xs
xsm
sm
md
lg

ถักทอสะพานข้ามความเหลื่อมล้ำของ ‘มดพลเมือง’

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็ด้วยการถักทอพลังประชาชนร่วมกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับของโครงสร้างสังคมซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (Active Citizen) ในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะและโครงการพัฒนานับแต่ขั้นตอนของการกำหนดประเด็นปัญหา นิยาม วิเคราะห์ จนถึงกำกับ ติดตาม และประเมินผล เพื่อทำให้นโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ทำร้ายประชาชนและชุมชนจากการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นจนสิ้น

ก้าวย่างสำคัญของการฉุดประเทศไทยไปให้พ้นหลุมดำแห่งความอยุติธรรมและไม่เท่าเทียมคือการระดมพลพรรคเข้าร่วมขบวนปฏิรูปประเทศไทยที่ไม่ต้องรอใครเป็นคนเริ่มต้นก่อน องค์กรใดลงมือก่อนกัน ด้วยที่สุดแล้วการลงมือปฏิบัติการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนมักตั้งต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเองในระดับปัจเจกบุคคลที่ไม่จำนนต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมจากรัฐส่วนกลางที่มักกระทำต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างไม่เป็นธรรม โดยอ้างวาทกรรมการพัฒนาและความเป็นตัวแทนของชุมชนท้องถิ่นและประชาชน (Representative) ในการกำหนดนโยบายและโครงการพัฒนานานาประเภท

ทั้งนี้ ในเส้นทางสายปฏิรูปไม่ได้หมายความผู้คนหรือองค์กรสถาบันที่เข้าร่วมขบวนปฏิรูปประเทศไทยจะต้องมีความเห็นสอดคล้องต้องกันในทุกเรื่องทุกประเด็นหรือมีความเป็น ‘เอกภาพ’ ในการเคลื่อนไหวจนไม่มีความขัดแย้งตามมาเลย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วต่างคนต่างองค์กรก็มีประเด็นที่ตนเองสนใจ ถนัด และเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อันอาจรวมถึงการมีแหล่งทุนสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายภายนอกที่กำหนดประเด็นภารกิจการงานให้ด้วยโดยใช้วิธีการของการสนับสนุนด้านทรัพยากรเงินและกำลังคนเป็นหลัก

ดังนั้นแนวทางขับเคลื่อนขบวนปฏิรูปประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและคาดหวังความสำเร็จและระดับความเข้มข้นของความร่วมมือได้ค่อนข้างมากจึงจำเป็นต้องเปิดพื้นที่/เวทีสาธารณะให้กับความหลากหลายทางความคิดเห็นได้แสดงออกประดุจเดียวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Speech) ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยรสนิยมความชอบหรือไม่ชอบของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถึงที่สุดจะทำให้สามารถหลอมรวมผู้คนมาร่วมขบวนได้โดยไม่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดรู้สึกถึงความเป็นอื่น (Other)

นัยสำคัญของการสร้างเวที/พื้นที่สาธารณะนอกจากจะทำให้นโยบายสาธารณะที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมคิดค้นของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับความต้องการของประชาชนและบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของพื้นที่แล้ว ยังสามารถพัฒนามาเป็น ‘ตลาดนโยบายสาธารณะ’ (Public Policy Market) ที่หลายนโยบายด้านสุขภาวะจะไม่มีทางหาได้ในนโยบายของภาครัฐและการเมืองส่วนกลาง ขณะเดียวกันการมีเวที/พื้นที่สาธารณะสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมคิดค้นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทางเลือกเช่นนี้ก็มีความสำคัญต่อการดึงกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมโดยไม่สูญเสียวิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของตนเองแต่อย่างใด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มียุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันเพราะทั้งหมดยังคงมุ่งปักธงลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมเหมือนๆ กัน ยังพยายามถักทอสะพานข้ามความเหลื่อมล้ำร่วมกันอยู่

ในเวที/พื้นที่สาธารณะที่กว้างขวางและหลากหลายกระจายตัวตามความต่างของภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมดังสมัชชาปฏิรูประดับชาติที่จัดมาแล้ว 2 ครั้ง และกำลังจะจัดครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2556 นี้ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบแทค บางนา มีประเด็นต่างกัน ดังนี้

ข้อเสนอสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 คือ 1) การปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 2) การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3) การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในกรณีที่ดินและทรัพยากร 4) การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม 5) การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ 6) การสร้างสังคมไทยที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 7) การปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น และ 8) ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม

ครั้งที่ 2 กับการพัฒนาข้อเสนอลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม คือ 1) การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ : การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้างและการคุ้มครองแรงงาน 2) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ : สู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกลางกับชุมชนท้องถิ่น 3) การปฏิรูประบบเกษตรกรรม : ความมั่นคงเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 4) การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย 5) การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน : การบริหารจัดการที่ดิน และ 6) การปฏิรูปการศึกษา : ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพ

และปีที่ 3 กับการสานต่อการปฏิรูปจึงได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนใน 6 ประเด็นสำคัญสำหรับสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้ 1) ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง 2) การปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามเพื่อหยุดวิกฤตคอร์รัปชัน เพิ่มภาพลักษณ์ความโปร่งใส 3) การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน : สิทธิ การเข้าถึง และความเป็นธรรมเพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน 4) พลังพลเมืองปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคม 5) ปฏิรูปกลไกขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศ เสริมพลังพลเมืองสู่การปฏิรูปประเทศไทย และ 6) การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ

สายธารการสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมที่ทอดตัวยาวนานต่อเนื่องในหลายประเด็นตามความสนใจโดยไม่จำกัดภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมส่งผลให้มหาสมุทรแห่งความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะหาสะพานใดทอดตัวข้ามไปได้นั้นมี ‘ความหวัง’ ขึ้นมาทั้งในส่วนของการถมมหาสมุทรเหลื่อมล้ำด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมและระบบกฎหมาย และการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่ถักถ้อยร้อยรัดตัวเองและเพื่อนมิตรเข้าด้วยกันเพื่อถักทอตนเองและผองเพื่อนเป็นสะพานดุจเดียวกับ ‘มด’ ที่เกาะเกี่ยวตัวเองและมดตัวอื่นในฝูงแปรเป็นสะพานข้ามสองฟากฝั่ง

พลังพลเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคพลเมืองและสอดคล้องกับแนวทางเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิรูปประเทศไทย จึงเป็นพลังรูปธรรมของความเสียสละและความร่วมมือร่วมใจในการก่อสร้าง ‘สะพานข้ามความเหลื่อมล้ำ’ ที่ปัจเจกชนยอมเสียสละประโยชน์และทรัพยากรส่วนตัวแล้วร่วมสมัครสมานกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความเป็นธรรม เท่าเทียม และเสมอภาค พร้อมเพรียงกับคนและองค์กรอื่นๆ ที่มีจิตสาธารณะต่อการสร้างประโยชน์ส่วนรวม ดุจเดียวกับสะพานมด (Ants Bridges) ที่ถักทอจากมดตัวน้อยๆ แต่พลังมหาศาลจากการรวมตัวในการทำงานร่วมกันทำงานตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ในสถานการณ์นี้พลเมืองของขบวนปฏิรูปประเทศไทยจึงเสมือนเป็น ‘มดพลเมือง’ ที่ประสานสองฝั่งความเหลื่อมล้ำให้ถึงกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น