xs
xsm
sm
md
lg

แฉกองทุนพัฒนาสตรีอุบลฯถูกการเมืองแทรก กลุ่มได้ประโยชน์คือคนของนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงเสวนาแฉการเมืองแทรกกองทุนพัฒนาสตรี หากไม่ใช่กลุ่มคนของนักการเมืองโครงการฯที่เสนอของบสนับสนุนจะไม่ได้รับการพิจารณา
อุบลราชธานี-สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอุบลราชธานี ปิดวงคุย แฉกลุ่มได้ประโยชน์อิงนักการเมือง พวกไกลปืนเที่ยงไร้ผู้เหลียวแล นักวิชาการแนะให้ความรู้ เปิดข้อมูลต่อสาธาณะเพื่อความโปร่งใส

ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์แอนคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จับมือกับ ยูเสดประเทศไทย ศูนย์ประสานงานเนเจอร์แคร์ อุบลราชธานี กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอุบลราชธานี ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการเรียนรู้ เรื่องบทบาทสตรีเพื่อชีวิตที่ดีของชุมชน โดยมีสมาชิกกองกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี นักวิชาการ เจ้าหน้าที่พัฒนาการจังหวัดเข้าร่วม

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการถามนายฉลอง ประดับสุข พัฒนาการจังหวัดฐานะเป็นเลขาของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดอุบลราชธานี ถึงความอึมครึมเรื่องการจัดสรรงบประมาณใช้ดำเนินงาน และการเติบโตของสมาชิกของกองทุน

นายฉลองระบุว่า เรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีการตั้งขึ้นมานานแล้ว เดิมมีสมาชิกไม่ถึงหมื่นคน ปัจจุบันมีสมาชิกร่วมแสนคน ส่วนงบประมาณรัฐบาลจัดสรรมาให้จำนวน 130 ล้านบาท โดยใช้เป็นเงินหมุนเวียน เป็นเงินอุดหนุน ให้สมาชิกนำไปทำโครงการสร้างอาชีพแบบให้เปล่าไม่ต้องใช้คืน แต่ต้องทำโครงการขอเป็นกลุ่ม ไม่เหมือนกองทุนเงินล้านที่ขอกู้เงินไปเป็นรายบุคคล และมีกฎระเบียบที่รัดกุมในการใช้จ่าย การจะพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ จะได้รับการกลั่นกรองตั้งแต่ระดับอำเภอถึงระดับจังหวัด

ดังนั้น ผู้เป็นสมาชิกกองทุนในแต่ละหมู่บ้าน ต้องเขียนโครงการให้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปใช้ประกอบอาชีพ จึงเป็นเรื่องยากสำหรับสมาชิกที่เป็นคนในหมู่บ้าน ไม่เข้าใจระเบียบวิธีการเขียนโครงการ

บางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องของกองทุนราชการไม่เกี่ยว ก็ไม่ขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ ทำให้โครงการที่เสนอขอไม่ผ่าน เพราะมีรายละเอียดไม่ถูกต้อง แต่มีบางกลุ่มเข้าหารือกับเจ้าหน้าที่พัฒนาการประจำอำเภอ ก็ทำให้การเสนอขอโครงการเป็นไปตามระเบียบของราชการ มีความชัดเจนของการนำเงินไปใช้ จึงได้รับการอนุมัติในเวลาอันรวดเร็ว

“แต่ก็บางกลุ่มเข้าใจเป็นเงินที่ให้รัฐเปล่า เมื่อได้เงินมาไม่เอาไปทำโครงการตามที่เสนอขอ แต่กลับเอาเงินมาแบ่งกันกับคนในกลุ่ม ที่ผ่านมา จึงเป็นปัญหาด้านการเบิกจ่ายและการอนุมัติโครงการมาก”

สำหรับเงินจำนวน 130 ล้านบาท ที่รัฐบาลให้มานั้น 80% ใช้เป็นเงินส่งเสริมอาชีพ อีก 20% ใช้เป็นเงินอุดหนุนในด้านการบริหารจัดการ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ยังมีอยู่ในคลังรอเพียงการเบิกจ่าย เมื่อสมาชิกทำโครงการได้ถูกต้อง

