กล่าวได้ว่าปัจจุบันผู้คนหันมาให้ความสนใจกับการใช้ยาสมุนไพรและการรักษาตามแนวทางแพทย์พื้นบ้านกันมากขึ้น เนื่องเพราะข้อดีในเรื่องของความปลอดภัยและไม่มีอันตรายจากผลข้างเคียง ซึ่งว่ากันว่า การแพทย์สมุนไพรนั้นเป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องสรรพคุณในการรักษา ส่วนผสมของยาแต่ละตัว วิธีปรุงและวิธีใช้ ซึ่งล้วนมีรายละเอียดมากมายที่สั่งสมตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย
และหากเอ่ยถึงหมอสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในเวลานี้ คงต้องมีชื่อ ชัยรัตน์ นนทชัย หรือที่ใครๆเรียกว่า ‘หมอเณร’ อยู่ด้วย เพราะชื่อเสียงในการรักษาที่สามารถช่วยให้คนไข้จำนวนไม่น้อย หายจากโรคร้ายและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
แต่กว่าหมอเณรจะมีฝีมือในการรักษาและเชี่ยวชาญเรื่องยาสมุนไพรได้ขนาดนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากเขาจะได้รับการเคี่ยวกรำร่ำเรียนวิชามาตั้งแต่เด็กแล้ว เขายังมุ่งมั่นเดินทางเข้าป่าเสาะหาสมุนไพร เพื่อมาใช้ในการรักษาตามตำรายาสมุนไพรโบราณอีกด้วย
• เส้นทางสู่แพทย์พื้นบ้านของ ‘หมอเณร’
หมอเณรบอกว่า เขาได้รับการบ่มเพาะวิชาแพทย์พื้นบ้านมาจากคุณปู่ ซึ่งเป็นหมอสมุนไพรที่ทำงานรับใช้อยู่ในวัง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 8 และคุณพ่อที่สืบทอดวิชาหมอสมุนไพรจากคุณปู่ ทั้งความรู้เกี่ยวกับตัวยา การอ่านตำรายาโบราณที่เรียกว่า ‘ตำราพระพุทธเจ้า’ ที่ต้องแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย และจดบันทึกไว้เพื่อให้จดจำง่าย การปรุงยาที่มีรายละเอียดมากมาย ทั้งในเรื่องสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด ส่วนผสมของยาแต่ละตัว รวมทั้งขั้นตอนวิธีการปรุงยาแต่ละขนาน
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ฝีมือในการรักษาของหมอเณรเท่านั้นที่ผู้คนให้ความสนใจ แต่คำถามหนึ่งซึ่งเขามักเจออยู่เสมอก็คือ ทำไมเขาจึงชื่อ ‘หมอเณร’ ?
เรื่องนี้มีคำตอบ คือ เนื่องจากเขาบวชเรียนที่วัด ย่านคลองสาม จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่อายุ 15 หลังจากบวชก็ออกธุดงค์ไปตามป่าเขา ทำให้ได้พบเห็นสมุนไพรมากมาย ซึ่งสามารถนำมาใช้ต่อยอดจากวิชาแพทย์สมุนไพรที่ได้ร่ำเรียนจากปู่และพ่อ
ครั้นเมื่อกลับมาถึงวัด ปรากฏว่าสัปเหร่อซึ่งบ้านอยู่ข้างๆวัดถูกงูเห่ากัด เขาจึงใช้สมุนไพรช่วยรักษาจนคนป่วยรอดชีวิตมาได้ ทำให้ชาวบ้านแถวนั้นพากันเรียกว่า‘หมอเณร’ และนั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อเสียงในการรักษาด้วยสมุนไพรของเขา เป็นที่กล่าวถึงไปทั่ว และมีผู้ป่วยมาขอให้ช่วยรักษาอยู่ไม่ขาด
