ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐานนี้ เป็นการบรรยายธรรมอบรมกรรมฐานของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป็นประจำในคืนวันธรรมสวนะและคืนหลังวันธรรมสวนะ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ ๘๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
นิพพานฌาน
ท่านยังแสดงนิพพานผ่อนลงมาอีกถึงนิพพานฌาน นิพพานปัญญา คือมีแสดงว่าผู้ปฏิบัติสมาธิจนบรรลุฌาน ตั้งแต่รูปฌานที่หนึ่งและต่อขึ้นไปโดยลำดับ คือรูปฌานที่สอง ที่สาม ที่สี่ และต่อขึ้นไปอรูปฌานที่หนึ่ง ต่อขึ้นไปที่สอง ที่สาม ที่สี่ และจนถึงสัญญาเวทนิโรธ คือดับสัญญา เวทนา ท่านเรียกว่าเป็นนิพพานแต่ละชั้น นิพพานดังกล่าวนี้เรียกสั้นเพื่อเข้าใจว่า นิพพานฌาน
นิพพานปัญญา
นิพพานปัญญานั้นมีแสดงไว้ถึงสันทิฏฐิกธรรม ธรรมที่เห็นเอง สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานที่เห็นเอง โดยอธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ เมื่อบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ ย่อมเป็นเครื่องดับปัญญา เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ทั้งเป็นไปเพื่อให้ประพฤติก่อภัยเวรต่างๆ มีฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง เป็นต้น
ส่วนความสงบ ราคะ โทสะ โมหะ ความไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ย่อมตรงกันข้าม ไม่ดับปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน ไม่เป็นเหตุก่อภัยเวรดังกล่าว ความพิจารณาให้รู้ดั่งนี้ เรียกว่าเป็นสันทิฏฐิกธรรม เป็นสันทิฏฐิกนิพพาน
พิจารณาดูตามอธิบายนี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า ทุกๆคนเมื่อหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาตรวจดูจิตใจของตนเอง เมื่อราคะ โทสะ โมหะ บังเกิดขึ้นก็ให้รู้ พร้อมทั้งให้รู้ถึงโทษแม้ดังที่กล่าวมาแล้ว
ราคะ โทสะ โมหะ จะสงบลงได้ด้วยอำนาจของปัญญาที่รู้นั้น และก็ให้รู้ว่า ราคะ โทสะ โมหะ สงบ พร้อมทั้งรู้คุณของความสงบ ราคะ โทสะ โมหะ แม้ปฏิบัติดั่งนี้ก็เรียกว่า บรรลุถึงสันทิฏฐิกธรรม สันทิฏฐิกนิพพานได้
เพราะในพระพุทธาธิบายดังที่ยกมากล่าวข้างต้นนั้นมิได้จำกัดว่า จะต้องสงบได้เด็ดขาดหรือว่าสงบได้ชั่วคราว เป็นพระพุทธาธิบายที่วางไว้เป็นกลางๆ จึงกินความได้ถึงการปฏิบัติใช้ปัญญาทำความสงบใจของตนได้
พระพุทธาธิบายดั่งนี้เป็นอันให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนตั้งแต่ในเบื้องต้นว่า สามารถที่จะใช้ปัญญาพิจารณาทำความสงบใจของตน และก็เรียกว่าบรรลุนิพพานได้ บรรลุธรรมได้ อันเป็นสันทิฏฐิกธรรม สันทิฏฐิกนิพพาน เข้าในพระธรรมคุณที่สวดกันว่า “สันทิฏฐิโก” นั่นเอง
ดังนั้น ธรรมที่จะเป็นสันทิฏฐิโกได้ดังที่สวดกัน ก็จะต้องปฏิบัติใช้ปัญญาทำความสงบใจของตนดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งทุกคนสามารถจะปฏิบัติได้ทุกขณะ
ตทังคนิพพาน
นิพพานดังที่กล่าวมานี้ ท่านเรียกว่าตทังคนิพพาน คือเป็นนิพพานชั่วคราวที่มีขึ้นด้วยองคสมบัตินั้นๆ หรือด้วยองคคุณนั้นๆ มีปัญญาเป็นต้นดังกล่าวแล้ว นิพพานนี้อันเป็นบรมธรรม ซึ่งเป็นความหมายสูงสุดดังที่ได้กล่าวแล้วว่า เป็นธรรมที่อยู่เหนือเหตุเหนือผล ก็หมายถึงว่าอยู่เหนือเหตุผลที่เป็นฝ่ายเกิดทางหนึ่ง อยู่เหนือเหตุผลที่เป็นฝ่ายดับอีกทางหนึ่ง
เหตุผลที่เป็นฝ่ายเกิดนั้นก็ได้แก่ทุกข์และสมุทัย เหตุผลที่เป็นฝ่ายดับนั้นก็ได้แก่นิโรธและมรรค คืออริยสัจจ์สี่นั้นเอง
อริยสัจจ์สี่นั้นก็แบ่งเป็นสมุทัยวาร คือฝ่ายสมุทัย คือฝ่ายเกิดทุกข์ส่วนหนึ่ง ฝ่ายนิโรธวาร คือฝ่ายดับทุกข์อีกส่วนหนึ่ง ฝ่ายสมุทัยวารนั้นได้แก่ทุกข์และสมุทัย จะพึงเห็นได้ว่าแสดงผลก่อนคือทุกข์ แล้วจึงแสดงเหตุคือสมุทัย ฝ่ายนิโรธวารก็เหมือนกัน แสดงผลก่อนคือนิโรธ แล้วจึงแสดงเหตุคือมรรค