ขณะที่นางลอม ไกลนาแก้ว สมาชิกกองทุนจากตำบลสงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มสตรีในตำบลของตนเสนอโครงการขอเลี้ยงหมูขุน ทำโครงการตัดเย็บเสื้อผ้า รวม 5 โครงการเสนอขออนุมัติงบทำโครงการไปกว่า 2 เดือน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ทั้งที่บางพื้นที่เสนอขออนุมัติโครงการช้ากว่า แต่ได้รับการอนุมัติแล้ว

จึงมองว่า การอนุมัติโครงการมองแค่ว่าการสมประโยชน์ให้สมัครพรรคพวก เป็นคนของนักการเมืองกลุ่มไหนด้วย จึงขอเรียกร้องอย่าเอากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นตัวประกัน อย่าเอาเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง

แต่ต้องการให้มีการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพของสตรีอย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันคณะกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัดที่เห็นชอบกับโครงการต่างๆ ล้วนมีคนของนักการเมืองอยู่ด้วย

นางวันเพ็ญ ศิริผลา คณะกรรมการกองทุนพัฒนาประจำจังหวัดกล่าวว่า การรวมกลุ่มของสตรียังมีปัญหาในแนวทางปฏิบัติมาก เพราะส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องกฎระเบียบของราชการ เรื่องการเขียนโครงการ เมื่อคณะกรรมการนำโครงการของกลุ่มสตรีที่เสนอของบเข้ามาพิจารณาพบข้อบกพร่อง ต้องส่งเรื่องกลับคืนไปให้ทำกลับมาใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง

สำหรับกลุ่มสตรีที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติ และไม่รับเรื่องตีกลับ แสดงว่าอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะคณะกรรมการประชุมกันเดือนละ 2 ครั้ง ขณะนี้มีโครงการเสนอเข้ามากว่าพันโครงการ ทำให้ล่าช้า เพราะต้องเรียงลำดับในการอนุมัติ

ด้าน ดร.เนตรดาว เถาถวิล อาจารย์สังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงระบบบริหารจัดการของราชการทำให้ความเข้มแข็งของกลุ่มสตรีแผ่วปลาย ทั้งที่รัฐมีจุดประสงค์ต้องการส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สตรีตามชนบท โดยเฉพาะเรื่องการเขียนอนุมัติโครงการสร้างอาชีพ รัฐก็เอาระบบราชการเข้ามาจับ ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็กระดิกตัวไม่ได้

“ทางออกราชการต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้นำสตรี ถ้าเอาแต่การพูดคุยเฉพาะกลุ่ม ความรู้ไม่กระจายไปไกล ปัญหาก็ยังเกิดอยู่คงเดิม” สิ่งที่รัฐต้องทำขณะนี้คือ การกระจายข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงผู้นำสตรีทุกกลุ่มในทุกระดับ มีการวางกฏเกณฑ์การพิจารณาให้ชัดเจน ทำอย่างเปิดเผยไม่ใช่อยู่เฉพาะในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้เกิดขึ้น หากทำเช่นนี้ปัญหาจะหมดไปและจะทำงานง่ายขึ้นอีก

ขณะที่สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เข้าร่วมรับฟังปัญหาเสนอว่า ข้อมูลข่าวสารทุกเรื่อง จะรู้อยู่แต่ในกลุ่มคนทำโครงการ โดยคนที่ไม่ได้ทำโครงการไม่รู้เห็นด้วย เมื่อสงสัยไปสอบถามอะไรไม่ได้ หน่วยงานราชการก็ปฏิสธให้ข้อมูล

จึงอยากให้มีการนำโครงการทั้งที่ผ่านการพิจารณาและไม่ผ่าน ขึ้นประชาสัมพันธ์ไว้บนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกคนช่วยกันตรวจสอบได้ ไม่ใช่เก็บไว้ในมือของคณะกรรมการที่พิจารณาเพียงกลุ่มเดียว เพื่อความโปร่งใสและเป็นตัวอย่างให้กลุ่มสตรีที่ทำโครงการไม่ผ่านดูเป็นตัวอย่างด้วย

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปรายการย้อนหลังได้ที่ช่อง Sangsook วีเคเบิลทีวี โสภณเคเบิลทีวี ราชธานีเคเบิลทีวี และทางทีวีดาวเทียม Next step ช่องของดีประเทศไทย รวมทั้งสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันอุบลราชธานี FM 102.75 MHz และสถานีวิทยุ Clean radio FM 92.50 MHz อุบลราชธานี

กำลังโหลดความคิดเห็น