xs
xsm
sm
md
lg

11 ประเด็นที่ “สมัชชาคนสตูล” ต้องการพัฒนา ล้วนยืนบนฐานวิถีชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
รูดม่านปิดแล้วเวที “สมัชชาคนสตูล ครั้งที่ 2” ได้ข้อสรุป 11 ประเด็นใหญ่ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนา ซึ่งล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรท้องถิ่น และวิถีชุมชน ชง “ผู้ว่าฯ” รับไปผลักดันให้เกิดการพัฒน่าต่อไป

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล อ.เมือง จ.สตูล ชาวจังหวัดสตูล และกลุ่มภาคีเครือข่ายสมัชชาคนสตูลประมาณ 30 องค์กร ได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาคนสตูล ครั้งที่ 2 “รวมคน ร่วมคิด กำหนดทิศทางคนสตูล” ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยในวันนี้จะมีการนำเสนอรูปแบบทิศทางการพัฒนา จ.สตูล ทั้ง 11 หัวข้อที่ประชาชนอยากให้เป็นและได้ช่วยกันระดมความคิดเห็นมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประกาศเจตนารมณ์ของนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ที่ได้ประกาศไว้ในวันเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล โดยได้นำเสนอวาทกรรมที่ชัดเจนว่า “680 วัน สานฝันคนสตูล” ถือเป็นปณิธานที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาเมืองสตูลไปสู่ความดีงาม “สมัชชาคนสตูล” ที่รวมตัวกันจากองค์กร ภาคีเครือข่ายต่างๆ กว่า 30 องค์กรที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมในประเด็นต่างๆ จึงจัดเวที “รวมคน ร่วมคิด ร่วมกำหนดทิศทาง คนสตูล” ขึ้น เพื่อระดมความคิด และความฝันในมิติต่างๆ ของ จ.สตูล ส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นำไปสานต่อสู่การปฏิบัติจริงต่อไป ดังนี้

 
1.กองทุนสวัสดิการ : ข้อเสนอที่สำคัญในระดับตำบล (กองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล) คือ พัฒนากองทุนให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อการจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน/ตำบล ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มคน และครอบคลุมจำนวนประชากรทั้งตำบล ส่วนข้อเสนอในระดับจังหวัด คือ เสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับงานสวัสดิการชุมชนสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนการดำเนินงานสวัสดิการชุมชนทั้งระดับตำบล และระดับจังหวัด โดยร่วมกันประชาสัมพันธ์เรื่องสวัสดิการชุมชน และสนับสนุนงบประมาณสมทบกองทุนสวัสดิการตำบลอย่างต่อเนื่อง

 
2.การจัดการทรัพยากรทะเล และชายฝั่ง : เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.สตูล เป็นไปอย่างมีศักยภาพ ควรดำเนินการ ดังนี้

- ต้องมีมาตรการบังคับใช้ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการปรับปรุงระบบกฎหมายเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการทำประมงตามสภาพพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชาวประมงด้วยกัน และต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของเครือข่ายองค์กรชุมชนที่มีอยู่แล้ว

- ต้องมีมาตรการบริหารจัดการ หรือควบคุม ดูแล การปล่อยน้ำเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การเกษตรกรรม และน้ำทิ้งจากชุมชน รวมทั้งควบคุมสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะที่เกิดจากการขยายตัวของแหล่งท่องเที่ยว รีสอร์ต โฮมสเตย์ รวมถึงการขยายตัวของชุมชน ที่คาดว่าจะเสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบบนิเวศ ตลอดถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรม จารีตประเพณีของคนในพื้นที่

- ต้องทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ จ.สตูล เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เนื่องจากเป็นโครงการที่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโดยรวมของอ่าวปากบารา และทะเลสตูล

- ต้องจัดให้มีการสำรวจ และศึกษาพื้นที่คุ้มครองเฉพาะ เพื่อประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในระดับภูมินิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่ปลาวางไข่ พื้นที่สัตว์น้ำหายาก แหล่งปะการัง แหล่งหญ้าทะเล พื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากร ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอาหารทางทะเลที่สำคัญของ จ.สตูล เช่น พื้นที่เกาะสาหร่าย, อ่าวตันหยงโป, อ่าวแหลมสน, อ่าวปากบารา, อ่าวขอนคลาน

- ส่งเสริมให้มีการการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงพื้นบ้าน และสนับสนุนกลุ่มเหล่านั้นให้ดูแล รักษา และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การทำธนาคารปูไข่ ธนาคารกั้ง แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ บ้านปลา และส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มองค์กรชาวประมงพื้นบ้าน