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้วก็จะพึงเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้ ได้ทรงจับผลสาวเข้าไปหาเหตุ เพราะว่าผลที่ได้บังเกิดปรากฏอยู่จำเพาะหน้า ดังที่ได้มีแสดงว่า พระโพธิสัตว์อันเป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ได้ทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ซึ่งท่านแสดงว่าเป็นเทวทูต จึงได้ทรงปรารภว่า ทุกคนที่เกิดมาก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครจะพ้นไปได้ จึงทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นหรือความหลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้น
ข้อนี้เป็นปรารภเหตุสำคัญอันทำให้เสด็จออกทรงผนวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม ความแก่ ความเจ็บ ความตายนั้นเป็นผล ซึ่งทุกๆคนเห็นได้โดยประจักษ์ เพราะฉะนั้น จึงได้แสดงผลก่อน
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว พระโพธิสัตว์ได้ทรงเห็นทุกข์ก่อน คือเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ อันเป็นผลที่ปรากฏ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้แสวงหาความพ้นทุกข์ และความสำเร็จแห่งพระองค์อันเรียกว่า ความตรัสรู้นั้น ท่านแสดงไว้ในปฐมเทศนา ซึ่งตรัสเล่าถึงความตรัสรู้ของพระองค์เอง ก็คือทรงได้จักษุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญา ความรู้ทั่ว วิชชา ความรู้แจ่มแจ้ง อาโลกคือความสว่าง เห็นทุกข์ เห็นทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ เห็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ เห็นทุกขนิโรธคามินิปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์หรือเรียกสั้นๆ ว่า “มรรค”
และทุกข์นั้นก็ได้ทรงแสดงว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความโศกคือความแห้งใจ ความคร่ำครวญระทมใจ ความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้งห้าเป็นทุกข์
ในด้านทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์นั้น ได้ทรงแสดงชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจที่ให้ถือภพชาติใหม่ไปกับความเพลินและความติดใจ ประกอบด้วยความอภินันท์ยินดียิ่งอยู่ในอารมณ์นั้นๆ อันได้แก่ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คืออารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจทั้งปวง ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คืออยากเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คืออยากให้ไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ได้แก่ อยากให้สิ่งที่ไม่ชอบสิ้นไปหมดไป
สำหรับนิโรธ คือความดับทุกข์นั้น ได้ทรงชี้เอาความดับตัณหาได้สิ้นเชิง มรรค คือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้ทรงชี้เอามรรค คือทางปฏิบัติที่มีองค์แปดประการ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ
ตามพระพุทธาธิบายที่ทรงเล่าถึงความตรัสรู้ของพระองค์แสดงว่า ทรงชี้เอาทุกข์ซึ่งเป็นส่วนผล ตั้งต้นแต่ชาติทุกข์ ต่อไปก็ชราทุกข์ มรณทุกข์ เป็นต้น รวมเข้าก็คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้งห้าประการนี้ เหล่านี้แหละเป็นทุกข์ที่เป็นส่วนผล ซึ่งบังเกิดจากเหตุ ซึ่งทรงชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะฉะนั้นทุกข์จึงเป็นผล ตัณหาจึงเป็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ นี้เป็นผลและเหตุฝ่ายเกิดทุกข์ที่เรียกว่า “สมุทัยวาร” นั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลยังอยู่ในเหตุและผลฝ่ายเกิดทุกข์ คือยังปฏิบัติเพิ่มพูนตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ ก็เรียกว่าทำเหตุก่อทุกข์ จึงต้องรับผลซึ่งเป็นตัวทุกข์อยู่ต่อไป ตั้งต้นแต่ต้องมีชาติ มีความเกิดขึ้นใหม่อยู่ร่ำไป
