีเครือข่ายอยู่ประมาณ 50,000 คน ที่เขาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเรา เขาได้กลับไปทำสวนผักของตัวเอง” นครกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ปัจจุบัน นอกจากนครจะจัดอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์ที่ 'ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก' ย่านลาดพร้าว 71 แล้ว เขายังได้รับเชิญจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆให้ไปเป็นวิทยากร เพื่อแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรไร้สารอยู่เสมอ

อีกทั้งเขายังมีเฟซบุ๊ก Nakorn Limpacuptathavon เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการสื่อสารระหว่างบรรดาคนรักผักด้วยกัน ซึ่งนครมองว่า การที่ได้แบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและนำมาซึ่งความสุขใจอย่างที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้

อาหารดี สุขภาพดี

นครยังบอกด้วยว่า เกษตรอินทรีย์นั้นเป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่ทางเลือกด้านสุขภาพที่ดีกว่า จึงอยากจะเชิญชวนทุกคนให้หันมาปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

“การปลูกกินเอง มันทำให้เราต้องศึกษาคุณสมบัติของผักแต่ละชนิด ทำให้เรารู้ว่าผักแต่ละอย่างมันมีสารอาหารอะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกาย มันก็นำไปสู่ทางเลือกด้านสุขภาพ เช่น ถ้ารู้ว่าเราป่วยเล็กๆน้อยๆ เราอาจจะไม่ต้องไปหาหมอ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะก็ได้ เราสามารถกินอาหารเป็นยา หรือกินสมุนไพร เช่น รู้สึกเจ็บคอก็ไปเก็บใบฟ้าทะลายโจรมาต้มน้ำกินก็หาย

การกินผักที่ปลอดภัยไร้สารพิษนั้น ทำให้เราได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่มีสารพิษสะสม สุขภาพร่างกายเราก็แข็งแรง อย่างตัวผมเองเนี่ยเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนเลย จากคนที่มักมีอาการร้อนใน ป่วยบ่อย แต่ตั้งแต่มาปลูกผักกินเอง ผมไม่เคยป่วยมา 6-7 ปีแล้วนะ

ต้องบอกว่าเกษตรอินทรีย์ มันเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพชีวิตของประชากรนะ จะเห็นว่าในปัจจุบันประเทศต่างๆให้ความสนใจและหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันมาก อย่างประเทศออสเตรียจะสนับสนุนให้ประชากร 1 ใน 10 ของประเทศทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้สารเคมีสำหรับการบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือก็นำไปจำหน่ายในตลาดนัดชุมชน ซึ่งจัดสำหรับผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ

คนซื้อก็มักจะนำถุงหรือภาชนะมาเองเพื่อลดปริมาณขยะ คือเขาปลูกผักกินเองกันเป็นวัฒนธรรมเลยนะ ไม่ว่าจะอยู่ชานเมืองหรือในเมือง ทำให้ชีวิตของเขาพึ่งพาตัวเองได้ พอหิมะละลาย ทุกบ้านก็จะปลูกผัก

ตอนที่ผมไปฝึกงานที่ออสเตรียนะ แม้แต่นักศึกษาที่เช่าทาวน์เฮาส์อยู่รวมกัน ก็ยังต้องปลูกผักกินเอง เพราะเขามองว่า การปลูกผักไว้ปรุงอาหารกินเองนอกจากจะประหยัดแล้ว ยังปลอดภัยกว่าอาหารที่ซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีการปรุงแต่ง หรืออาหารที่ผลิตมาในระบบอุตสาหกรรม

ผมว่าคนไทยโชคดีกว่าอีกหลายๆประเทศนะ เพราะอากาศดี ดินดี แดดดี ปลูกอะไรก็ขึ้น เพราะฉะนั้นทุกบ้านสามารถปลูกผักไว้กินเองได้ ง่ายกว่าที่คิดครับ ได้ทั้งความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพที่ดีกว่า” นครกล่าวตบท้ายด้วยรอยยิ้มละไม

ปลูกผักง่ายๆ สไตล์เจ้าชายผัก

เจ้าชายผักบอกว่า การปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมายอะไร แม้แต่คนที่อยู่คอนโดก็สามารถปลูกผักไว้กินได้ เพียงแต่เลือกชนิดของผักและภาชนะให้เหมาะกับพื้นที่และสภาพอากาศ

“ถ้าบ้านมีพื้นที่น้อยๆ ผมคิดว่าอันดับแรกเลย เราต้องปลูกผักที่สอดคล้องกับความต้องการของเราและสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ เราเขียนลงกระดาษก่อนเลยว่า เราอยากกินผักอะไร จากนั้นดูว่าพื้นที่ของเราปลูกอะไรได้บ้าง เช่น ถ้าบ้านเราแดดเข้าได้น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เราก็ยังสามารถปลูกผักที่มีขายตามท้องตลาดได้ แม้จะไม่ได้สวยหรือโตเท่ากับที่เขาวางขาย

โดยเน้นการปลูกผักในภาชนะเป็นหลักเพื่อที่จะได้สามารถโยกย้ายไปตั้งในบริเวณที่มีแสงแดดในแต่ละช่วงของวันได้ หรืออาจจะปลูกผักที่ไม่ต้องการแดดมาก เช่น โหระพา กะเพรา วอเตอร์เครส ขิง ข่า จินจูฉ่าย หรือเลือกเพาะเห็ด ถั่วงอก เมล็ดทานตะวัน

แต่ถ้าอยากเพิ่มพื้นที่การวาง ก็ทำเป็นชั้นแล้วปลูกในแนวตั้ง ซึ่งการปลูกในแนวตั้งก็อาจจะต้องรดน้ำบ่อยขึ้น เพราะการวางต้นไม้สูงจากพื้นจะทำให้การระเหยของน้ำเร็วขึ้น”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย กฤตสอร)








กำลังโหลดความคิดเห็น