“ตอนนั้นคนป่วยก็มารักษาที่วัดกันเยอะ รักษาอยู่พักหนึ่งผมก็กลับไปเดินธุดงค์ แล้วก็ศึกษาวิชาสมุนไพรเพิ่มเติม ก็เอาตำรายาโบราณมาศึกษา และคัดลอกจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย การเป็นแพทย์พื้นบ้านไม่ได้เรียนเล่มเดียวจบนะ ต้องเรียนจากพระไตรปิฎก ไม่ใช่ง่ายๆ
ตอนนั้นผมก็เก็บรวมรวมสมุนไพรตามความรู้ที่ได้จากนายพรานและผู้เฒ่าผู้แก่ แยกว่าอันนี้มีสรรพคุณยังไง รักษาโรคอะไร พอเรามีความรู้ด้านนี้มากเข้าก็รู้สึกว่า ถ้าเรายังอยู่ในเพศบรรพชิต ก็คงไม่สามารถใช้ความรู้ด้านแพทย์สมุนไพรให้เป็นประโยชน์ได้เท่าที่ควร ผมก็เลยลาสิกขา แล้วก็รักษาคนมาตลอด ต่อมาก็ย้ายจากจังหวัดปทุมฯบ้านเกิด มาอยู่ที่กาญจนบุรี” หมอเณรเล่าถึงเส้นทางการเป็นหมอสมุนไพรตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
• ใช้วิชาโบราณจากตำราพระพุทธเจ้า
“ดิน น้ำ ลม ไฟ” หัวใจของการรักษา
ตั้งแต่นั้นมา ชื่อเสียงด้านการแพทย์สมุนไพรของหมอเณรก็เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ว่ากันว่าโรคร้ายที่คนไข้รักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่หายแต่หมอเณรรักษาได้ โดยเฉพาะโรคเอดส์ที่คนไข้หลายรายสิ้นหวังและรอวันตาย แต่เมื่อมารักษากับหมอเณร กลับมีอาการดีขึ้น ร่างกายฟื้นตัว มีภูมิต้านทานที่ดี และสามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติ
หมอเณรบอกว่า วิชาที่เขาร่ำเรียนมานั้นเป็นวิชาสมุนไพรโบราณจากตำราพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระตำราสมุดข่อย พระคัมภีร์โคตรหนอน 80 จำพวกที่อาศัยอยู่ในกายมนุษย์ ดังนั้น เขาจึงถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นบรมครูด้านการแพทย์
ทั้งนี้ ศาสตร์ในการรักษาโรคของแพทย์สมุนไพรและแพทย์แผนปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกัน ทั้งมุมมองต่อโรค แนวคิด และวิธีการรักษา โดยหลักในการรักษาของแพทย์สมุนไพรจะมีความเชื่อมโยงกับธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักของร่างกายมนุษย์ ขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันจะมุ่งที่การรักษาอาการของโรคเป็นหลัก นอกจากนั้นแม้แต่ชื่อโรคหลายอย่างก็ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกัน
“ศาสตร์ของแพทย์สมุนไพรจะเกี่ยวข้องกับธาตุทั้งสี่ เมื่อธาตุในร่างกายไม่ปกติก็ทำให้เราเป็นโรคต่างๆ อย่างคนที่เป็นเบาหวาน ขาเป็นแผล ขาเน่า หรือถึงขั้นต้องตัดขา ตามศาสตร์ตำรายาโบราณบอกว่า เป็นเพราะขาดธาตุไฟ ขาเลยเย็น ไฟในร่างกายไม่พอ คือไฟมันมี 2 ขั้ว ขั้วบวกกับขั้วลบ พอตั้งไฟอุ่น ขาก็ไม่เน่าแล้ว
หรือโรคที่มารักษากันมากก็อย่างเช่นโรคตัวหนัก ถ้าไปโรงพยาบาล หมอก็จะบอกว่า เป็นโรคคนแก่ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ซึ่งศาสตร์โบราณบอกว่า ในร่างกายเราจะมีลมที่พาเลือดไปเลี้ยง ถ้าลมอ่อนตัว เลือดก็ไหลเวียนไม่ดี ก็จะหนักที่ขา
