xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์-บขส.จับมือตรวจคัดกรองโชเฟอร์-พนง.เสี่ยงติดวัณโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.พ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเปิดงาน "กรมวิทย์ บขส.ห่วงใย โดยสารปลอดภัยห่างไกล วัณโรค" (Healthy บขส.) ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มผู้ให้บริการบนรถโดยสาร บขส.ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพื่อรณรงค์การหยุดยั้งวัณโรค การตัด การแพร่ติดต่อวัณโรค โดยตรวจค้นหาผู้ป่วยเป็นวัณโรค หรือผู้ติดเชื้อวัณโรค ซึ่งยังไม่แสดงอาการ (วัณโรคแฝง) ด้วยเทคนิคการตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด มีความจำเพาะสูงและรู้ผลเร็วภายใน 24 ชั่วโมง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานแรกที่ทำการศึกษาวิจัย และนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคในประเทศไทยด้วยระบบคุณภาพสากล ใช้ตรวจการติดเชื้อวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตรวจวินิจฉัยผู้สงสัยเป็นวัณโรค หรือผู้ป่วยวัณโรคที่เก็บเสมหะ ตรวจไม่ได้ ผู้ป่วยวัณโรคนอกปอด เป็นต้น ซึ่งตั้งเป้าหมายให้บริการในกลุ่มผู้ให้บริการบนรถโดยสาร บขส. ได้แก่ พนักงานขับรถ และพนักงานบริการบนรถ บขส.ที่สมัครใจจำนวน 2,000 คน พร้อมทั้งออกใบรับรองผลการตรวจโชเฟอร์ และพนักงานสุขภาพดี ปลอดวัณโรคไม่มีการติดเชื้อ
ทั้งนี้หากพบว่า มีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยวัณโรคจะส่งไปเข้ารับการรักษาตามสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละราย
น.พ.นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า วัณโรคเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศและของโลก องค์การอนามัยโลกรายงาน 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรค ความชุกของผู้ป่วยวัณโรคมีประมาณ 16-20 ล้านคน โดย 8-10 ล้านคน เป็น กลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ และในแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8.4 ล้านคน โดยร้อยละ 95 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตปีละประมาณ 1.9 ล้านคน สถานการณ์ในประเทศไทยปี 2554 ผู้ป่วยรายใหม่มีมากกว่า 90,000 ราย และประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมาก อันดับที่ 18 ของโลก (TB -high burden country) วิธีควบคุมวัณโรคที่ดีคือ การวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว รักษาวัณโรคด้วยยาที่ได้ ผลต่อเชื้อมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยา จะทำให้ผู้ป่วยพ้นระยะแพร่เชื้อ และหายจากวัณโรค ตัดการแพร่เชื้อไปยังคนปกติ หรือกลุ่มเสี่ยงต่างๆ นอกจากการค้นหาผู้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ร่วมกับการให้การรักษาที่ได้ผลรวดเร็ว การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการ ติดเชื้อวัณโรค การปฏิบัติตนในที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการตรวจการติดเชื้อระยะแรก จะช่วยให้การควบคุมป้องกันการแพร่ติดต่อเชื้อวัณโรคได้ผลมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น