• ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “พระไตรปิฎกหินอ่อน” ของพม่าเป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก”
พม่า : เมื่อเดือนมิถุนายน 2013 องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระไตรปิฏกหินอ่อนภายในวัดมหาโลกมารชิน หรือวัดกุโสดอ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กองโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุดแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศพม่า ได้เผยรายละเอียดว่า พระไตรปิฎกดังกล่าว มีเนื้อหาครอบคลุมพระไตรปิฎกเถรวาทบาลีทั้งหมด ซึ่งในปีค.ศ.1868 พระเจ้ามินดง กษัตริย์องค์รองสุดท้ายของพม่า โปรดให้จารึกลงบนหินอ่อน 729 แผ่น และนำแต่ละแผ่นไปวางที่แท่นบูชาต่างๆภายในวัดกุโสดอ
คยอ อู ลวิน ผู้อำนวยการทั่วไปกองโบราณคดีฯ กล่าวว่า “การยอมรับในระดับสากลนี้ ทำให้ชาวโลกตระหนักถึงมาตรฐานชั้นสูงที่พม่าใช้อนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศในหลายทาง”
โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมใช้เวลา 3 ปี ในการยื่นรายละเอียดต่างๆ และถือเป็นครั้งแรกที่มรดกวัฒนธรรมของพม่าได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารพม่าเคยยื่นเรื่องขอจดทะเบียนเมืองพุกามเป็นมรดกโลก แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากการบูรณะไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
(จาก Irrawaddy)
• พระญี่ปุ่นใช้กลยุทธ์สอนแกะตรายาง ดึงคนเข้าฟังธรรม
ญี่ปุ่น : โคจุน อาซาดะ ภิกษุชาวญี่ปุ่นแห่งวัดโกกุรากูจิ เมืองโอจิยะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อเปิดคอร์สสอนการแกะตรายาง และแสดงธรรมในคราวเดียวกัน โดยมุ่งดึงคนใหม่ๆให้เข้าถึงพุทธศาสนา ซึ่งก่อนหน้านี้ ท่านเคยแกะสลักรูปพระพุทธเจ้าบนดินสอ ขณะกำลังท่องพระสูตร
พระอาซาดะสนใจเรียนการแกะตรายางด้วยตนเองจากหนังสือของโทโมโกะ สึกูอิ เมื่อปี 2006 จนเกิดความชำนาญ จากนั้นจึงเริ่มสอนคนทั่วไปตามเทศกาลงานท้องถิ่น กระทั่งเดือนมกราคม 2012 ท่านได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 โดยสอนการแกะตรายาง ซึ่งช่วยให้เหยื่อภัยพิบัติกล้าเปิดใจและปลดปล่อยความรู้สึกออกมา
ต่อมา พระอาซาดะได้ร่วมมือกับโทโมโกะ สึกูอิ ศิลปินนักแกะตรายางที่มีชื่อเสียง เปิดคอร์สสอนการแกะตรายางและแสดงธรรมไปพร้อมๆกัน ในชื่อ “Shogyo Mujos” ซึ่งเป็นคำที่มีรากฐานจากพุทธศาสนา หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอนิจจัง โดยสึกูอิสอนให้ผู้เข้าอบรมแกะตรายางที่เธอออกแบบเป็นรูปพระพุทธเจ้า จากนั้นต่อด้วยการสอนธรรมะของพระอาซาดะ ซึ่งจะใช้ภาษาง่ายๆ
ทั้งนี้ คอร์สแรกเริ่มที่เมืองโตเกียวเมื่อเดือนธันวาคม 2012 ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นหญิงสาววัย 20-30 ปี
(จาก Asahi Shimbun)
• ละครเพลง “เห้งเจีย” โชว์ในอเมริกา
สหรัฐอเมริกา : เทศกาลศูนย์ลิงคอล์นที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-28 กรกฎาคม 2013 ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เปิดตัวด้วยละครเพลงเรื่อง “เห้งเจีย : ไซอิ๋ว” ซึ่งนำเค้าโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้านคลาสสิกของจีนเรื่อง “ไซอิ๋ว” ที่แต่งขึ้นในปี 1592
