xs
xsm
sm
md
lg

"เขย่าหมี" ถี่ๆ หนักๆ ระวังข้อมือเดี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นกระแสฮอตที่ยังคงฮิตอยู่ สำหรับการลุกขึ้นมา "เขย่าหมี (โคอะล่ามาร์ช)" ให้เป็นช็อกบอลจนลุกลามบานปลายกลายเป็นปรากฏการณ์ "เขย่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง" เพราะหลาย ๆ คนอยากรู้ว่าถ้าเขย่าประมาณ 5,000 ครั้งแล้วจะได้ช็อกบอลอย่างที่เขาว่ากันจริงหรือไม่

แน่นอนว่า มีหลายคนทำได้ แต่สำหรับการลุกขึ้นมา "เขย่าหมี" เป็นสิ่งที่ต้องระวังด้วยเช่นกัน เพราะตามหลักของการเขย่าแล้ว จำเป็นต้องใช้ข้อมือและแขนช่วย หากออกแรงถี่และหนักเกินไป อาจทำให้ข้อมือเดี้ยงได้

ด้วยความห่วงใยสำหรับคนที่ชื่นชอบ "เขย่าหมี" ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก นพ.ไทยินทร์ ศรีมงคล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี มาฝากให้พิจารณาเป็นความรู้กัน

เมื่อพูดถึงสาเหตุของการปวดข้อมือ ส่วนหนึ่งเกิดจากเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ 2 เส้น ซึ่งอยู่คู่กันบริเวณข้อมือ คือ Abductor Pollicis Longus (APL) ทำหน้าที่ในการกางนิ้วหัวแม่มือออกจากฝ่ามือ และ Extensor Pollicis Brevis (EPB) ทำหน้าที่เหยียดกระดูกนิ้วมือท่อนต้นของนิ้วหัวแม่มือ โดยภายในปลอกหุ้มเอ็นจะมีเยื่อหุ้มเอ็นที่เรียกว่า Tenosynovium อาการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณ Tenosynovium นี้ จะทำให้เกิดการตีบ หรือหดตัวในการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายใน

เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของมือ และนิ้วโป้งบ่อยครั้ง เช่น การจับ บีบ คั้น หรือเขย่าเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดอาการอักเสบ และบวมได้ ทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นไม่ลื่นไหลตามปกติ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น และการใช้งาน นอกจากนั้น โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ ก็เป็นสาเหตุการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็น ส่วนพังผืดที่เกิดจากการผ่าตัด มีผลทำให้การเคลื่อนไหวของเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นเป็นไปอย่างลำบาก

เบื้องต้นจะมีอาการช้ำระบมบริเวณนิ้วโป้งด้านปลายแขนใกล้กับข้อมือ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้น และขยายไปยังบริเวณปลายแขนช่วงข้อมือและนิ้วโป้ง เส้นเอ็นทั้ง 2 เส้นจะเกิดการเสียดสีขณะที่เคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเอ็น หากมีอาการรุนแรงมากจะเกิดการบวมบริเวณปลอกหุ้มเอ็นใกล้ๆ กับข้อมือ และทำให้การหยิบจับด้วยนิ้วโป้ง และมือมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น

ทางที่ดี หากมีอาการเจ็บปวดตามข้างต้น ควรจะหยุดหรือเปลี่ยนแปลงการทำกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว และควรหยุดพักการใช้งานเมื่อใช้งานบริเวณมือ และนิ้วโป้งซ้ำๆ บ่อยๆ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของมือ เช่น การหยิบของหนัก การเขียน หรือการบิดหมุนข้อมือ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใส่เฝือกอ่อนบริเวณแขน และนิ้วโป้ง เพื่อให้ข้อมือ และกระดูกข้อต่อบริเวณใต้นิ้วโป้งอยู่กับที่ ลดการใช้งานของเส้นเอ็น และให้แต่ละส่วนได้รับการรักษา นอกจากนั้น การรับประทานยาแก้อักเสบจะช่วยลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็น และบรรเทาอาการเจ็บปวดได้

ทั้งนี้ ถ้าใช้วิธีการรักษาข้างต้นแล้วไม่เห็นผล แพทย์จะแนะนำให้ฉีดยาคอทิโซนที่ปลอกหุ้มเอ็นที่มีอาการบวม ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ชั่วคราว และควบคุมการอักเสบในขั้นต้นของอาการได้ ส่วนอีกทางเลือกคือ การผ่าตัด เพื่อเพิ่มพื้นที่ไม่ให้เอ็นเสียดสีกันภายในปลอกหุ้มเอ็น

หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ ทางที่ดีควรมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และดูแลรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ยิ่งตอนนี้กระแส "เขย่าหมี" กำลังฮิต ยิ่งต้องระวัง เพราะมือคืออวัยวะที่คุณยังต้องพึ่งพาใช้งานไปอีกนาน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น