หรืออาการตากระตุก ซึ่งปัจจุบันรียกว่าโรคเส้นประสาทตาขาด หมอก็จะเย็บต่อเส้นประสาทตา แต่หลักโบราณบอกว่าตาเห็นสั่งสมอง พอลมตัวนี้มันอ่อนปุ๊บ เราลืมตา มันก็สั่งแบบไฮโดลิก เพราะลมมันไม่พอ ตามันก็กระตุกๆ ติดๆกัน ไปๆมาๆมันก็ปวด นานๆเข้าตาก็ฟาง ตาก็บอด ลมตรงนี้มันไม่พอจ่าย เขาเรียกลมสวนเส้นประสาท กินยาเดือนเดียวก็หาย ไม่ต้องไปผ่าตัดหรอก ยาโบราณเขามีครบหมดเลย
ชื่อโรคต่างๆก็เรียกไม่เหมือนกัน อย่างโรคเอดส์สมัยก่อนเขาไม่ได้เรียกโรคเอดส์นะ นี่เป็นภาษาสมัยใหม่ แต่ภาษาโบราณเขาเรียก ‘โรคห่าลงเมือง’ หรือโรคภาษาฝรั่งอย่างอัลไซเมอร์ก็เป็นโรคเป็นประเภทเดียวกับโรคมันสมองพิการ ให้สังเกตที่ตาขาว ถ้ามีสีแดง เกือบทุกคนจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ คือจะมีอาการหลงๆลืมๆ
บางโรคก็แปลกๆ คนสมัยนี้นึกไม่ถึง อย่างเมื่อปี 2528 ผมเจอคนไข้ซึ่งพ่อแม่เขาเป็นลูกศิษย์เก่าสมัยผมเป็นเณร พาลูกไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ก็เลยพามารักษากับผม ตอนนั้นมีตุ่มเต็มตัว ผมก็เลยให้กินยาประเภทกลุ่มไข้กาฬ ไข้พิษ ไข้เหนือ ทำให้อาการดีขึ้น ปัจจุบันก็ยังมีชีวิตอยู่
หลักของการแพทย์สมุนไพรคือ การตั้งภูมิให้แข็งแรง ถ้าภูมิแข็งแรง เป็นโรคอะไรก็รักษาหายหมด ตรงนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับการรักษาโรคเอดส์ซึ่งภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เราก็ให้ยาปรับภูมิ
การรักษาตามศาสตร์แพทย์สมุนไพรนั้นจะดีตรงที่รักษาหายได้ด้วยยาโดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างโรคหัวใจก็ไม่ต้องทำบายพาส โรคไตก็ไม่ต้องไปฟอกไต” หมอเณรอธิบายถึงศาสตร์ในการรักษาตามแนวทางแพทย์สมุนไพร
• “สมุนไพร” ไม่ใช่แค่พืช
ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ‘สมุนไพร’ หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืช ซึ่งหมอเณรบอกว่า นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะแท้จริงแล้ว คำว่า ‘สมุนไพร’ หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากป่า ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบที่มีสรรพคุณทางยาที่สามารถรักษาโรคได้ทั้งสิ้น
สำหรับหลักการง่ายๆในการเลือกพืชที่จะนำไปใช้เป็นยารักษาโรคนั้น แพทย์พื้นบ้านจะดูจากรสชาติของสมุนไพรแต่ละตัวเป็นหลัก เนื่องจากรสชาติจะเป็นตัวบ่งบอกสรรพคุณทางยา เช่น รสเปรี้ยวจะไปสร้างตับ รสขมจะไปสร้างน้ำดี รสหวานจะไปสร้างหัวใจ รสเผ็ดจะไปสร้างพลังงานหรือให้ความร้อนแก่ร่างกาย รสฝาดจะไปควบคุมธาตุ
“โบราณเขาใช้ทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุมาเป็นยาได้หมด อย่างดีสัตว์ เขี้ยวสัตว์ ก็เอามาเข้ายา กระดูกก็เอาทำยาได้ สนิมเหล็กก็เป็นยาแก้หนอง แต่ปัจจุบันบอกว่า สนิมเหล็กทำให้เป็นบาดทะยัก จริงๆไม่ใช่ บาดทะยักเกิดจากเชื้อโรค ไม่ได้มาจากสนิม ทองคำก็แก้เสมหะมีพิษ