 
3.การท่องเที่ยวโดยชุมชน : จังหวัดต้องส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียนรู้รูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านกระบวนการลงพื้นที่จริง ร่วมกิจกรรม และนำรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวภายใต้ศักยภาพเชิงธรรมชาติที่มีอยู่ และพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างต่อเนื่อง จริงจัง มิใช่ชุมชนเป็นเพียงแหล่งถูกท่องเที่ยวเช่นในปัจจุบัน

4.การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย : โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ จากการสอนหนังสือมาเป็นการสอนคน โดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยทางจังหวัดต้องส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทสังคม และสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน ผ่านการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนภายใน จ.สตูล เพื่อเรียนรู้อัตลักษณ์ บริบท ศาสนา วัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด “โรงเรียนรากัน (เกลอ) สโตย” นอกจากนี้ ทางจังหวัดต้องส่งเสริมระบบโรงเรียนคู่แฝดระหว่างประเทศ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียน และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเตรียมรับมือพิบัติภัยแก่โรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงด้วย

 
5.การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน : ที่ผ่านมา หน่วยงานรับผิดชอบมีหลายหน่วยงาน ต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นเรื่องดีที่หลายฝ่ายช่วยกัน แต่ผลออกมากลับเสมือนมิได้ทำอะไรลงไป ฉะนั้น ในเมื่อใช้วิธีแบบเดิมแล้วได้ผลน้อย น่าจะปรับเปลี่ยนใหม่ โดยมีข้อเสนอดังนี้

- ส่งเสริมให้ชุมชนมาเป็นเจ้าภาพ สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนน โดยหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการทำงาน และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ใกล้ถนนในการออกแบบสร้างถนนที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน ทั้งนี้ การสร้างถนนนั้น หน่วยงานควรสอบถาม และรับฟังความคิดเห็นและปัญหาที่เกิดขึ้นของคนในพื้นที่

- บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และให้ จ.สตูล มีวาระเฝ้าระวังการใช้รถใช้ถนนของเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ระดับชุมชน และหน่วยงาน

 
6.การจัดการภัยพิบัติทางชุมชน : หลังจากเกิดภัยพิบัติธรรมชาติใน จ.สตูล เช่น สึนามิ พายุ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ทำให้กระบวนการชุมชนเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัยได้ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

- สร้างฐานข้อมูลภัยพิบัติ ชุมชนต้องเตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยง
- เสริมศักยภาพอาสาสมัครในการป้องกันภัยพิบัติชุมชน
- ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่อาจก่อให้เกิดปัญหาภัยพิบัติ เช่น ทางระบายน้ำ ท่อ คู คลอง สะพาน
- สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ประสานงานจัดการภัยพิบัติชุมชน เพื่อจัดทำแผนเตรียมความพร้อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
- สนับสนุนระบบสื่อสารระดับชุมชนในการเฝ้าระวังและเตือนภัยในพื้นที่
- ส่งเสริมระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ

- สนับสนุนให้มีการจัดทำหลักสูตรการจัดการภัยพิบัติ และจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
- สนับสนุนชุมชนที่มีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติเป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาของพื้นที่อื่น
- จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีบทบาทในการออกแบบการจัดการ
- ไม่สร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสตูล เช่น เขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

 
7.สุขภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค : ข้อเสนอที่สำคัญ คือ ให้มีองค์กร หรือคณะทำงานภาคประชาชนเข้ามาดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาลเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และให้สำนักงานจังหวัดกำหนดให้มีการจัดเวทีสภาผู้บริโภคจังหวัดสตูลประจำทุกปี ปีละครั้ง โดยบูรณการระหว่างสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูลและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค

รวมทั้งให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดร่วมกับเครือข่ายมีการรายงานผลมติประเด็นการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค (เครือข่าย 9 ด้าน) ต่อสาธารณะผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทุกภาคส่วน และรายงานผลผ่านเวทีสมัชชาคนสตูลทุกปี โดยมีประเด็นที่ต้องรายงาน ดังนี้

- ด้านคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติ
- ด้านสุขภาพตามกฎหมายกระทรวงสาธารณสุข
- ด้านฮาลาล ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรศาสนาอิสลาม

