xs
xsm
sm
md
lg

อีก 10 ปีไทยขาดหมอเฉพาะทาง-อายุรแพทย์สูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วิจัยชี้ชัด 10 ปีข้างหน้า ไทยจะขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางเกือบทุกสาขา คาดอายุรแพทย์ขาดมากสุดถึง 4 พันคน ศัลยแพทย์ 1.8 พันคน แนะเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นด่านหน้าคัดกรองโรค แก้ปัญหาผู้ป่วยดิ่งหาแพทย์เฉพาะทางจนภาระงานล้นมือ ที่ประชุม คกก.กำลังคนฯเตรียมส่งผลการศึกษาเสนอ สธ. สปสช.แพทยสภา แก้ปัญหา

ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอ “ผลการวิจัยเพื่อคาดการณ์กำลังคนด้านสุขภาพกรณีความต้องการแพทย์เฉพาะทางของการให้บริการสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในประเทศไทย” ในการประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2556 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี พ.ศ.2562 แพทย์เฉพาะทางจะขาดแคลนไม่เพียงพอในเกือบทุกสาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ คาดว่าขาดแคลน 4,044 คน ศัลยแพทย์ ขาดแคลน 1,855 คน วิสัญญีแพทย์ ขาดแคลน 1,348 คน และประสาทศัลยแพทย์ ขาดแคลน 340 คน ที่สำคัญคือ ต้องเพิ่มจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งจะมีบทบาทในการคัดกรองโรคของผู้ป่วยก่อนส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากพบปัญหาผู้ป่วยส่วนใหญ่เรียกร้องพบแพทย์เฉพาะทางทันที ทั้งที่บางกรณีไม่ได้ป่วยรุนแรงหรือเร่งด่วน กลายเป็นภาระของแพทย์เฉพาะทางโดยไม่จำเป็น

“การเพิ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ยังขาดแคลน 5,600 คน จะช่วยเสริมศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ลดภาระงานของสถานพยาบาลระดับตติยภูมิได้มากขึ้นด้วย” ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯพิจารณาเห็นว่า รัฐต้องกล้าปรับระบบบริการสุขภาพให้ผู้ป่วยทุกคนต้องผ่านการรักษาและคัดกรองจากแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวก่อน จึงจะส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางที่เหมาะสมและจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่ระบบปัจจุบันที่ใครอยากไปหาแพทย์เฉพาะทางก็ตรงเข้าไปขอรับบริการได้ ระบบบริการสุขภาพที่มีแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวเป็นด่านหน้า คือการสร้างระบบ “หมอประจำครอบครัว” นี้สอดคล้องกับเป้าหมายระบบสุขภาพของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 จะเป็นการสร้างคุณค่าและดึงดูดให้เรียนแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวมากขึ้นได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการได้มีมติให้ส่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อสนับสนุนการเพิ่มแพทย์เฉพาะทางที่จำเป็นและจะขาดแคลนในอนาคต ได้แก่ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ และเวชปฏิบัติครอบครัวไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทยสภา ราชวิทยาลัยแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อร่วมกันวางแนวทางในการผลิตและสร้างแรงจูงใจให้มีการศึกษาแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าว ประกอบด้วย ข้อเสนอต่อ สธ.ในการเพิ่มจำนวนทุนแพทย์เฉพาะทาง การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการผลิต รวมถึงการทบทวนและเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษแก่แพทย์เฉพาะทางที่ขาดแคลนบางสาขาเพื่อเพิ่มแรงจูงใจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น