xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : “การให้” เป็นปัจจัยสู่การบรรลุธรรม (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระอสีติมหาสาวกทุกรูป ก่อนจะได้มาบรรลุมรรคผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนั้น ล้วนได้ทำบุญสำคัญไว้เบื้องต้นคล้ายๆกัน คือ การบริจาคทาน ซึ่งผู้เขียนได้สรุปว่า “การบริจาค” เป็นคุณธรรมสำคัญพื้นฐานที่สนับสนุนเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรม

ประเด็นที่น่าศึกษาก็คือว่า การบริจาคทานเป็นคุณธรรมสำคัญขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมได้อย่างไร

ก่อนอื่นผู้เขียนเห็นว่า น่าจะได้ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทานมี ๒ ชนิด คือ

๑. อามิสทาน การให้สิ่งของ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีกล่าวถึงสิ่งของที่พึงให้ไว้ ๑๐ อย่าง ได้แก่ อาหาร น้ำดื่ม ผ้านุ่งผ้าห่ม ยานพาหนะ พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องไล้ทา(ผิวหนัง) ที่นอน ที่พัก และประทีป(เครื่องให้แสงสว่าง)

๒. ธรรมทาน การให้ธรรม ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงธรรมไว้ว่า ได้แก่ คำสอนของพระพุทธเจ้า คำแนะนำ ความรู้ที่เกื้อกูลต่อการทำความดีหรือต่อการดำรงชีวิตที่ดี

การให้ทั้ง ๒ นี้ เมื่อทำด้วยจิตศรัทธาและประกอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมให้ผลทางใจเหมือนกันตรงที่ทำให้ละความรักตัวเอง ในขณะเดียวกันก็มีคุณธรรมอื่นๆ เกิดร่วม คือเมตตา (ความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น) และกรุณา (ความสงสารต่อผู้อื่น)

ตามปกติ คนเราเมื่อมีความรักความปรารถนาดีและความสงสารต่อผู้อื่นแล้ว ก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่นได้ อันจะเป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรม คือการละกิเลสได้ การบรรลุธรรมย่อมทำให้ได้รับความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ปราศจากกาม ซึ่งชาวโลกส่วนมากมักจะกลัวต่อความสุขชนิดนี้ แต่กลับชื่นชมยึดติดอยู่กับความสุขที่เจือด้วยกาม

กล่าวถึงการให้สิ่งของและการให้ธรรมนั้น นับเป็นบทฝึกหัดเบื้องต้นที่นำไปสู่การเสียสละที่ยิ่งใหญ่และทำได้ยากยิ่งๆขึ้นไป นั่นคือการให้ตัวเอง หมายถึงการให้สิ่งของที่รัก อวัยวะ ชีวิต และสิ่งที่เสมอด้วยชีวิต

พระอสีติมหาสาวกต่างล้วนได้ผ่านบทฝึกหัดเบื้องต้นนี้มาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะการให้สิ่งของ ดูจะเป็นบทฝึกหัดเบื้องต้นที่สำคัญที่พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต้องทำให้ได้

กล่าวถึงตอนนี้ อาจมีบางท่านค้านว่า เมื่อศึกษาประวัติของพระอสีติมหาสาวกแล้ว พบว่า บุญสำคัญที่บางรูปทำนั้นไม่มีระบุถึงการให้สิ่งของไว้ มีแต่กล่าวว่า ท่านได้ทำการขวนขวายทำการรับใช้พระรัตนตรัย

จากเรื่องนี้เมื่อศึกษาดูตามนัยแห่งบุญกิริยาวัตถุแล้ว จะเห็นว่า ทาน คือการให้ มีความหมายกว้างไปถึง การขวนขวายรับใช้ผู้อื่น(เวยยาวัจจะ) การแบ่งปันความดีให้แก่ผู้อื่น(ปัตติทาน) การยินดีด้วยในเมื่อมีผู้อื่นทำความดี(ปัตตานุโมทนา)

ฉะนั้น ในกรณีของพระอสีติมหาสาวกบางรูปสามารถกล่าวได้ว่า ท่านได้ทำการให้มาแล้วในรูปของการขวนขวายรับใช้หรือช่วยเหลือ อันเป็นทางให้ละความรักตัวเองลงได้เช่นกัน

ผลพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า การให้เกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมนั้น ก็คือ

๑. ตามหลักของสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ) สักกายทิฏฐิ คือความเข้าใจผิดว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่ประกอบกันเป็นชีวิตนั้นเป็นของเที่ยง จัดเป็นสังโยชน์ข้อแรกที่พระอริยบุคคลละได้ พร้อมกับวิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

สักกายทิฏฐิ เป็นความเข้าใจผิดขั้นหยาบเกี่ยวกับตัวตนหรืออัตตาที่มีอยู่แก่ปุถุชนทั่วไป จริงอยู่ การละสักกายทิฏฐิเป็นเรื่องของปัญญา ที่เริ่มต้นจากวิปัสสนาปัญญา ไปจนถึงมัคคปัญญา “การให้”แม้จะไม่ทำหน้าที่ละสักกายทิฏฐิโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดปัญญาที่จะละสักกายทิฏฐิ