โดยเชน ชิเซ็ง เป็นผู้เขียนบทและกำกับการแสดงจากบทประพันธ์เพลงของเดมอน อัลบาร์น มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางอันน่าตื่นตาตื่นใจของพระถังซัมจั๋งจากจีนไปยังอินเดีย เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก โดยมีเห้งเจีย(ลิง) ตือโป๊ยก่าย(หมู) และสัตว์อื่นๆ คอยคุ้มครองระหว่างการเดินทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีการแสดง 62 ชุด จากศิลปิน 10 ประเทศ ร่วมแสดงในเทศกาลนี้ด้วย
(จาก Xinhua)
• แฟชั่นโชว์ชุดสวนหินในวัดเซน จัดเต็มบนเวทีแคตวอล์กฝรั่งเศส
ฝรั่งเศส : การแสดงแฟชั่นโอต์ กูตูร์ (Haute Couture หมายถึง ศิลปะการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นสูง) คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2013 ที่นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2013 ด้วยแนวคิดสวนหินเซนของวัดเรียวอันจิ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกนั้น เรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากผู้ชมภายในงาน
งานแฟชั่นโชว์ดังกล่าวจัดโดย “วิกเตอร์&รอฟ” ห้องเสื้อสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ของวิกเตอร์ ฮอร์สติ้ง และรอฟ สโนเริน ทั้งสองเริ่มต้นการแสดงด้วยการนั่งสมาธิบนเวที ซึ่งจัดให้ดูคล้ายสวนเซน ที่มีรอยคลื่นของทรายสีขาว ขณะที่บรรดานางแบบสวมชุดผ้าไหมสีดำ เดินแบบออกมาทีละคน โพสต์ท่าเป็นก้อนหิน เพื่อประดับสวนตามจุดต่างๆ
ดีไซเนอร์ทั้งสองบอกว่า พวกเขาอยากแสดงออกซึ่งความรู้สึกสงบและว่างเปล่า ซึ่งเทียบได้กับความเรียบง่ายของสวนหินภายในวัดเซนของญี่ปุ่น
(จาก Asahi Shimbun)
• จีนหันมาจัดพิธีแต่งงานแบบพุทธ
จีน : เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2013 ภิกษุจีนได้ประกอบพิธีทางพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานแต่งงานของคู่บ่าวสาวชาวเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน
พิธีดังกล่าวเป็นพิธีแต่งงานที่แตกต่างจากเดิม โดยเพิ่มพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้าไป ภิกษุจะจุดธูปและสวดมนต์อวยพรให้คู่บ่าวสาว ใช้เวลาทั้งสิ้น 30 นาที เป็นอันเสร็จพิธี
ทั้งนี้ พิธีกรรมทางพุทธศาสนาในงานแต่งงาน ถือเป็นสิ่งใหม่ในประเทศจีน ขณะที่เริ่มในประเทศไต้หวันเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และค่อยๆเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา
(จาก Chinadaily)
• เฟซบุ๊กใช้ ‘ธรรมะ’ เข้าช่วย หวังลดพฤติกรรมอันธพาล
สหรัฐอเมริกา : เฟซบุ๊ก บริการเครือข่ายสังคมและเว็บไซต์ที่มีผู้นิยมใช้จำนวนมาก กำลังทดลองหาวิธี เพื่อให้เป็นเครือข่ายที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เป็นที่รู้กันดีว่า เฟซบุ๊กถูกใช้เป็นเวทีแสดงพฤติกรรมอันธพาล อาทิ การเยาะเย้ย ข่มขู่ ทะเลาะวิวาท คำด่าหยาบคาย ฯลฯ แต่ในยุคแรกๆของเฟซบุ๊ก ยังไม่มีเครื่องมือป้องกันพฤติกรรมไม่ดีเหล่านี้ กระทั่งปี 2010 อาร์ทูโร บีจาร์ ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมของเฟซบุ๊ก ตัดสินใจว่า ต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
