xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ออกไกด์ไลน์ตรวจสุขภาพเด็กในครรภ์-เข้าเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์เตรียมออกไกด์ไลน์ตรวจสุขภาพเด็ก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ยันเข้าเรียนให้หมอเด็กและหมอสูติฯ แนะอย่าตรวจเพียงน้ำหนัก ส่วนสูง หรือการให้วัคซีน ควรสำรวจพฤติกรรมแม่และเด็กด้วย เผยโรงเรียนแพทย์เริ่มใช้แล้ว

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีน้ำหนักเกินถึงร้อยละ 19 ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของแม่และเด็ก อย่างแม่เมื่อตั้งครรภ์ก็จะมีการบำรุงร่างกายมาก เด็กก็จะมีน้ำหนักตัวมากตั้งแต่อยู่ในท้อง ส่งผลให้การคลอดตามธรรมชาติไม่ง่ายเหมือนปกติ เนื่องจากเด็กตัวใหญ่ทำให้ไหล่ติด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในภายหลังได้ นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองยังมีความเชื่อที่ว่า หากลูกรับประทานอาหารได้มากจะยิ่งเป็นประโยชน์ ทำให้เด็กเกิดภาวะน้ำหนักเกิน

"ที่สำคัญเด็กยังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป คือรับประทานมากขึ้น รวมไปถึงรับประทานของจุกจิกระหว่างดูโทรทัศน์ เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต จนไม่มีการออกกำลังกาย ก็ทำให้ร่างกายมีภาวะน้ำหนักเกิน และสุขภาพไม่แข็งแรง เมื่อเวลามาตรวจสุขภาพหรือตรวจร่างกาย แพทย์ส่วนใหญ่ก็มักจะตรวจแค่น้ำหนัก ส่วนสูง และการให้วัคซีน ซึ่งไม่สามารถเช็กความผิดปกติหรือแนวโน้มการป่วยของเด็กได้เท่าที่ควร" ปธ.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯกำลังจัดทำแนวทางปฏิบัติการตรวจสุขภาพเด็กสำหรับกุมารแพทย์และสูตินรีแพทย์ เพื่อให้มีความตระหนักมากขึ้น ไม่มองว่าเป็นความรับผิดชอบของประชาชนเพียงอย่างเดียวในการดูแลสุขภาพ แต่แพทย์ทั้งสองสาขาจะต้องแนะนำเพื่อให้แม่และเด็กมีสุขภาพที่ดีด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติทั้งหมดได้ เนื่องจากยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่คร่าวๆคือ จะต้องให้แนะนำการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่หญิงตั้งครรภ์ ทั้งเรื่องอาหารการกินระหว่างตั้งครรภ์ จนกระทั่งหลังคลอด รวมไปถึงการเลี้ยงดูบุตรให้มีสุขภาพดี

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่การตรวจของแพทย์ก็ต้องเช็กสุขภาพของเด็กให้รอบด้าน ไม่มองแต่ส่วนสูง น้ำหนัก และรับวัคซีนพื้นฐานครบหรือไม่ แต่ต้องตรวจเด็กแบบทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นดัชนีมวลกาย พฤติกรรมของเด็ก เช่น มีพฤติกรรมการรับประทานอย่างไร แต่ละวันลูกดูโทรทัศน์กี่ชั่วโมง มีการตั้งโทรทัศน์ไว้ในห้องนอนลูกหรือไม่ ฯลฯ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เด็กจะมีแนวโน้มป่วยหรือไม่ โดยเฉพาะภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

"ผู้ใหญ่ชอบมองว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กที่น่ารัก จึงพยายามขุนให้ลูกรับประทานเยอะๆ ยิ่งกินได้มากแสดงว่ามีสุขภาพดี ซึ่งนานๆเข้าจะเป็นผลเสียต่อเด็ก ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติการตรวจเด็กออกมาอย่างเป็นทางการ ก็จะสามารถช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ในท้องแม่ได้ ซึ่งตรงนี้เริ่มมีการนำมาใช้ในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ แล้ว อย่างไรก็ตาม ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯจะทำแนวทางปฏิบัติออกมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานสำหรับทุกสถานพยาบาล" ปธ.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น