ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ มช. เตือนภัย “เห็ดไข่ห่านขาว” หลัง 4 พระธุดงค์เก็บมาฉันจนล้มป่วยหนัก ล่าสุด 3 รูปอาการทรงตัว ส่วนอีก 1 ยังโคม่า แพทย์ระบุมีทั้งชนิดที่มีพิษ และไม่มีพิษ อันตรายถึงระดับเลือดออก-ตับไตวายตายได้ แนะงดกิน ชี้วิธีทดสอบแบบชาวบ้านก็พิสูจน์ไม่ได้
วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าวกรณีพระธุดงค์ 4 รูป ฉันเห็ดไข่ห่านพิษแล้วเกิดอาการล้มป่วย เข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในขณะนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับตัวพระภิกษุพรศักดิ์ วนมา พระภิกษุสุวิทย์ คนยั่ง พระภิกษุกรกฤษฎิ์ ศรีโพธิ์ลา และพระภิกษุเชิดชัย สิมมาวงค์ เข้ารับการรักษา โดยพระภิกษุทั้ง 4 รูป ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลอมก๋อย หลังจากล้มป่วยเนื่องจากฉันเห็ดไข่ห่านที่มีพิษ
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากพระภิกษุทั้ง 4 รูป ได้เก็บเห็ดไข่ห่านมาฉัน ระหว่างธุดงค์อยู่ในป่าเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน หลังจากนั้น ได้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนปวดท้อง ถ่ายเหลว มีน้ำมูกปน จึงได้เดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาลอมก๋อย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลอมก๋อย พระทั้ง 4 รูป มีอาการปวดท้อง ไม่สามารถฉันอาหารได้ โรงพยาบาลอมก๋อยจึงตัดสินใจส่งตัวพระทั้ง 4 รูป มารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาต สุคนธสรรพ์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการตรวจวินิจฉัยพบว่าสาเหตุที่พระภิกษุทั้ง 4 รูปล้มป่วย มาจากการรับประทานเห็ดไข่ห่านที่มีพิษเข้าไป ส่งผลให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง และลุกลามจนทำให้เกิดอาการตับวาย ซึ่งในขณะนี้มี 1 รูป ที่อาการยังน่าเป็นห่วง ส่วนอีก 3 รูปแม้อาการจะดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในการดูแลของคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด
ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า การบริโภคเห็ดไข่ห่านนั้น บางครั้งอาจเกิดกรณีเก็บเห็ดที่มีพิษมาบริโภคขึ้นได้ หากผู้ป่วยบริโภคเห็ดไข่ห่านที่มีพิษเข้าไป จะส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และมีอาการท้องเดิน หลังจากนั้นอาการจะลุกลาม โดยอาจก่อให้เกิดอาการตับ และไตวาย รวมทั้งมีเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการักษาอย่างทันท่วงที
ด้านนายแพทย์รังสฤษฏ์ กาญจนวณิช จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เห็ดไข่ห่าน หรือเห็ดระโงกเป็นเห็ดในตระกูล Amanita และบางชนิดสามารถรับประทานได้ ซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชน อย่างไรก็ตาม เห็ดในตระกูลนี้บางสายพันธุ์มีพิษ Amanitoxin ที่มีความรุนแรง ไม่สามารถนำมาบริโภคได้ แต่มักมีประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเห็ดที่รับประทานได้ และเก็บมาบริโภค จนทำให้เจ็บป่วย และเสียชีวิตเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
นายแพทย์รังสฤษฏ์ กล่าวว่า การสังเกต และแยกระหว่างเห็ดไข่ห่านที่มีพิษกับไม่มีพิษนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะเห็ดไข่ห่านขาว หรือเห็ดระโงกขาว ซึ่งสายพันธุ์ที่มีพิษกับไม่มีพิษนั้น หากไม่พิจารณาโดยละเอียดแทบจะไม่เห็นความแตกต่าง อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่สังเกตได้ คือ เห็ดสายพันธุ์ที่รับประทานได้จะมีลายขีดบนหมวกเห็ด ส่วนสายพันธุ์ที่กินไม่ได้ จะไม่มีลายขีดดังกล่าว และขอบไม่เรียบ
อย่างไรก็ตาม การแยกประเภทของเห็ดไข่ห่านสีขาวรนั้นทำได้ยากมาก เมื่อประกอบกับตัวเลขผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดไข่ห่านที่มีพิษซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จึงเห็นว่าควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนงดเว้นการรับประทานเห็ดไข่ห่าน หรือเห็ดระโงกที่มีสีขาวทุกชนิดเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคมของทุกปี
ทั้งนี้ นายแพทย์รังสฤษฏ์ ระบุด้วยว่า พิษของเห็ดไข่ห่านนั้นไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้น แม้จะปรุงให้สุกพิษก็จะไม่หายไป อีกทั้งวิธีการทดสอบตามภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ใส่ข้าวลงไปต้มพร้อมกับเห็ด เพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนหรือไม่นั้น ได้เคยมีการพิสูจน์มาแล้ว และพบว่าไม่สามารถระบุได้เลยว่าเห็ดไข่ห่านนั้นเป็นชนิดที่รับประทานได้ หรือรับประทานไม่ได้