xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : ปวดบวมตามข้อฉับพลัน นั่นแหละ “เกาต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคเกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสะสมของผลึกกรดยูริกภายในข้อ ซึ่งเป็นผลจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานาน

โรคเกาต์เป็นโรคเรื้อรังที่มักเกิดในเพศชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และอาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อที่มักพบการอักเสบจากโรคเกาต์ได้บ่อย เช่น ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ เป็นต้น

• กรดยูริกคืออะไร

กรดยูริก เกิดจากสารพิวรีน ที่มีอยู่ในอาหารหลายชนิดกรดยูริกในร่างกายได้จาก 2 ทางคือ

1. จากอาหารที่รับประทาน ประมาณร้อยละ 20 ได้จากอาหารที่รับประทาน ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะถูกย่อยสลายจนเกิดเป็นยูริก

2. จากร่างกายสร้างขึ้นเอง ประมาณร้อยละ 80 ได้จากการสลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกาย แล้วถูกเปลี่ยนให้เป็นกรดยูริก เช่นกล้ามเนื้อทำงานมากขึ้นหรือภาวะอดอาหาร

โดยปกติร่างกายจะมีระดับกรดยูริกในเลือดไม่สูงกว่า 7 มิลลิกรัม ในเลือด 100 มิลลิลิตร เนื่องจากมีระบบควบคุมการสร้างและการกำจัดกรดยูริกอย่างสมดุล โดยปกติกรดยูริกจะถูกขับออกทางไต 2 ใน 3 ของที่ร่างกายสร้างขึ้น อีกส่วนหนึ่งจะขับออกทางลำไส้ใหญ่ ทางน้ำลาย น้ำย่อย และน้ำดี ซึ่งจะถูกทำลายโดยแบคทีเรียในลำไส้

• ภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร

สาเหตุของภาวะกรดยูริกสูงในเลือดนั้นมักไม่ทราบแน่ชัด โดยทั่วไปมีปัจจัยมาจาก

1. ร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถควบคุมการสร้างกรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ หรือบริโภคอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไป

2. ร่างกายขับกรดยูริกออกได้ไม่ดีหรือน้อยลงจากโรคไตพิการ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาวัณโรคบางชนิด เป็นต้น

• อาการของโรคเกาต์

1. ข้ออักเสบฉับพลัน มีข้อบวมแดงและร้อน บางรายอาจมีไข้ ระยะแรกอาการข้ออักเสบจะเป็นๆหายๆ ถ้าไม่รับการรักษาต่อเนื่องข้ออักเสบจะกำเริบบ่อยๆ เป็นนานขึ้น และเป็นหลายข้อพร้อมกันได้

2. ผู้ที่เป็นโรคเกาต์นานและไม่รับการรักษาให้ถูกต้อง จะมีการตกผลึกกรดยูริกเพิ่มมากขึ้นตามข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เห็นปุ่มก้อนใต้ผิวหนัง บริเวณที่พบได้บ่อย เช่น หลังเท้าและนิ้วเท้า ตาตุ่ม ข้อศอก นิ้วมือ ใบหู เป็นต้น ซึ่งลักษณะอาการนี้มักพบในผู้ที่เป็นโรคเกาต์มานาน และมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงมาก

3. อาการของโรคไต จากการเป็นโรคเกาต์มานาน อาจเกิดการสะสมของผลึกกรดยูริกจนเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อของไต ก่อให้เกิดภาวะไตอักเสบเรื้อรัง และภาวะไตวายได้

• การรักษา

ปัจจุบันการรักษาโรคเกาต์ได้ผลดี จุดมุ่งหมายของการรักษา คือ ควบคุมระดับของกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ มีดังนี้

1. การรักษาอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน เพื่อลดการอักเสบ และอาการปวดบวมของข้อและป้องกันการอักเสบกำเริบของข้อ

2. ควบคุมหรือลดระดับกรดยูริกในเลือด ให้อยู่ระดับปกติ ซึ่งอาจเป็นยายับยั้งการสร้างกรดยูริกของร่างกายหรือยาที่ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย

การรักษาอย่างต่อเนื่องและรับประทานยาตามแพทย์กำหนด เพื่อป้องกันการเกิดข้ออักเสบซ้ำอีก และภาวะแทรกซ้อนจากการตกผลึกของกรดยูริกในอวัยวะต่างๆ หรือไม่ให้เกิดความพิการของข้อได้

• ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์

เมื่อมีอาการปวดบวมตามข้อโดยฉับพลัน หรือปวดข้อหนึ่งข้อใดเป็นๆหายๆ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวดน้ำไขข้อหาผลึกกรดยูริก ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเข็มเรียวยาวอยู่ในเม็ดเลือดขาว

ถ้าตรวจพบจะเป็นการวินิจฉัยโรคเกาต์ที่แน่นอน ส่วนผู้มีระดับกรดยูริกสูงอย่างเดียวแต่ไม่เคยมีอาการข้ออักเสบเลย จะยังไม่ถือว่าเป็นโรคเกาต์

• เมื่อเป็นโรคเกาต์ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

1. ที่สำคัญสุดคือ การรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งโรคเกาต์และโรคประจำตัวอื่นๆ ให้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์

ผู้ป่วยโรคเกาต์มักมีโรคอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคทางระบบประสาท โรคเบาหวาน เป็นต้น

2. หยุดพักการใช้ข้อระยะที่มีการอักเสบ หลีกเลี่ยงการบีบนวด ซึ่งจะทำให้ข้ออักเสบเพิ่มมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อน และความเย็นประคบบริเวณข้อในขณะที่มีการอักเสบ

3. รับประทานอาหารโปรตีนในปริมาณที่พอเหมาะ โดยเฉพาะในขณะที่ข้อมีการอักเสบ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูงหรืออาหารแสลงที่กระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาซาดีน น้ำซุปจากเนื้อกระดูกสัตว์ เป็นต้น

และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น เบียร์ สุรา ไวน์ บรั่นดี เป็นต้น เนื่องจากทำให้การขับกรดยูริกออกจากร่างกายลดลง

4. ดื่มน้ำมากๆ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อเร่งขับกรดยูริกทางไต และป้องกันการตกผลึกตกค้างในไต

5. หลีกเลี่ยงอากาศเย็น โรคเกาต์มักมีอาการกำเริบเวลาอากาศเย็น และเวลากลางคืน

6. ลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อ้วน เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อและป้องกันไม่ให้ข้ออักเสบ

7. เมื่อมีอาการหรือสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ก้อนหรือปุ่ม ปวดเอวหรือปวดท้อง ปัสสาวะเป็นเลือด ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนนัด

8. ดำเนินชีวิตอย่าให้เคร่งเครียดมากนัก

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย หน่วยสุขศึกษา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)


กำลังโหลดความคิดเห็น