๒. ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท ในการละกิเลสได้เด็ดขาดที่เรียกว่าสมุจเฉทปหานนั้น ผู้ปฏิบัติต้องละตัณหา คือความอยาก ความรักตัวเองและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเอง ซึ่งเกิดร่วมกับอวิชชาและอุปาทาน

ตัณหา คือความรัก ความอยากได้ ซึ่งแสดงตัวออกมาในรูปของการหวงแหนว่า นั่นเป็นของเรา(เอตํ มม) ในลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงกิเลสที่เกิดร่วมกับตัณหาอีกนัยหนึ่งคือมานะ คือความถือตัว ความสำคัญตัวว่า เรามีเราเป็น ที่เรียกว่า อัสมิมานะ กับทิฏฐิ คือความเห็นผิด ว่านั่นเป็นอัตตาของเรา(เอโส เม อตฺตา) และการจะละตัณหากับทิฏฐิได้เด็ดขาด ต้องละด้วยอรหัตมรรคญาณ

จริงอยู่ การละตัณหาทำได้ด้วยปัญญา แต่ธรรมที่จะมาช่วยบ่มปัญญาให้แก่กล้าได้นั้น อย่างหนึ่งก็คือการให้(ทาน) ฉะนั้น การให้จึงเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่นำไปสู่การบรรลุธรรม

เมื่อได้ทราบว่า การให้เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมได้อย่างนี้แล้ว ประเด็นที่ควรทราบเพิ่มเติมก็คือ การให้อย่างไรจึงมีผลมาก

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการให้ที่มีผลมากไว้ว่า ต้องประกอบด้วยองค์ ๖ คือ องค์ประกอบฝ่ายทายก(ผู้ให้) ๓ กับองค์ประกอบฝ่ายปฏิคาหก(ผู้รับ) ๓

องค์ประกอบฝ่ายทายก ๓ ได้แก่
๑. ก่อนให้ มีจิตโสมนัส
๒. ขณะให้ มีจิตผ่องใส
๓. ครั้นให้แล้ว ก็มีจิตอิ่มเอิบ


องค์ประกอบฝ่ายปฏิคาหก ๓ ได้แก่
๑. เป็นผู้หมดราคะ หรือ กำลังปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
๒. เป็นผู้หมดโทสะ หรือ กำลังปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
๓. เป็นผู้หมดโมหะ หรือ กำลังปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ


ในพุทธพจน์ตอนนี้มีกล่าวถึงแต่เรื่องทายกกับปฏิคาหกเท่านั้น ในที่บางแห่งยังมีกล่าวเพิ่มเติมถึงทานมีผลมากไว้อีกว่า ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ๓ ประการ คือ
๑. ทายกบริสุทธิ์
๒. ปฏิคาหกบริสุทธิ์
๓. ไทยธรรม(ของให้ทาน) บริสุทธิ์


ข้อ ๑ และข้อ ๒ อธิบายได้ด้วยหลักองค์ประกอบ ๖ ประการที่กล่าวมาแล้ว ส่วนข้อที่ ๓ นั้นหมายถึงว่า ไทยธรรมบริสุทธิ์ได้ด้วยการที่ทายกได้มาโดยชอบธรรม คือจากการทำงานและการประกอบอาชีพที่บริสุทธิ์

มีกล่าวกันว่า บรรดาความบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ประการนั้น ความบริสุทธิ์ข้อไหนสำคัญที่สุด ซึ่งก็สามารถตอบได้ว่า ความบริสุทธิ์ของทายกเป็นข้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็หมายความว่า ทายก(ผู้ให้) เป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้ทานตามนัยนี้

ความบริสุทธิ์ของทายกนั้นดูได้ที่เจตนา ๓ กาล คือ เจตนาก่อนทำ(ปุพฺพเจตนา) เจตนาขณะทำ(มุญฺจนเจตนา) และเจตนาหลังทำ(อปราปรเจตนา) ว่าแก่กล้าและมีปีติโสมนัสเกิดร่วมมากน้อยเพียงใด และเมื่อทายกมีความบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว ก็รวมไปถึงว่ามีไทยธรรมบริสุทธิ์ด้วย

อนึ่ง เจตนาทั้ง ๓ กาลนั้น จัดเป็นมโนสัญเจตนาหาร คือสามารถส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิต่างๆ

พระอสีติมหาสาวกทุกรูป เริ่มต้นด้วยการทำบุญสำคัญ คือการให้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการให้ทาน การสร้างถาวรวัตถุ การขวนขวายรับใชัพระรัตนตรัย การให้ความรู้แก่ผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นปัจจัยนำไปสู่การบรรลุธรรมในเวลาต่อมา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น