xs
xsm
sm
md
lg

สคร. 7 เตือนภัยยุงลาย ทั้งประเทศป่วยแล้วกว่าหมื่น ตาย 14 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7จังหวัดอุบลราชธานี
อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ระบุโรคไข้เลือดออกปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี เพราะภาวะภัยแล้งทำให้มีการกักตุนน้ำ จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เผย 3 เดือนแรกทั่วประเทศป่วยแล้ว 1.1 หมื่นคน ตาย 14 ราย

วันนี้ (21 เม.ย.) นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยกให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคเขตร้อนที่แผ่ขยายออกไปเร็วที่สุดของโลก แต่ละปีมีผู้ป่วยสูงถึง 300 ล้านคน มากกว่าที่องค์การอนามัยโลกคาดไว้ถึง 3 เท่า สาเหตุอาจเป็นเพราะคนคนหนึ่งป่วยได้หลายครั้ง โดยครั้งแรกอาจป่วยอย่างอ่อน แต่ภายหลังป่วยหนักกว่าเก่า และเมื่อโดนยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคกัดเข้า จึงเป็นตัวแพร่เชื้อโรคต่อกันไป

ทำให้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ตั้งเป้า “สร้างชุมชนต้นแบบปลอดลูกน้ำยุงลาย” ทั่วประเทศ โดยแต่ละตำบลจะมี 1 หมู่บ้าน เน้นกิจกรรม 5 ป. คือ เปลี่ยนปิด ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติเป็นประจำ และ 1 ข. คือ ขัดไข่ยุงลาย เพราะสำนักระบาดวิทยาประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดในไทยปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว จากสถิติผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 5 มีนาคม พบผู้ป่วยแล้ว 11,565 ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 1,000 ราย และเสียชีวิตแล้ว 14 ราย

ปัจจัยที่สนับสนุนการระบาดของโรค คือ ฝนที่ตกเป็นช่วงๆ ถือเป็นการเติมน้ำในภาชนะที่อาจมีไข่ยุงลายสะสมอยู่ ประกอบกับภาวะภัยแล้ง ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมกักเก็บน้ำจำนวนมาก ทำให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคไข้เลือดออก ประชาชนต้องกำจัดลูกน้ำทุกสัปดาห์เพื่อตัดวงจร คือ เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ปล่อยปลาหางนกยูงกินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ในบ้าน โรงเรียน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง ลมพัดผ่าน ขัดไข่ยุงลายตามภาชนะ โดยใช้ใยขัดล้าง หรือแปรงนุ่มๆ ขัดล้าง และทิ้งน้ำที่ขัดล้างบนพื้นดินเพื่อให้ไข่แห้งตาย อย่าทิ้งลงท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจเป็นแหล่งให้ไข่เจริญเติบโตเป็นลูกน้ำ และยุงลายได้

กำลังโหลดความคิดเห็น