.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไข้เลือดออกระบาดหนักในลาว มีผู้เสียชีวิตแล้ว 31 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมดเกือบ 8,000 คน นพ.บุนหลาย พมมะสัก อธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่อ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ เนื่องในโอกาส “วันโรคไข้เลือดออกอาเซียน 2013” สำนักข่าวของทางการรายงาน
เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกประจำลาวเชื่อว่า จำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตอาจจะสูงขึ้นกว่านี้ขณะย่างเข้าฤดูฝนซึ่งการแพร่ระบาดจะรุนแรงที่สุด สถานการณ์ในลาวอาจจะเลวร้ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
โรคที่มียุงลายเป็นพาหะนี้ ฆ่าคนไปปีละ 20,000 คนทั่วโลก ทุกปีจะมีผู้ป่วยระหว่าง 5 แสน ถึง 1 ล้านราย ในนั้น 75% อยู่ในย่านเอเชียแปซิฟิก โดยกลุ่มประเทศอาเซียนมีประวัติเรื่องนี้ร้ายแรงที่สุด
รัฐมนตรีสาธารณสุขของกลุ่มที่ประชุมกันเมื่อปี 2553 ได้ตกลงให้วันที่ 15 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน นพ.หลิวหยุนกว๋อ แห่งองค์การอนามัยโลกประจำลาวกล่าว
จนถึงวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวนผู้เสียชีวิตในลาวเพิ่มขึ้นเป็น 31 คน จาก 26 คน เมื่อเดือนที่แล้ว และผู้ป่วยมีจำนวนทั้งสิ้น 7,920 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2553 ถึง 8 เท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
“ลาวอาจจะต้องพบกับการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ สถานการณ์อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าที่เคยเจอเมื่อปี 2553..”
“ถ้าหากไม่มีปฏิบัติการที่สัมฤทธิผล ก็จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมรุนแรงติดตามมา รวมทั้งจำนวนผู้ที่เสียชีวิตที่สูงขึ้น โรงพยาบาลที่คนไข้เบียดเสียดแออัด หรือตามสถานีอนามัยต่างๆ ในระดับท้องถิ่น รวมทั้งจะมีคนงานจำนวนมากที่ต้องหยุดงานเพราะล้มป่วย” นายแพทย์หยุนกว๋อกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของลาวอาจจะได้รับผลกระทบด้วย นักท่องเที่ยวจะหยุดเดินทางเข้าประเทศเมื่อมีเกิดโรคระบาด ซึ่งรัฐบาลลาวควรรีบดำเนินมาตรการจำเป็นต่างๆ เพื่อรับสถานการณ์ ในระดับท้องถิ่นควรจะมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และส่วนกลางต้องเตรียมความพร้อมตอบสนองอย่างทั่วถึง เจ้าหน้าที่อนามัยโลกกล่าว
ตามรายงานอีกชิ้นหนึงของสำนักข่าวทางการ แขวงจำปาสัก มีการแพร่ระบาดรุนแรงที่สุด ระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยกว่า 1,000 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 12 ราย.