รสชาติของพืชที่ต่างกันมันก็มีสรรพคุณในการรักษาโรคที่แตกต่างกันไป อย่างรสหวานจะบำรุงหัวใจ ลองสังเกตว่าเวลากินอะไรหวานๆมันจะรู้สึกกระชุ่มกระชวย พืชที่มีรสเผ็ดก็ช่วยบำรุงกำลัง เช่น หญ้าแห้วหมู ลูกผักชี ส่วนรสฝาดจะไปควบคุมธาตุช่วยแก้อาการท้องเสีย” หมอเณรบรรยายถึงสรรพคุณทางยาของพืชแต่ละชนิด”
อย่างไรก็ดี การใช้ยาสมุนไพรตามตำราโบราณนั้นมีหลายรูปแบบ ทั้งยาต้ม ยาผง ยากิน ยาทา ยาประคบ ซึ่งแต่ละสูตรก็มีข้อดีแตกต่างกันไป ส่วนหมอจะจ่ายยาแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก
“อย่างยาถ่ายท้อง ใช้ยาทาสะดืออย่างเดียวก็ถ่ายท้องได้ ปัสสาวะคล่องได้ ไม่ต้องใช้ยากิน ก็จะใช้สำหรับคนที่เป็นไข้หนักกินยาไม่ได้ เขาเรียกลมติดสมุดธาตุ โบราณเขาใช้ยาทาสะดือ มันก็จะถ่าย คือยาโบราณจะไปปรับธาตุดินน้ำลมไฟในตัวเรา แต่การรักษาก็มีหลายวิธี ซึ่งต้องดูให้เหมาะกับโรค
แต่บางโรคอย่างมะเร็งจะใช้ยาปรับธาตุไม่ได้นะ ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อมะเร็ง เขามีหลักการแพทย์ของเขา มะเร็งมันเป็นเชื้อที่มีตัวนะ มะเร็งตะมอย มะเร็งไฟฟ้าซึ่งจะปวดแสบปวดร้อน คนจะนึกว่ามะเร็งเหมือนกันหมด มันไม่ใช่ มะเร็งบางอย่างก็รักษาได้ บางอย่างก็รักษาไม่ได้ มะเร็งก็มีหลายชนิด เช่น มะเร็งไร
แต่มะเร็งที่ทั่วโลกยังเรียนไม่ถึง ยังรักษาไม่ได้ ก็คือมะเร็งนาคราช หรือมะเร็งตับ ซึ่งมะเร็งนาคราชมันขึ้นปลายนิ้วแล้วก็จะแดง แดงแล้วก็ปวด จากนั้นตับก็จะดำ แล้วก็จะตาย ตายทุกคน รักษาไม่ได้ แม้แต่ผมก็รักษาไม่ได้ มาหาผมหลายรายแล้ว แต่ผมไม่รับเพราะรักษาไม่ได้
คือมะเร็งเนี่ยมันขึ้นกับจุดที่เป็นด้วยว่า เป็นตรงจุดสำคัญของร่างกายหรือเปล่า ถ้าเป็นตรงจุดที่ไม่สำคัญมันก็รักษาหาย อย่างมะเร็งมดลูกเนี่ย รักษาหาย
หลายคนถามว่า ถ้ารักษาด้วยแพทย์สมุนไพรแล้วจะรักษาแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วยได้ไหม มันก็แล้วแต่โรค ถ้าเป็นโรคความดัน โรคเบาหวาน กินยาสมุนไพรแล้วจะกินยาแผนปัจจุบันด้วยก็ไม่เป็นไร
แต่สำหรับบางโรค ยาที่หมอแผนปัจจุบันเขาให้มันไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เราก็ไม่แนะนำให้คนไข้ใช้ยาแผนปัจจุบัน
อย่างเช่น คนเป็นมะเร็งเขาจะให้คีโมเพื่อฆ่าเชื้อมะเร็ง แต่มันมีผลข้างเคียงทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง คนไข้ก็เหนื่อยเพลีย ปกติคนเป็นมะเร็งร่างกายก็แย่อยู่แล้ว ยังถูกทำลายภูมิคุ้มกันอีก มันก็ไปกันใหญ่ แล้วบางทีคนไข้ตายเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันนะ ไม่ได้ตายเพราะมะเร็ง”
• มุ่งมั่นลงทุนทำสวนสมุนไพรเอง
แต่สุดท้าย..อาจตัดใจขายสวนทิ้ง!?