ฉะนั้น จึงมีแสดงลักษณะของตัณหาไว้เป็นประการแรกว่า โปโนพภวิกา เป็นเหตุให้ถือภพชาติใหม่ คือให้เป็นใหม่ๆ เกิดใหม่ เป็นใหม่อยู่ต่อไป
และเมื่อก่อเกิดภพชาติเป็นชาติความเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีชรา มีมรณะ เป็นต้น ต้องมีโศกะ ปริเทวะ เป็นต้น และก็ประกอบตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากเพิ่มขึ้นไปอีก ก็ก่อทุกข์ตั้งแต่ชาติทุกข์ต่อไปอีก เพราะฉะนั้น จึงต้องอยู่ในเหตุและผลฝ่ายสมุทัยวาร ก่อทุกข์อยู่ตลอดเวลาที่ยังประกอบก่อเพิ่มเติมตัณหาอันเป็นตัวเหตุอยู่ นี้เป็นผลและส่วนก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อปฏิบัติต่อเพิ่มตัณหาอยู่แล้ว ก็เป็นอันว่าก็จะต้องประสบทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติทุกข์ เป็นต้น เป็นอันว่าไม่จบ
ดับตัณหา ดับมรรค
คราวนี้ผู้ที่ปฏิบัติในมรรคมีองค์แปด ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อดับตัณหาอันเป็นความดับทุกข์นั้น แต่เมื่อยังดับตัณหาไม่ได้สิ้นเชิง ก็ต้องปฏิบัติกันต่อไป คือปฏิบัติในมรรคมีองค์แปด ย่อลงก็คือศีล สมาธิ ปัญญา ก็ต้องทำกันร่ำไปอีกเหมือนกัน เป็นอันว่าเมื่อยังดับตัณหาไม่ได้สิ้นเชิง ดับไม่ได้หมด ก็ต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์แปดต่อไปไม่หมดอีกเหมือนกัน ก็เป็นอันว่าไม่เสร็จกิจ
สำหรับในสายสมุทัยวาร คือสายก่อให้เกิดทุกข์นั้น ไม่มีเสร็จโดยแท้ ต้องก่อให้เกิดทุกข์ มีชาติทุกข์อยู่ร่ำไปไม่สิ้นสุด ส่วนในสายนิโรธวารนั้นเมื่อยังปฏิบัติดับตัณหาไม่ได้ ก็ยังไม่เสร็จกิจ ก็ต้องทำอยู่เรื่อยไปอีกเหมือนกัน จนกว่าจะปฏิบัติในมรรคมีองค์แปดนั้น จนเป็นมรรคเป็นผลซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมขึ้น คือ กำจัดกิเลสได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง
เมื่อกำจัดกิเลสได้สิ้นเชิง ซึ่งในที่นี้ยกเอาตัณหาขึ้นเป็นที่ตั้ง กำจัดได้สิ้นเชิงแล้วจึงจะเสร็จกิจ แปลว่าดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ได้ ความดับทุกข์ได้นั้นก็ดับชาติทุกข์เป็นต้นได้ ไม่ต้องก่อเกิดอีกต่อไป และการปฏิบัติดับตัณหาได้สิ้นเชิงนั้นก็ดับมรรคได้ด้วย เพราะว่าไม่ต้องปฏิบัติมรรคอีกต่อไปเพื่อดับตัณหา เพราะดับตัณหาได้สิ้นเชิงแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อสุดชั่วก็สุดดี หรือว่าเมื่อสุดดีก็สุดชั่วพร้อมกัน ทุกข์และสมุทัยนั้นถ้าจะกล่าวว่าเป็นฝ่ายชั่ว และนิโรธและมรรคถ้าจะกล่าวว่าเป็นฝ่ายดีเป็นคู่กัน ก็จะต้องกล่าวได้อีกว่า เพราะมีชั่วจึงต้องมีดีสำหรับเป็นเครื่องชำระล้างความชั่ว และเมื่อมีดีก็ต้องมีชั่ว
เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติดับตัณหาได้สิ้นเชิง ดับทุกข์ได้หมด ก็แปลว่าสุดชั่วแค่นั้น การปฏิบัติเพื่อดับตัณหาก็สุดสิ้นแค่นั้น เป็นอันว่าสุดดีแค่นั้น จึงบรรลุถึงความสุดชั่วสุดดีเช่นเดียวกัน และขั้นนี้แหละที่เป็นขั้นเสร็จกิจ ซึ่งเป็นขั้นที่บรรลุนิพพานอันเรียกว่า เหนือเหตุและผล คือเหนือเหตุและผลทั้งฝ่ายเกิดทุกข์ทั้งฝ่ายดับทุกข์ อันแสดงถึงความเสร็จกิจโดยประการทั้งปวง
เพราะฉะนั้น ธรรมในพระพุทธศาสนาจึงมีความสิ้นสุดได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องปฏิบัติกันไม่สิ้นสุด สิ้นสุดได้ในเมื่อได้ปฏิบัติดับตัณหาได้สิ้นเชิง อันเป็นวาระที่สุดชั่วสุดดีดังกล่าว จึงได้มีพุทธภาษิตแสดงถึงธรรมที่เป็นขั้นนิพพานนี้ว่า
ลอยบุญและบาป ละบุญและบาปทั้งหมด ก็ถึงขั้นสุดชั่วสุดดี บรรลุนิพพานอันเป็นบรมธรรมนั้นเอง
แต่เมื่อยังไม่ถึงขั้นนี้ ยังไม่ถึงสุดชั่วสุดดี จะไปลอยบุญลอยบาป จะไปละบุญละบาปเอาเองไม่ได้ จะต้องปฏิบัติอยู่ในบุญ จะต้องกระทำความดี เพื่อที่จะล้างความชั่วหรือฝ่ายที่เป็นสมุทัยวารต่อไป จะไปลอยบุญลอยบาปทิ้งเอาเองไม่ได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)