 
8.การจัดการที่อยู่อาศัยโดยชุมชน : มีข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้
ระดับตำบล
- พัฒนาระบบการบริหารจัดการกองทุนที่อยู่อาศัยระดับตำบลให้มีความเข้มแข็งสามารถช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้อย่างยั่งยืน และเชื่อมโยงไปสู่งานพัฒนาด้านอื่นๆ
- พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ แก่คณะกรรมการฯ ของชุมชน เนื่องจากคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านยังขาดทักษะในการทำงาน
- ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และความร่วมมือกับหน่วยงานและสังคมภายนอกได้รู้จัก/รับรู้การขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

ระดับจังหวัด
- กำหนดนโยบายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ท้องที่ ท้องถิ่น ในการหนุนเสริมการพัฒนากองทุนที่อยู่อาศัยระดับตำบล
- สำรวจข้อมูลครัวเรือนผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดิน และที่อยู่อาศัยทุกหมู่บ้าน/ชุมชนทั้ง จ.สตูล ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสภาองค์กรชุมชนตำบล
- การสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการจากภาครัฐ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ในชุมชนที่ดำเนินการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
- กำหนดกลไกร่วมระหว่างองค์กรชุมชน องค์กรท้องถิ่นและส่วนราชการ ในการวางแผนการแก้ปัญหา วางแผนพัฒนา และการติดตามงานก่อสร้าง

ระดับนโยบาย
- ให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง

 
9.การจัดการเกษตรอย่างยั่งยืน : มีข้อเสนอที่สำคัญดังนี้คือ ให้ทบทวนยุทธศาสตร์ และเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดยเฉพาะยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน และการจัด Zoning พื้นที่ด้านการเกษตร และกำหนดพื้นที่คุ้มครองที่เป็นฐานอาหาร ตามบทบัญญัติการปกครองท้องถิ่น และกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

มาตรการระยะสั้น
- ประกาศวาระจังหวัดสตูล เป็นเมือง “เกษตรสุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร” (Healthy Green Clean and Food Security City)
- ออกนโยบายสนับสนุน “เกษตรสุขภาพ” ซึ่งปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
- ส่งเสริมกิจกรรมเกษตรชุมชน (Community Support Agriculture - CSA) ตลาดสีเขียวในระดับชุมชน และจังหวัด
- จัดตั้งกองทุนสนับสนุน “เกษตรกรรมเพื่อคลังยาคลังอาหาร” จังหวัดสตูล เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน หรือองค์กรเกษตรกรตระหนัก และมีส่วนร่วมในการจัดการด้านความมั่นคงทางอาหารและยา

มาตรการระยะยาว
- ต้องมีการจัดสรรสิทธิทำกินและที่ดินทำกิน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ในการเกษตรอย่างเป็นธรรม
- สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมพื้นบ้าน และภูมิปัญญาการเกษตรจังหวัดสตูล (ตามภูมินิเวศ เขา-นา-เล)
- ออกนโยบาย “พฤกษาอาเซียน” อุทยานการเรียนรู้ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดินหรือพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมจังหวัดสตูล
- ออกนโยบายให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่เกิดขึ้นจากภาคเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ และรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรจาการถูกขายทอดตลาด

 
10.สถานการณ์ด้านเด็ก เยาวชน และสตรี : ข้อเสนอที่สำคัญ คือ ต้องการให้สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงออกอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์

ส่วนสถานการณ์ด้านสตรี มีข้อเสนอดังนี้
- ส่งเสริมให้สตรีมีความรู้ความสามารถทางด้านภาษา เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เน้นการสนทนา)
- ส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมให้แก่สตรี และยกระดับการศึกษาของสตรีให้สูงขึ้น
- ส่งเสริมให้ผู้นำชุมชนยอมรับ และเห็นความสำคัญของสตรีให้มากขึ้น
- ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสังคม รวมทั้งแผนในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสตรีให้ดีขึ้นเพื่อสู่การแข่งขันในตลาด และหลักสูตรระยะสั้นในการพัฒนาสตรี รวมทั้งหลักสูตรพัฒนาบุคลิกภาพผู้นำสตรี

 
11.ท้องถิ่นจัดการตนเอง : มีข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้
- ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลสนับสนุนแนวคิดตำบลจัดการตนเอง และสนับสนุนให้ขยายครอบคลุมทุกท้องถิ่นทั้งจังหวัด
- ขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นหน่วยงานหลัก และหนุนเสริมเชิงประเด็นให้แนวคิดท้องถิ่นจัดการตนเอง ในฐานะที่เป็นท้องถิ่นที่ไม่มีพื้นที่ในการดำเนินการภารกิจตามกฎหมาย
- ต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบใน จ.สตูล ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น