เนื่องจากยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคแต่ละชนิดนั้น จะประกอบด้วยส่วนผสมของพืชพันธุ์สารพัดชนิด แต่สมุนไพรหลายๆตัวไม่สามารถซื้อหาได้ตามท้องตลาดทั่วไป สมุนไพรที่ขึ้นตามป่าก็กระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ หมอเณรจึงตัดสินใจลงทุนซื้อที่ดินถึง 100 ไร่ เพื่อปลูกสมุนไพรไว้ใช้เอง
“โบราณเขาเอาต้นไม้จากป่าจากดงหลายๆประเภทมารวมเป็นยาขนานหนึ่งเพื่อใช้รักษาโรค คนโบราณเขารู้ว่า จะเอาส่วนไหนของพืชชนิดไหนมารักษาโรคอะไร อันนี้เอาราก อันนี้เอาแก่น อันนี้เอาดอก
อย่างจั่นหมากซึ่งดูคล้ายข้าวเปลือก เอามาทำยาแก้ลมชัก ลมตะคริว ลมบ้าหมู รักษาหายขาดได้ หรืออย่างยารักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองต้องใช้ส่วนผสม 200-300 ชนิด คือยาตำรับโบราณแต่ละตัวก็ไม่ใช่ทำมาจากสมุนไพรแค่ตัวเดียวเดี่ยวๆนะ มีส่วนผสมเยอะแยะมากมาย
การรักษาด้วยสมุนไพรนั้นเป็นยาสูตร มีทั้งยาหม้อ ยาผง ไม่ใช่ยาเดี่ยว การปรุงยาแต่ละตัวก็ต้องใช้สมุนไพรหลายชนิด ซึ่งบางชนิดเราหาไม่ได้ มันไม่มีขาย เราก็ต้องเสาะหามาปลูกเอง เราจะได้รักษาคนป่วยได้
ผมก็เลยต้องหาที่ทำสวนสมุนไพร เดิมผมเป็นคนจังหวัดปทุมธานี ก็ไปได้ที่ที่กาญจนบุรี เลยย้ายไปอยู่ที่กาญจน์ฯ ก็ปลูกบ้านและสร้างสวนสมุนไพรที่นั่น
ในสวนเราจะมีสมุนไพรกว่า 100 ชนิด บางชนิดไม่มีขายในท้องตลาด เช่น หำรอด คองแมว ซึ่ง 2 อย่างนี้ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ
สมุนไพรที่ผมใช้เป็นสมุนไพรที่มีมาตรฐาน มีทั้งสูตรที่รักษาโรคเอดส์ มะเร็ง หัวใจ โรคนิ่ว การรักษาของเราเป็นการรักษาด้วยยาโดยไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่กินให้ร่างกายสร้างภูมิให้แข็งแรง แต่ที่นี่ก็ยังมีสมุนไพรไม่ครบนะ ผมก็ยังเสาะหาอีกหลายๆตัวอยู่”
แม้ชื่อเสียงของหมอเณรจะได้รับการยอมรับว่า เป็นหมอสมุนไพรมือหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้ป่วยจากทั่วทุกสารทิศแห่แหนกันมารับการรักษาอยู่ไม่ขาดสาย
แต่อุปสรรคใหญ่ที่หมอเณรต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือความยากลำบากในการขอรับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.) ตามหลักการแพทย์สมัยใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน
ปัญหาที่ดำเนินมายืดเยื้อยาวนานดังกล่าว ทำให้หมอเณรถึงกับถอดใจประกาศขายสวนสมุนไพร และยังไม่แน่ว่าหากขายที่ดินได้เขาจะยังคงยึดอาชีพหมอสมุนไพรต่อไปหรือไม่
“คือเราทำมาขนาดนี้ นอกจากรัฐจะไม่ให้การสนับสนุนแล้ว ยังใช้กลไกกฎหมายมาเล่นงานเรา บอกว่าหมอพื้นบ้านผิดกฎหมาย แต่จะเอาตำราจากเรา มันก็เหนื่อย มันก็ท้อ สู้ไม่ไหว ก็คงต้องปล่อยให้มันเป็นไป” หมอเณรกล่าวตบท้ายด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151 กรกฎาคม 2556 โดย กฤตสอร)