xs
xsm
sm
md
lg

ปูเล็งขยายการลงทุนในแอฟริกา สั่ง พณ.ตั้งศูนย์ค้าอัญมณีในโมซัมบิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (29 ก.ค.56) ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และคณะ ในการเดินทางเยือนสาธารณรัฐโมซัมบิก สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐยูกันดา อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-2 ส.ค.ว่า ในช่วงค่ำของวันที่ 28 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมหารือกับภาคเอกชนไทย
ทั้งนี้นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลหารือ ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้แทนภาคเอกชนไทย ที่ต้องการขยายการค้าการลงทุนในแอฟริกา ว่า นายกรัฐมนตรี เห็นว่าทวีปแอฟริกา มีความสำคัญกับประเทศไทยในการเปิดโอกาสใหม่ทางการค้า ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2557 ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมร่วมไทย-แอฟริกา โดยระหว่างการเดินทางเยือนประเทศแทนซาเนีย นายกรัฐมนตรีจะได้ประกาศเจตจำนงค์ไทย-แอฟริกา หรือ Thai – Africa Initiative ที่เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างกันใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านวิชาการ และด้านการเมืองระหว่างประเทศ การเดินทางครั้งนี้น่ายินดีที่มีภาคเอกชนไทยร่วมคณะมากที่สุดถึง 59 ราย จากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน พลังงานทดแทน ก่อสร้าง สินค้าเกษตร ท่องเที่ยว สิ่งทอ ยานยนต์ อัญมณี เพราะแอฟริกาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง ต้องการการสนับสนุนด้านความรู้และวิชาการ รวมถึงการลงทุนจากประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจไทยในการเพิ่มช่องทางการค้าใหม่
ทั้งนี้ในการหารือ นายณรงค์ ศศิธร อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน 54 ประเทศในทวีปแอฟริกามีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดในโลก และด้วยประชากรที่มากกว่า 1,100 ล้านคน อีกทั้งกว่า 65% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี กำลังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันการขยายตัวของชุมชนเมือง และชนชั้นกลาง จะทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมประมง เป็นแหล่งแร่อัญมณี และมีการค้นพบแหล่งพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ขณะที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ทางบริษัทได้เริ่มลงทุนในโมซัมบิคแล้วประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีการพบก๊าซธรรมชาติปริมาณกว่า 100 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งมากกว่าที่ประเทศไทยมีถึง 4 เท่า และยังคงมีแผนการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความไว้วางในจากโมซัมบิคในการช่วยทำแผนแม่บทด้านพลังงานให้กับประเทศ รวมทั้งไทยได้มีการพาไปดูงานการต่อยอดธุรกิจในอีสเทิร์นซีบอร์ดของไทย และกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยังได้มอบทุนการศึกษาด้านพลังงานระดับปริญญาโทให้กับหลายประเทศในอาฟริกาอีกด้วย
ส่วนนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า ทางบริษัทได้เข้ามาลงทุนเพื่อพัฒนาระบบรางรถไฟ และท่าเรือในโมซัมบิคแล้ว โดยท่าเรือที่กำลังก่อสร้างเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอาฟริกา และสามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกทวายได้ โดยใช้เวลาในการเดินเรือเพียง 8 วันเท่านั้น เท่ากับว่าสินค้าจากไทยสามารถนำเข้าสู่แอฟริกาได้อย่างสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้โมซัมบิคจะเป็นแหล่งแร่อัญมณีที่สำคัญ แต่ยังติดปัญหาที่โมซัมบิคห้ามนักลงทุนต่างชาติดำเนินธุรกิจค้าอัญมณี ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการของไทย
นายธีรัตถ์ กล่าวอีกว่า หลังรับฟังปัญหาอุปสรรคของภาคเอกชนไทยแล้ว นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ไม่อยากเห็นเพียงแค่การนำวัตถุดิบจากต่างประเทศกลับเข้าประเทศไทย แต่ควรจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงให้ความรู้กับคนในท้องถิ่น จึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานในการจัดตั้งเป็นศูนย์กลางค้าขายอัญมณี ขึ้นในโมซัมบิคด้วย นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เตรียมจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และจะขอความร่วมมือประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ส่งตัวแทนเข้าร่วม เพื่อทำให้การค้าระหว่างกันสะดวกมากขึ้น เพราะยังมีโอกาสอีกมาก

