xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไม่ถึงตาย... แต่พิการ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นแล้วอาการมักดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรคมีความแตกต่างในผู้ป่วยแต่ละราย โรคนี้มักเกิดในเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี

โรคนี้มีสาเหตุจากอะไรบ้าง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรค แต่กระบวนการโรคเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจเกิดหลังการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุข้อ และมีการหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการทำลายข้อ และอาจมีอาการเกิดขึ้นกับอวัยวะระบบต่างๆ ของร่างกายได้

โรคนี้มีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ การตรวจวินิจฉัยโรคจึงต้องอาศัยการตรวจทางร่างกายร่วมกับการตรวจเลือด การเอกซเรย์ การตรวจน้ำในข้อ เป็นต้น

อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร

โรคนี้จะมีอาการรุนแรงมากในช่วง 1-2 ปีแรกของโรค และมีอาการแสดงได้หลายรูปแบบ ทำให้มีอาการแสดงทั้งทางข้อและอวัยวะระบบต่างๆ ของร่างกายได้ ดังนี้

1. อาการทางข้อ ได้แก่

1.1 ปวดและตึงตามข้อ แบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง โดยปวดตึงและขยับข้อลำบากหลังตื่นนอนในตอนเช้า อาจเป็นนานเกินหนึ่งชั่วโมงหรือเป็นทั้งวัน และอาการจะทุเลาลงหลังการเคลื่อนไหวข้อหรือแช่น้ำอุ่น

1.2 มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

1.3 มีการอักเสบของหลายข้อและเป็นทั้งสองข้าง ตำแหน่งข้ออักเสบที่พบบ่อยคือ ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อเข่า เป็นต้น

ระยะที่ข้ออักเสบ : จะมีลักษณะบวมร้อน กดเจ็บและมีน้ำในข้อ มักพบที่ข้อศอก ข้อเท้า และข้อเข่า

ระยะเรื้อรัง : จากการอักเสบอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างภายในข้อ และมีการผิดรูปของข้อต่างๆได้ เช่น ข้อคด ข้องอ ข้อบิดเบี้ยว เป็นต้น

2. อาการนอกข้อ ได้แก่

2.1 อาการทางผิวหนัง มีลักษณะเป็นตุ่มใต้ผิวหนังเรียกว่าปุ่มรูมาตอยด์ อาจมีปุ่มเดียวหรืออยู่เป็นกลุ่ม มักเป็นตำแหน่งที่มีการกด หรือเสียดสี เช่น ข้อศอก เป็นต้น

2.2 อาการในระบบอวัยวะต่างๆ เช่น ตาแห้ง ตาอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เป็นต้น มักเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีอาการอักเสบของข้อเป็นระยะเวลานาน และมักพบมีความพิการของข้อแล้ว

อาการของโรคมีการดำเนิน 3 แบบ ดังนี้

1. แบบโรครุนแรงต่อเนื่อง มีการอักเสบของข้อแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องนานหลายปี อาจมีการอักเสบกำเริบเป็นครั้งคราวจนเกิดความผิดรูปของข้อต่างๆ มักเป็นกับผู้ที่เป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อย

2. แบบกำเริบและสงบสลับกัน โดยมีจำนวนข้อที่อักเสบไม่กี่ข้อและมักไม่รุนแรงนานเกินหนึ่งปี โดยมีระยะสงบนานหลายปี จึงไม่พบการทำลายข้อ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีการกำเริบของโรคบ่อยครั้ง มีจำนวนข้อที่อักเสบเพิ่มมากขึ้นและเป็นนานขึ้น โดยมีระยะสงบสั้นลง จนในที่สุดกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรังและมีการทำลายข้อในที่สุด

3. แบบโรคสงบนาน มีการอักเสบของข้อที่รุนแรงพร้อมไข้สูงอย่างเฉียบพลันนานประมาณ 6 เดือน ก็จะเข้าสู่ระยะสงบนานเป็นสิบปี

การรักษาโรคนี้มีอะไรบ้าง

ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาให้หายขาด การได้รับการรักษาต่อเนื่องตั้งแต่ระยะแรกของโรค 1-2 ปี จะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง สามารถควบคุมโรคได้ และช่วยลดการเกิดข้อพิการได้ วิธีการรักษามีดังนี้

1. การรักษาทางยา เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ ระยะแรกแพทย์อาจให้ยาขนาดสูง ผู้ป่วยควรสังเกตและเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว

2. การทำกายภาพบำบัด ควรหมั่นบริหารข้ออย่างต่อเนื่องจะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบ เพื่อรักษาหน้าที่และสมรรถภาพของข้อไว้และป้องกันความพิการของข้อ

3. การรักษาทางศัลยกรรม ข้อที่มีความพิการผิดรูปหรือข้อที่ถูกทำลายอย่างมากและยังต้องการเคลื่อนไหวใช้งานอาจรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การตัดเนื้อเยื่อออก หรือเสริมแต่งข้อ การใช้ข้อเทียม เป็นต้น

ถ้าไม่รักษาจะมีผลเสียอย่างไรบ้าง

ผู้ที่ไม่รับการรักษาอาการปวดข้อจะทรมาน และอาจทำให้ข้อพิการผิดรูป เกิดความพิการเดินไม่ได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น อาจมีก้อนตามผิวหนังหรืออวัยวะต่างๆ การอักเสบของหลอดเลือด เป็นต้น

ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

1. รับประทานให้ครบตามกำหนด เมื่อมีอาการหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบรายงานและปรึกษาแพทย์
2. ติดตามรับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาและประเมินผลการรักษาได้ถูกต้อง
3. บริหารข้อตามคำแนะนำของแพทย์และประกอบภารกิจประจำวันตามปกติเท่าที่จะทำได้
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น หรือระหว่างตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม
5. ทำความเข้าใจในโรคที่เป็นอยู่และทำจิตใจให้สงบ ควรพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

อาหารที่มีผลกระตุ้นให้อาการกำเริบ คือ ผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด ทั้งจากนมวัวและนมแพะข้าวโพด เนื้อสัตว์ทุกชนิด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ไข่ ผลไม้ตระกูลส้ม มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่ว กาแฟ

อาหารอื่นที่อาจจะรับประทานได้ หรือควรจะหลีกเลี่ยงเพิ่มเติม

อาหารบางชนิดที่อาจจะกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ในบางคน แต่ไม่กระตุ้นอาการในคนกลุ่มใหญ่ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล้วย ช็อกโกแลต มอลต์ ไนเตรต หอมใหญ่ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง น้ำตาลอ้อย และเครื่องเทศบางชนิด

(ข้อมูลจากภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย หน่วยสุขศึกษา ฝ่ายผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)

กำลังโหลดความคิดเห็น