คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
ผมมีโอกาสได้ไปร่วมฟัง และแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ ที่เดินทางมาประชุมร่วมกันในเวทีประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสได้พบพี่น้องเพื่อนฝูง กลุ่มคนที่กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาต่างๆ นักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการ ฯลฯ ที่คลุกคลีกับปัญหาในมิติต่างๆ ทั่วทุกภาค ได้อ่านเอกสารที่คณะทำงานได้สรุปกลั่นกรองออกมาเป็นมติต่างๆ ตั้งแต่การประชุมสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 1 (2554) และมติครั้งที่ 2 (2555) นั่งฟังเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมประชุม คำพูดที่หลายท่านได้นำเสนอออกมาในที่ประชุม และโดนใจผมมากในเวทีแห่งนี้ก็คือ คำพูดที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากการลุกขึ้นสู้..มากกว่าการนั่งประชุม”
ผมนั่งอ่านรายละเอียดของมติสมัชชาปฏิรูปที่ผ่านมา 2 ครั้ง ก็พบว่ามติของสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 1 มีทั้งหมด 8 มติคือ 1.การปฏิรูปการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 2.การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3.การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในกรณีที่ดินและทรัพยากร 4.การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม 5.การสร้างระบบการประกันในการดำรงชีพและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ 6.การสร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 7.การปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของ ชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 8.ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม
ในครั้งที่ 2 สมัชชาปฏิรูปมีมติจำนวน 6 มติประกอบด้วย 1.การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ : การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้าง การเพิ่มประสิทธิภาพและการคุ้มครองแรงงาน 2.การปฏิรูประบบเกษตรกรรม : เพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร 3.การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ สู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกับชุมชนท้องถิ่น 4.การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศไทย 5.การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน : การบริหารจัดการที่ดิน 6.การปฏิรูปการศึกษา : ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ถ้ารัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง นำเอามติของที่ประชุมสมัชชาปฏิรูปไปปฏิบัติโดยมีการวางเป้าหมายให้ทุกข้อเสนอ ให้มีผลภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 5 ปี สังคมไทยโดยรวมก็น่าจะมีสัญญาณเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ดี และเครือข่ายต่างๆ อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาประชุมกันอีกครั้งในปีนี้ เพราะในแต่ละมติของสมัชชาฯ ได้ลงรายละเอียดประกอบข้อเสนอของแต่ละมติเอาไว้อย่างครบถ้วน มีการบรรยายสภาพของปัญหา แนวทางแก้ไขปัญหาที่เชื่อมโยงกับตัวบทกฎหมายตั้งแต่กฎหมายสูงสุดของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีข้อเสนอต่อกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ให้ปรับปรุงบทบาท และสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญๆ และเกี่ยวข้องตั้งแต่ปัญหาในระดับโครงสร้างจนถึงปัญหาปลีกย่อยต่างๆ ที่เกี่ยวโยงเพื่อเดินไปตามความต้องการสูงสุดของเวทีที่วางไว้ว่า “ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม”
ถึงวันนี้สภาพปัญหาต่างๆ ที่สมัชชาฯ ได้หยิบยกกันขึ้นมาตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงวันนี้ มีปัญหาใดที่หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐบาลได้หยิบเอาไปเป็นแนวทางในการแก้ไขบ้าง ผมเข้าใจว่าพี่น้องร่วมสังคม และผู้ร่วมสมัชชาทุกท่านย่อมตระหนักได้ด้วยตัว ของเขาเอง ภาพเหตุการณ์ของกลุ่มปัญหาประชาชนที่รวมตัวกันในนามกลุ่ม P-Move ที่มีทั้งพี่น้องประชาชนที่ไร้ที่ทำกิน ที่อาศัยทำกินในพื้นที่ของรัฐจนถูกดำเนินคดีมากมายทุกภูมิภาค ทั้งๆ ที่มติข้อแรกของสมัชชาปฏิรูปครั้งที่ 1 คือ ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน การเรียกร้องให้มีการเปิดเขื่อนเพื่อความอยู่รอดของพันธุ์สัตว์น้ำและอาหาร โปรตีนตามธรรมชาติของชุมชนที่เขื่อนปากมูลที่ยืดเยื้อมานานแสนนาน การลุกกันขึ้นมาคัดค้านการนำถ่านหินเข้ามาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
การเสียชีวิตของผู้ใหญ่บ้าน นายประจบ เนาวโอภาส อายุ 43 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนของตัวเองจากการนำกากสารพิษมาทิ้งในชุมชนของเขา และที่น่าสลดใจก็คือ ผู้ที่ตกเป็นจำเลยพบว่าทั้งผู้จ้างวานฆ่า และผู้ลงมือฆ่าผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ การเดินขบวนมาทวงถามงบประมาณสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 35% ของเหล่านักการเมือง และข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำเนียบรัฐบาล เกิดปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา การลุกขึ้นมาคัดค้านการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยของพี่น้องที่เกาะสมุย เพราะประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความกังวลต่อการสูญเสียรายได้ทั้งรัฐ และชุมชนในพื้นที่ที่จะเสียไป จากการอนุมัติให้มีการสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ และมีคำถามเรื่องพลังงานที่เป็นประเด็นมากมายต่อผลตอบแทนจากแหล่งพลังงานของชาติ หรือการเข้ามาเอาผลประโยชน์จากต่างชาติต่อแหล่งพลังงาน รวมไปถึงราคาพลังงานในประเทศที่มีการถกเถียงถึงผลประโยชน์ในเรื่องพลังงานที่ตกไปอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่ม ฯลฯ
ภาพสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านั้น ทำให้เราได้ตระหนักว่าการเคลื่อนตัวในนามสมัชชาปฏิรูปได้ทำภารกิจในส่วนของการรวบรวมสภาพปัญหาหลักๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ตลอดจนได้ใช้พละกำลังทางสมองสติปัญญาเพื่อทำข้อเสนอออกมาเป็นมติในแต่ละเรื่อง ในแต่ละประเด็นที่เป็นปัญหาทั้งในระดับโครงสร้าง และในประเด็นต่างๆ เสร็จสิ้นในเชิงเนื้อหา แต่โจทย์ต่อไปที่เป็นคำถามสำหรับพวกเราก็คือ ถ้ารัฐบาล และหน่วยงานที่เป็นกลไกของรัฐปฏิเสธที่จะนำเรื่องราวอันเป็นมติต่างๆ ไปปรับปรุงแก้ไข การขับเคลื่อนด้วยพลังของพลเมืองเพื่อการปฏิรูปให้เป็นไปได้ในสิ่งที่มีมติ นั้นจะทำกันอย่างไร? ....“การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากการลุกขึ้นสู้..มากกว่าการนั่งประชุม” จึงเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนความรู้สึกของพี่น้องร่วมสังคมทั้งในที่ประชุม และที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ อันเลวร้าย และหมักหมมมานานแสนนานของสังคม