**บันทึกความเข้าใจไทย-โมซัมบิก 7 ฉบับ
นายธีรัตถ์ กล่าวถึงการหารือระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ และนายอาร์มันโด เอมิลิโอ กูเอบูซา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐโมซัมบิกณ ทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐโมซัมบิก ว่า นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมความคิดริเริ่มของรัฐบาลโมซัมบิก เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถเชื่อมโยงประเทศและภูมิภาค ผ่านการพัฒนาระเบียงใต้-เหนือ และตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งรัฐบาลไทยถือว่าการสร้างความเชื่อมโยง หรือ Connectivity เป็นวาระแห่งชาติ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานของโมซัมบิกอย่างเต็มที่
ด้านการลงทุนยินดีสนับสนุนภาคเอกชนไทย ในการเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต่างๆของโมซัมบิกทั้งจากธุรกิจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.สผ. ซึ่งยังมีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมในอีก 5 ปีข้างหน้า การประมูลโครงการสร้างทางรถไฟ และท่าเรือทางภาคเหนือของโมซัมบิกของภาคเอกชนไทย
โดยการลงทุนของไทยในภาคพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานจะมีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
ในเดือนนี้ไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ไปโมซัมบิก ขณะเดียวกันทางประเทศไทย ยังได้มอบทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทให้แก่โมซัมบิกอีกอย่างน้อย 10 ทุน พร้อมกับการให้การอบรมระยะสั้นในหลากหลายสาขาตามที่โมซัมบิกสนใจ
ส่วนความร่วมมือในสาขาอัญมณี เนื่องจากโมซัมบิกเป็นแหล่งแร่อัญมณีที่สำคัญ ทำให้การเยือนครั้งนี้ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการในสาขาอัญมณีซึ่งแผนปฏิบัติการเป็นกรอบการดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการลดอุปสรรคด้านการค้าขาย อัญมณีระหว่างกัน ทำการพัฒนาวิจัยร่วมกัน โดยฝ่ายไทยและโมซัมบิกจะร่วมกันทำงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาตลาดอัญมณี รวมถึงลดอุปสรรคด้านการค้า โดยไทยพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในด้านการเพิ่มศักยภาพแก่อุตสาหกรรมอัญมณีของโมซัมบิกด้วย
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงมาปูโต ถือเป็นแห่งที่ 9ในแอฟริกา เพื่อสานสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ ภายหลังการหารือเสร็จสิ้น ผู้นำ2 ประเทศได้ร่วมเป็นประธานในการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 7 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ บันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือทางการบิน ความตกลงว่าด้วยการยกเว้น การตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูตและราชการ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว บันทึกความเข้าใจด้านความเข้าใจด้านความมั่นคงทางอาหารผลิตภัณฑ์ ทางการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค และความตกลงว่าความร่วมมือทางด้านพลังงาน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางกลับมายังโรงแรมที่พัก เพื่อเยี่ยมชมการจัดแสดงพลอยดิบ โดยกระทรวงทรัพยากรแร่โมซัมบิก

**เดินสายแทนซาเนีย คุยยุทธศาสตร์แอฟริกา
กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ มีกำหนดจะเดินทางเยือนสหสาธารณรัฐแทนซาเนียอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายจาคายา มริโช คิเควเต (Jakaya Mrisho Kikwete) ประธานาธิบดีแทนซาเนีย ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม-1สิงหาคม56
มีกำหนดพบหารือกับนายจาคายา มริโช คิเควเต ในประเด็นความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การอนุรักษ์สัตว์ป่า และความร่วมมือวิชาการ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย – แทนซาเนียไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวคำปราศรัยสำคัญในงาน Thailand - Tanzania Forum เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ไทยต่อแอฟริกา และ Thai - African Initiative ซึ่งเป็นความริเริ่มของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทย - แอฟริกา โดยมีกำหนดจัดการประชุม High - Level Dialogue ระหว่างผู้นำไทยและแอฟริกาที่ประเทศไทยในช่วงต้นปี 2557 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบปะกับภาคเอกชนชั้นนำของไทยและแทนซาเนียด้วย
ในการเยือนครั้งนี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจหกฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการอุทยานและสัตว์ป่า (3) ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองต่างตอบแทนในการลงทุน (4) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรแร่ (5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค และ (6) บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติกับกระทรวงพลังงานและทรัพยากรเหมืองแร่แทนซาเนีย
กำลังโหลดความคิดเห็น