สุราษฎร์ธานี - สถานการณ์ไข้เลือดออกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีระบาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีผู้ป่วยแล้ว 1,160 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต สาธารณสุขจังหวัดพร้อมอำเภอวิภาวดีเร่งรณรงค์ให้ชาวบ้านตื่นตัวกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายให้หมดไปจากพื้นที่
วันนี้ (26 เม.ย.) นายบรรเจิด สาริพัฒน์ นายอำเภอวิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอวิภาวดี ออกทำการพ่นหมอกควัน พร้อมทั้งออกเดินรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในตลาดอำเภอวิภาวดี หวังให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวกับสถานการณ์ไข้เลือดออกที่กำลังระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 19 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สถิติผู้ป่วยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ 1 มกราคมถึง 24 เมษายน 2556 มีผู้ป่วยแล้ว จำนวน 1,160 ราย รายล่าสุดเป็นชายอายุ 19 ปี ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลตระกุ๊กเหนือ อำเภอวิภาวดี แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
นายบรรเจิด กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอวิภาวดีพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว จำนวน 4 ราย เฝ้าระวัง 9 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น จึงเร่งออกรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ 31 ชุมชน ให้มีการตื่นตัวกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออกสู่คน
โดยเน้นการใช้มาตรการ 5 ป. ปราบยุงลาย ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ประกอบด้วย 1.ปิด ปิดภาชนะน้ำกินให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ 2.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน และถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุงลาย 3.ปล่อย ปล่อยปลาหางนกยูง หรือปลากินลูกน้ำ 4.ปรับ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้โปร่งใส โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 5.ปฏิบัติ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย และอีก 1.ข ขัด ได้แก่ การขัดภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำเพื่อทำลายไข่ยุงลายที่เกาะติดกับภาชนะน้ำขังต่างๆ ให้หมดไปอย่างถาวร