บีจาร์ได้จัดสัมมนาเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเยล สแตนฟอร์ด และแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ มาพูดเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตามแนวคิดทางพุทธศาสนา ซึ่งพวกเขาแนะนำให้เฟซบุ๊กสร้างเครื่องมือป้องกันที่มีความเป็นส่วนตัวเฉพาะกลุ่ม ทั้งการสนทนา และการแสดงอารมณ์ต่างๆ รวมทั้งการที่จะแท็กเรื่องน่าละอายออกไปให้รับรู้ในสังคมวงกว้าง ผู้ใช้อาจต้องทบทวนให้ดีก่อนว่าสมควรหรือไม่
ในช่วงแรกที่เฟซบุ๊กนำเครื่องมือนี้มาใช้ มีผู้ใช้เพียงจำนวนน้อย แต่เพิ่มขึ้นเป็น 30% ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการวิจัยในปี 2012 โดยบริษัทแม็คอาฟี ซึ่งเป็นบริษัทดูแลความปลอดภัยบนอินเตอร์เนต เปิดเผยว่า อันธพาลในโลกไซเบอร์เกิดขึ้นในเฟซบุ๊กมากกว่าเครือข่ายสังคมอื่นๆ
(จาก Buddhistdoor)
• เจ้าของบริษัทรับออกแบบในอังกฤษ นั่งสมาธิทุกเช้า เพื่อเริ่มต้นวันที่ดี
อังกฤษ : Mettaengine เป็นบริษัทรับออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ที่ตั้งอยู่ในเมืองนิวพอร์ต ของเวลส์ ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2012 โดยชายหนุ่ม 3 คนที่รู้จักกันในศูนย์พุทธศาสนาคาร์ดิฟ พวกเขาได้นำการทำสมาธิมาใช้ในที่ทำงาน เพื่อคลายความเครียด และทำให้ใจสงบ
เกรแฮม ชิเมล ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์, วิลเลียม เอลเวิร์ธที ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และจอห์น เจมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ เล่าว่า พวกเขามีความสนใจในพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน และมีมุมมองไปในทางเดียวกัน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทดังกล่าวขึ้น
เกรแฮม กล่าวว่า “พวกเราพยายามนั่งสมาธิด้วยกันเป็นประจำทุกเช้า เพื่อเริ่มต้นวันที่ดี” โดยพวกเขาจะนั่งสมาธิวันละ 3 ครั้ง ภายในห้องที่ดัดแปลงเป็นห้องพระ มีพระพุทธรูปบนแท่นบูชา พร้อมดอกไม้และธูปเทียน
นอกจากนี้ พวกเขายังตั้งเป้าที่จะนำหลักศีลธรรมมาปฏิบัติในที่ทำงาน ด้วยการถือศีล 5 รวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่น มีความจริงใจและเอื้ออาทร เพราะเมื่อทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน จะทำให้เป็นคนมีเมตตา และทำงานร่วมกันเป็นทีมได้
ชายหนุ่มทั้งสามสังเกตเห็นถึงความต้องการเรียนรู้พุทธศาสนา ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในเวลส์ และเชื่อว่า ชุมชนชาวพุทธในเวลส์กำลังเติบโต
เกรแฮม กล่าวว่า “โลกตะวันตกเน้นวัตถุนิยมเป็นสำคัญ แต่ก็ยังมีบางคนที่ตระหนักว่า ชีวิตน่าจะมีอะไรมากกว่าความต้องการแต่สิ่งของใหม่ๆอยู่เรื่อยไป ศาสนาพุทธให้ความสำคัญเรื่องจิตใจมากกว่าเรื่องนอกกาย ซึ่งทำให้เราตระหนักดีว่า ยังมีสิ่งอื่นๆที่สำคัญมากกว่าการอยากได้รถ BMW รุ่นล่าสุด ที่จะทำให้เรามีความสุขได้”
(จาก Wales Online)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย เภตรา)