xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พุทธสถานแห่งวงศ์พระประยุรญาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ พื้นที่กว่า 25 ไร่ ใกล้เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี เป็นที่ตั้งของพระอาราม นาม “ประยุรวงศาวาสวรวิหาร” พุทธสถานเก่าแก่อายุ 185 ปี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ได้อุทิศสวนกาแฟ เพื่อสร้างเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. 2371 และถวายเป็นพระอารามหลวง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 3 โดยพระองค์ได้พระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” อันมีความหมายว่า “พุทธสถานแห่งวงศ์พระประยุรญาติ” แต่ชาวบ้านขณะนั้นนิยมเรียกว่า “วัดรั้วเหล็ก” เหตุเพราะมีรั้วเหล็กที่ทำเป็นรูปอาวุธ คือ หอก ดาบ และขวาน สูงราว3 ศอกเศษ เป็นกำแพงวัดอยู่ตอนหน้าพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และเขามอ

สิ่งที่โดดเด่นเป็นสง่าคู่พระอารามแห่งนี้ ที่ริเริ่มสร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คือ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ สูง 60.525 เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร และนับเป็นพระเจดีย์ทรงลังกาที่สูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย

ในบริเวณพระเจดีย์มีชานเดินได้โดยรอบ มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างด้านใน 32 คูหา ด้านนอกอีก 54 คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์องค์เล็ก 18องค์เรียงรายรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่

พระบรมธาตุมหาเจดีย์ได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง โดยล่าสุด เมื่อพ.ศ. 2549 พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากในองค์พระเจดีย์ใหญ่ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ “พระประยูรภัณฑาคาร” เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงพระพุทธรูปและพระพิมพ์ที่ค้นพบดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่มุขด้านหน้าของพระบรมธาตุเจดีย์

ความพิเศษและน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของวัดประยุรวงศาวาส คือ เขามอ (มาจากคำว่า “ถมอ” ในภาษาเขมร แปลว่า ก้อนหิน) หรือภูเขาจำลองก่อด้วยศิลา ตั้งอยู่กลางสระน้ำ แวดล้อมไปด้วยแมกไม้อันร่มรื่น และพรรณไม้หายากนานาชนิด เป็นรมณียสถานอันสงบและรื่นรมย์ที่อยู่คู่พระอารามนี้มาแต่แรกเริ่ม และเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์ พระวิหารหลวงจำลอง และศาลาน้อยใหญ่

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องการสร้างเขามอให้เป็นรมณียสถานภายในพระอารามมาปฏิบัติ โดยได้แนวคิดรูปแบบมาจาก “หยดเทียนขี้ผึ้ง” จากน้ำตาเทียน ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดขณะประทับอยู่ในห้องสรง เมื่อน้ำตาเทียนหยดทับถมกันเป็นเวลานานหลายปี จึงก่อรูปขึ้นมีลักษณะเหมือนภูเขา

เมื่อได้รูปแบบแล้วจึงนำมาผสานกับคติความเชื่อการสร้างเขามอในราชอาณาจักรสยาม ที่ได้แนวคิดทางพุทธปรัชญาและปรัชญาตะวันออก ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติแฝงไปด้วยความหมายทางอภิปรัชญาและปรมัตถธรรม โดยเฉพาะคติความเชื่อของอินเดียโบราณเรื่อง “การจำลองจักรวาล” เป็นการจำลอง “เขาพระสุเมรุ” หรือ “สิเนรุราชบรมบรรพต” ศูนย์กลางจักรวาล ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และความสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง

เขามอ หรือที่ผู้คนทั่วไปเรียกว่า “ภูเขาเต่า” เพราะสระน้ำที่ล้อมรอบภูเขาจำลองเต็มไปด้วยเต่าและตะพาบน้ำเป็นจำนวนมาก มีความยาว 48 เมตร กว้าง 42 เมตร และสูง 30 เมตร มีบันไดขึ้นสู่ยอดเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งพระสถูปเจดีย์

เมื่อ พ.ศ. 2522 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน “เขามอ” ไว้ ในฐานะเป็นถาวรวัตถุสำคัญของชาติ ดังนั้น เมื่อทางวัดได้ดำเนินการบูรณปฎิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์เสร็จเรียบร้อย แต่ยังคงเหลือในส่วนของอุทยานเขามอ ที่มีความชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

วัดประยุรวงศาวาสจึงได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสงขรณ์เขามอ เพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งโบราณสถานที่สำคัญอันเป็นมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานทุกภาคส่วน เขามอจึงพลิกฟื้นกลับคืนสู่ความงามสง่าเป็นรมณียธรรมสถานอันสงบร่มรื่น

นอกจากนี้ ภายในบริเวณเขามอ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น พระมณฑปทรงโกธิก ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก คล้ายกับโบสถ์คริสต์ ตัวอาคารมีความโดดเด่นในเรื่องของเสาโกธิกด้านหน้า ซึ่งเป็นเสาโกธิกไม่ทึบตัน มีหลังคาเป็นโดมกระเบื้องสีเขียว ภายในพระมณฑปประดิษฐานรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริงของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์

แต่เมื่อ พ.ศ.2470 เจ้าจอมเลียมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นธิดาคนที่ 4 ของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)กับท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม โอสถานนท์) ได้ชักชวนญาติพี่น้องในตระกูลบุนนาค สร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์หุ้มรูปหล่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้เป็นคุณทวด แต่เนื่องจากพระพุทธรุปองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ สมัยอินเดียโบราณ ชาวบ้านจึงขนานนามพระพุทธปฏิมาองค์นี้ว่า “หลวงพ่อแขก”

สำหรับพระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง คือ “พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา” พระประธานในพระอุโบสถ ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ให้ช่างชาวสยามเป็นผู้หล่อองค์พระ และว่าจ้างชาวญี่ปุ่นลงรักปิดทองตามกรรมวิธีของชาวอาทิตย์อุทัย จนเป็นที่เลื่องลือว่า ฝีมือการปิดทองพระพุทธรูปองค์นี้งดงามยากจะหาที่ติ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 149 พฤษภาคม 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น